ยิ่งลักษณ์ ชวนย้อนดูประโยชน์ จากนโยบาย ‘แจกแท็บเล็ต’ ก่อนถูก คสช. สั่งยกเลิก แนะรัฐบาลใจกว้าง นำเข้ามาใช้ และลงทุนให้ทุกโรงเรียนมีให้ใช้

วันนี้ (4 ก.ค.) ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีการเรียนออนไลน์ โดยยกนโยบายของ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่เคยทำไว้เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วนั่นคือ “นโยบายแท็บเล็ตพีซี” โดระบุว่า “ช่วงสถานการณ์ โควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางทั่วโลกรวมถึงในบ้านเรา การปรับตัวเพื่อเรียนออนไลน์จึงมีความจำเป็นเพื่อเน้นความปลอดภัยจากการติดเชื้อและให้การเรียนการสอนของนักเรียนดำเนินไปได้โดยไม่ติดขัด

แท็บเล็ตพีซี จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีในการเรียนรู้เท่านั้น แต่ยังเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญในการเรียนการสอนในปัจจุบัน โดยพัฒนาให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง รู้จักแสวงหาความรู้ และแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง พร้อมกับปรับบทบาทครูเป็นผู้อำนวยการสอนเท่านั้น ดิฉันจึงหวังว่ารัฐบาลจะใจกว้างนำนโยบายแท็บเล็ตพีซีและการเรียนออนไลน์เข้ามาใช้ในสถานศึกษาอย่างจริงจังและลงทุนให้ทุกโรงเรียนของรัฐมีอุปกรณ์การเรียนการสอนทั้งครูผู้สอนและนักเรียนค่ะ”

ทั้งนี้แฟนเพจ THINK คิด เพื่อ ไทย ได้ขยายความนโยบายดังกล่าวเพิ่มเติม โดยมีรายละเอียดดังนี้ การเรียนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์แถลงนโยบายเอาไว้เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว!

ในวันที่ 24 สิงหาคม 2554 นายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา และมีการกล่าวถึงนโยบายที่จะสร้างพื้นฐานในการเรียนออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่โรงเรียน และการจัดทําระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายตามมาตรฐานการให้บริการในสถานศึกษาที่กําหนดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ภายใต้โครงการ “1 คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตต่อ 1 นักเรียน (One Tablet PC per Child)” และการจัดทำ “ไซเบอร์โฮม” ที่จะส่งความรู้มายังผู้เรียนโดยระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่บ้าน และการจัดตั้งระบบการเรียนแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ เพื่อเร่งยกระดับคุณภาพและการกระจาย โอกาสทางการศึกษาให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ มีการขยายระบบโทรทัศน์เพื่อการศึกษาให้กว้างขวาง และปรับปรุงห้องเรียนนําร่องให้ได้มาตรฐานห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2555 นโยบาย 1 คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตต่อ 1 นักเรียน ก็ได้ถูกทำให้เกิดขึ้นจริง โดยมีการจัดสรรคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในโครงการนำร่อง และในวันที่ 7 มิถุนายน 2555 ในวันพิธีเปิดงานโครงการ “One Tablet PC Per Child” ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการเอาไว้ว่า

“…โครงการนี้ไม่ใช้เป็นโครงการที่แจกแท็บเล็ต แต่เป็นโครงการเติมเต็มภูมิปัญญา ภูมิความรู้ให้กับเด็กและเยาวชนลูกหลานของเรา ให้มีพัฒนาการนอกเหนือจากการเรียน เพราะเชื่อว่าความรู้มีมากมายรอบตัวเรา อยู่ที่ว่าเราจะไขว่คว้าได้แค่ไหน ดังนั้น โครงการแท็บเล็ตพีซี นี้จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ มุ่งที่จะพัฒนาเนื้อหาของหลักสูตรการศึกษาเพื่อพัฒนาการเจริญเติบโตทางสมองและพัฒนาการของเด็ก เยาวชน ให้มีความรู้รอบตัวในทุกๆ ด้าน จึงได้มีแท็บเล็ตพีซีนี้ขึ้นมาอย่างไร้ขีดจำกัด และจะเป็นรู้แบบใหม่ที่เกิดขึ้นและเติบโตในอนาคต…”

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวก็ดำเนินไปได้เพียงแค่ประมาณ 2 ปีก็ต้องเป็นอันยกเลิกไปภายหลังการขึ้นมาสู่อำนาจอันไม่ชอบธรรมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาโดยในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557 หลังการรัฐประหาร ที่ประชุมเพื่อพิจารณาโครงการ 1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียน ที่มี พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กำกับดูแลฝ่ายสังคมจิตวิทยาเป็นประธาน ได้มีมติยกเลิกโครงการ 1 คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตต่อ 1 นักเรียน โดยหนึ่งในเหตุผลที่ให้คือการบอกว่า แท็บเล็ตไม่ควรที่จะถูกนำมาใช้สอนตลอดเวลา

เพียงแค่ 7 ปีภายหลังจากนั้น การแพร่ระบาดของโควิด 19 ก็พิสูจน์ให้เราได้เห็นว่า คอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ต กลายเป็นหนึ่งในสื่อการเรียนการสอนที่สำคัญไม่ต่างจากกระดานดำหรือดินสอ ถ้าหากโครงการ 1 คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตต่อ 1 นักเรียน ยังคงมีอยู่จนถึงวันนี้ ภาพของนักเรียนที่ต้องตรากตรำ เสาะแสวงหาอุปกรณ์เรียนออนไลน์ก็คงจะไม่เกิดขึ้น การกระทำของ คสช. ในครั้งนั้น ทำให้การศึกษาขั้นพื้นฐานกลายเป็นสิทธิพิเศษ มีเพียงลูกหลานของครอบครัวที่มีสตางค์พอเท่านั้นที่เข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานอันควรจะเป็นของทุกคนได้

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น การศึกษาไทยก็ยังคงต้องตกอยู่ในความมืดหม่นเพราะพลเรือเอกณรงค์รัฐมนตรีผู้มีวิสัยทัศน์อันมืดบอด ก็ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการต่ออีก 1 ปี และมีผลงานสำคัญคือการผลักดันให้นักเรียนไทยท่องจำค่านิยม 12 ประการเป็นนกแก้วนกขุนทอง

นักเรียนประถมศึกษาปีที่ 1 ในปี พ.ศ. 2555 คือนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในวันนี้ ถ้าหากรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ยังคงอยู่ การเรียนออนไลน์ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 อาจจะไม่ได้ย่ำแย่อย่างที่เป็นในปัจจุบัน นักเรียนและครูคงจะคุ้นชินกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และการเรียนออนไลน์ ไม่จำเป็นที่จะต้องปรับตัวมากเท่าใดนัก และเราอาจจะไม่ต้องเห็นข่าวน่าสลดใจนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 ตัดสินใจผูกคอตายเพราะเครียดจากการเรียนออนไลน์ก็เป็นได้

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติและรัฐบาลปัจจุบันภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังคงลอยนวลอยู่ในทำเนียบรัฐบาล โดยไม่ได้รู้สึกรู้สาว่า ตัวเองได้ฉุดคร่าอนาคตของคนหนุ่มสาว ด้วยการปิดโอกาสมิให้พวกเขาได้พัฒนาตนให้ทันการเปลี่ยนแปลงระดับสากล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน