‘วิโรจน์’ บี้รัฐบาล เปิดราคาไฟเซอร์ ข้องใจหรือว่ากลัว ปชช.รู้ว่า ถูกกว่าซิโนแวค ชี้ประเทศอื่นซื้อวัคซีนโปร่งใส ตรวจสอบได้ แต่ทำไมรบ.ไทยต้องปิดบัง

วันที่ 8 ก.ค.64 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่รัฐบาลไม่ได้เปิดเผยสัญญาและราคาการซื้อวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส ว่า เป็นข้อสงสัยของหลายคน เพราะเราคาดว่าราคาของไฟเซอร์อยู่ที่ประมาณ 600 บาท ทั้งนี้ ซีอีโอไฟเซอร์เคยเปิดเผยว่าสำหรับประเทศที่มีรายได้ปานกลางหรือไม่สูงมากจะมีส่วนลดให้ตามสัดส่วน ดั

งนั้นประเทศไทยที่เป็นประเทศกลุ่มรายได้ปานกลาง เราจึงอาจจะได้ซื้อในราคาที่มีส่วนลด คืออาจจะได้ในราคาที่ถูกกว่า 600 บาท และอาจจะถูกกว่าซิโนแวค แม้ก่อนหน้านี้ไทยจะไม่เคยเปิดเผยราคาซิโนแวค แต่ก็คาดว่าจะอยู่ที่ราคา 549.01 บาท

และจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา ราคาซิโนแวคไม่รวมแวต (vat) จะอยู่ที่ 542.50 บาท โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ก.ค. ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณวงเงิน 6,111.412 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อซิโนแวคอีก 10.9 ล้านโดส ซึ่งเฉลี่ยออกมาก็อยู่ที่ 500 กว่าบาทต่อโดส

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า เมื่อรัฐบาลไม่เปิดเผยมติครม. เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ทำให้ไม่ทราบว่าใช้วงเงินเท่าไหร่ในการจัดซื้อไฟเซอร์ 20 ล้านโดส ทั้งนี้ แม้โมเดอร์นาจะเป็นวัคซีนทางเลือกที่จัดหาโดยเอกชน แต่ทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นตัวแทนไปซื้อ ซึ่งการเก็บเงินจากประชาชนก็เป็นไปอย่างเปิดเผย แต่ทำไมรัฐบาลไม่เปิดเผยราคาที่ไปซื้อโมเดอร์นาว่าดีลมาในราคาเท่าไหร่ ทำไมต้องทำเป็นมติครม.ลับ

เมื่อถามถึงกรณีที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การเปิดสัญญาซื้อวัคซีนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ห้ามเปิดเผยสู่สาธารณะ เพราะบางบริษัทระบุว่าห้ามเปิดเผยสัญญา เกรงจะกระทบการสั่งซื้อ นายวิโรจน์ กล่าวว่า “ไม่มีทางหรอก อย่ามาอ้างดีกว่า”

เมื่อถามย้ำว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า การที่รัฐบาลไม่ยอมเปิดเผยราคาไฟเซอร์ เป็นเพราะกลัวประชาชนจะรู้ว่าราคาถูกกว่าซิโนแวค ซึ่งเป็นวัคซีนที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ให้ความเชื่อมั่น นายวิโรจน์ กล่าวว่า ถูกต้อง เราจึงต้องจี้ให้ออกมาเปิดเผยสัญญา ประเทศอื่นเวลาเจรจาซื้อวัคซีนก็เป็นไปอย่างโปร่งใส ทำไมรัฐบาลไทยจะต้องปิดบัง อย่ามาหลอกเลย ก่อนหน้านี้ก็ไม่ยอมเปิดสัญญาที่ทำกับริษัทแอสตร้าเซนเนกา โดยขู่ว่าจะกระทบกระเทือนต่อการส่งมอบวัคซีน ความจริงบริษัทเอกชนเหล่านี้อยู่ภายใต้หลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใสอยู่แล้ว ตนจึงไม่เชื่อว่าทางบริษัทโมเดอร์นาจะไม่ยอมให้เปิดเผยสัญญาต่อสาธารณะ

ดังนั้น ข้ออ้างของนายวิษณุ จึงฟังไม่ขึ้น แต่หากจะอ้างแบบนี้ก็ต้องนำข้อตกลงแบบผูกพันทางกฎหมาย (Binding Term Sheet) ที่ต้องพิจารณาก่อนจะร่างสัญญา เพื่อมาดูให้ชัดว่ามีเงื่อนไขไม่ให้เปิดเผยสัญญาจริงหรือไม่

โดยในวัน 9 ก.ค. ตนจะเดินทางไปที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติและกรมควบคุมโรค เพื่อให้เปิดเผยสัญญาแอสตร้าเซนเนกากับซิโนแวค ซึ่งเบื้องต้นทราบแค่ว่า ครม. มีมติอนุมัติให้ลงนามแต่ยังไม่มีสัญญา ตนจึงอาจจะทำเป็นหนังสือไปที่สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอมติครม.ในวันนั้นมาตรวจสอบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน