สธ.ลงนามสัญญาไฟเซอร์ ล็อตบริจาคแล้ว ส่วนที่จะซื้อ 20 ล้านโดส สัปดาห์นี้ แจงปมยังสั่งซื้อซิโนแวค เพราะยังมีประสิทธิภาพลดป่วยรุนแรง และ เสียชีวิต

เมื่อวันที่ 7 ก.ค. นพ.โอภาส การย์กวินศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวการฉีดวัคซีน โควิด 19 ว่า ขณะนี้ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและกลุ่มโรคเรื้อรัง ซึ่งวัคซีนโควิด 19 ประสิทธิภาพยังลดการติดเชื้อได้ แต่ที่สำคัญคือ ลดการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต

ขณะนี้ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้ว 11 กว่าล้านโดส จำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เช่น กทม.ที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงร่วมสำนักอนามัย กทม.ปรับกระบวนการฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุและ 7 โรคเรื้อรังให้รวดเร็วที่สุดให้เสร็จสิ้นใน ก.ค.นี้ หรือช้าสุด ส.ค.

นพ.โอภาส กล่าวว่า ที่ประชุมผู้บริหาร สธ.ระดับสูง สถาบันวัคซีนแห่งชาติสรุปผลการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทย คือ ซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนที่จะเอาเข้ามาใช้ คือ ไฟเซอร์ ซึ่ง ครม.อนุมัติให้กรมควบคุมโรคลงนามในสัญญาจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ 2 ฉบับ ฉบับแรกคือการรับบริจาควัคซีนไฟเซอร์จากรัฐบาลสหรัฐฯ 1.5 ล้านโดส ซึ่งลงนามแล้วเมื่อช่วงเช้าวันที่ 7 ก.ค. โดยวัคซีนจะเข้าสู่ประเทศไทยเร็วๆ นี้ จะมีกำหนดการส่งมอบและแถลงต่อไป และฉบับที่สองที่สั่งซื้อ 20 ล้านโดส โดยให้นำข้อสังเกตและคำแนะนำของอัยการสูงสุดไปหารือ คาดว่าจะลงนามสัญญาในสัปดาห์นี้

“วัคซีนที่เราใช้อยู่และกำลังนำมาใช้ มีการพิจารณาคือ 1.มีประสิทธิภาพลดติดเชื้อ ลดอาการหนัก และเสียชีวิต และ 2. ความปลอดภัย โดยพื้นฐานวัคซีนจะต้องได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งวัคซีนทั้ง 3 ตัว คือ ซิโนแวค แอสตร้าฯ และไฟเซอร์มี อย.รับรองแล้ว” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับการวัดประสิทธิผลความสามารถป้องกันควบคุมโรคของวัคซีน ทำได้ 3 วิธี คือ 1.ฉีดวัคซีนแล้วเจาะเลือดดูค่าภูมิคุ้มกัน โดยใช้ผลทางแล็บมาเปรียบเทียบ 2.การทดสอบในมนุษย์จากการการใช้จริง ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญว่าการใช้จริงประสิทธิภาพเป็นอย่างไร และ 3.การติดตามผลข้างเคียงจากการใช้วัคซีน โดยวัคซีนทั้ง 3 ตัวมีการติดตามประสิทธิผลและความปลอดภัยดังนี้

1.แอสตร้าเซนเนก้า มีข้อมูลจากการใช้จริงในอังกฤษ พบว่า ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ 89% ลดการเสียชีวิตในผู้สูงอายุ 80% ข้อมูลจากสกอตแลนด์ลดความรุนแรงที่ทำให้เข้า รพ.ถึง 88% และข้อมูลที่อิตาลีลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต 95% เป็นต้น

แต่ช่วงที่ไทยจะเอาวัคซีนนี้มาใช้กังวลเรื่องการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำที่มีการรายงานในยุโรปประมาณ 10 กว่ารายต่อการฉีด 1 ล้านโดส ขณะนี้ประเทศไทยฉีดแอสตร้าฯ 4 ล้านกว่าโดส มีอาการที่สงสัยลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำ 2-3 ราย อยู่ในการสอบสวนหาสาเหตุอยู่ จะเห็นว่าเรื่องที่กังวลไม่ได้เกิดมากมายอะไร ถือว่ามีทั้งประสิทธิผลเมื่อใช้จริงและความปลอดภัย

2.ไฟเซอร์เป็นชนิด mRNA จากการทดสอบใช้จริงเมื่อฉีดครบ 2 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อ 95% ป้องกันเจ็บป่วยรุนแรงรักษา รพ. 97% ป้องกันเสียชีวิต 96% และลดความเสี่ยงติดเชื้อ 90% แต่เรื่องความปลอดภัย เร็วๆ นี้ศูนย์ป้องกันควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) รายงานว่า เกิดอาการข้างเคียงจากวัคซีน คือ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื้อหุ้มหัวใจอักเสบ

โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น พบ 8 ราย ต่อการฉีด 1 ล้านโดส แต่ไทยยังไม่ได้ใช้จึงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด แต่ประโยชน์ของวัคซีน mRNA เมื่อเทียบกับผลข้างเคียงกังกล่าวที่เกิดขึ้นถือว่ายังมีประโยชน์ สหรัฐฯ และ WHO ก็แนะนำให้ใช้แต่ให้ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

3.ซิโนแวค เราใช้ตั้งแต่ ก.พ. ประเทศจีนมีการใช้จำนวนมาก ซึ่งการใช้จริงในหลายประเทศมีการศึกษาข้อมูล โดยที่อินโดนีเซียสามารถป้องกันการป่วย 94% ลดการเจ็บป่วยนอน รพ. 96% ป้องกันการเสียชีวิตได้ 98% ส่วนชิลีมีข้อมูลลดการเจ็บป่วยรุนแรง 89% บราซิลป้องกันการเสียชีวิต 95% ส่วนผลข้างเคียงยังไม่มีผลข้างเคียงที่น่าเป็นห่วง รวมถึงไทยฉีดแล้วเกือบ 7 ล้านโดส ยังไม่มีรายงานผลข้างเคียงที่เกิดจากวัคซีนที่รุนแรง ถือว่ามีประสิทธิภาพการใช้จริง ลดการติดเชื้อ ลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ใกล้เคียงเท่าเทียมกับไฟเซอร์และแอสตร้าฯ

“ไวรัสมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา ทำให้ต้องปรับมาตรการการหาวัคซีนมาเพิ่มเติม ขณะนี้มีการติดตามสถานการณ์พบว่า หลายบริษัทเริ่มการผลิตวัคซีนรุ่นใหม่หรือรุ่นสอง เช่น แอสตร้าฯ หากพัฒนาประสบความสำเร็จ มีโอกาสนำมาใช้ในประเทศไทย ส่วนไฟเซอร์ทราบข่าวว่ามีการพัฒนา แต่ยังไม่มีรายงานที่ชัดเจนต้องติดตามความก้าวหน้าต่อไป

ดังนั้น วัคซีนที่ประเทศไทยใช้อยู่และจะนำเข้ามาใช้ มีประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้อ สำคัญลดการเจ็บป่วยรุนแรง และลดเสียชีวิตผู้รับวัคซีน โดยนโยบายและข้อสั่งของรัฐบาลจะให้ สธ.ร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฉีดวัคซีนใน 2 กลุ่มเสี่ยง คือ สูงอายุและโรคเรื้อรังให้ครบถ้วนเร็วที่สุดใน ก.ค. หรือส.ค.” นพ.โอภาส กล่าว

เมื่อถามถึงตัวเลขผู้เสียชีวิตในไทยต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน รายงานตามจริงหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า อัตราการเสียชีวิตคือจำนวนผู้เสียชีวิตหารด้วยผู้ป่วยทั้งหมด ขณะนี้ค่าเฉลี่ยอัตราการเสียชีวิตทั่วโลกอยู่ที่ 2% กว่าๆ ส่วนไทยอยู่ที่ 0.8% ถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาก ยิ่งเทียบกับเพื่อนบ้านตัวเลขค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้ การรายงานผู้เสียชีวิต เนื่องจากโควิดเป็นโรคติดต่ออันตราย รพ.ที่รักษาผู้ป่วยแล้วเสียชีวิตต้องรายงานมาที่ สสจ. และกองระบาดวิทยา เพื่อรวบรวมข้อมูล บางจังหวัดรายงานเร็วบางจังหวัดช้าก็พยายามเร่งรัดให้ทันเวลา บางทีต้องตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากโควิดหรือไม่

อย่างบางรายรักษาหายเป็นเดือนมาเสียชีวิตจากโรคประจำตัวก็ต้องมาทบทวน แต่ถ้าเป็นโควิดเสียชีวิตและยังไม่เคยออกจาก รพ.ก็นับว่าเสียชีวิตจากโควิดทั้งหมด ตัวเลขจะมีขึ้นมีลงตลอดเวลา เราพยายามเก็บจากทุกแหล่งทั้งรับและเอกชน ยืนยันว่าโปร่งใสตรวจสอบได้

“บางจังหวัดอาจมีรายงานผู้เสียชีวิตสะสมจำนวนหนึ่งและรายงานทีเดียว เพระาความเร่งด่วนเป็นการรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ อีกประการคือ กทม.และปริมณฑลบางจังหวัดมีผู้ป่วยตกค้างที่บ้านและชุมชน บางรายมา รพ.ไม่ทันเสียชีวิต หรือบางรายตรวจเจอตอนชันสูตรศพ เวลาตรวจเจอหลังเสียชีวิตแล้วถ้าสงสัยโควิดจะมีการตรวจหาเชื้อ ทางแพทย์นิติเวชมีการตรวจรายสงสัยเพื่อตรวจพิสูจน์ หากพบโควิดก็รายงานมากองระบาดวิทยาตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป” นพ.โอภาสกล่าว

เมื่อถามกรณีโซเชียลมีการติดแฮชแท็กทวงคืนวัคซีนโมเดอร์นาเป็นวัคซีนหลัก ไม่ต้องจ่ายเงิน นพ.โอภาสกล่าวว่า วัคซีน mRNA มี 2 ตัว คือโมเดอร์นา และไฟเซอร์ ถ้าพูดถึงประสิทธิภาพ ผลข้างเคียงนั้นมีความใกล้เคียงกัน แล้วรัฐบาลเลือกที่จะใช้ไฟเซอร์แล้ว ส่วนโมเดอร์นาถูกกำหนดให้เป็นวัคซีนทางเลือก ซึ่งภาคเอกชนสามารถจัดหามาเสริมเพิ่มเติมให้ประชาชนได้ ซึ่งเข้าใจว่ามี 5 ล้านโดส

เมื่อถามถึงกรณีที่มีรายงาน วัคซีน ซิโนแวค มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ต่ำที่สุด ทำไมรัฐบาลจึงยังมีมติสั่งซื้อเข้ามาเพิ่ม นพ.โอกาส กล่าวว่า เรื่องการใช้วัคซีนต้องมอง 2 ส่วน คือเรื่องประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ขณะนี้ประเทศไทยเรามีแผนการสั่งซื้อวัคซีน ทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์

ซึ่งทั้ง 3 ตัวที่ประเทศไทยใช้และมีแผนนำมาใช้นั้น ไม่มีตัวใดป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่ยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันได้อยู่ บางตัวกันได้ 80% 90% หรือ 60 % ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่ยืนยันว่าทุกตัวที่เราเอามาใช้นั้นมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค คนชอบพูดว่าวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพนั้นไม่ใช่เลย ถ้าเทียบกับการไม่ฉีดวัคซีนเลยนั้นสามารถลดการติดเชื้อได้ ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก และ อย. แต่สิ่งที่เหมือนกันของวัคซีนทั้ง 3 ชนิด คือลดการป่วยหนัก นอนรพ. ลดการใช้ไอซียู ป้องกันการเสียชีวิตได้เกือบ 90% ทุกตัว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน