ธนาธร ชี้ โควิดเข้าสู่ภาวะวิกฤตปลาย ก.ย. อาจติดเชื้อถึงวันละ 50,000 คน หากสามารถลดการติดเชื้อได้เพียงแค่ 20% ยันวัคซีนคือทางออกเดียว

5 ส.ค. 2564 – นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า จัดเฟซบุ๊กไลฟ์ในหัวข้อ “ปัจจุบันและอนาคตประเทศไทยใต้โควิด” สรุปคาดการณ์สถานการณ์โควิดในระยะตั้งแต่เดือน ส.ค.เป็นต้นไป และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ

นายธนาธร กล่าวว่า จากข้อมูลของ Google Mobility Trend และ Facebook Movement Range Map ซึ่งเป็นข้อมูลที่เฟซบุ๊กและกูเกิลเปิดเผยแนวโน้มการเดินทางของประชากรจากสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้แอปพลิเคชั่น มาแสดงให้เห็นว่าประชาชนคนไทยเดินทางออกนอกบ้านมากขึ้นหรือน้อยลงเท่าไหร่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหลังสถานการณ์โควิดและการล็อกดาวน์รอบแรก คนไทยเดินทางน้อยลงประมาณ 35% ระลอกที่สองเดินทางน้อยลงประมาณ 20% จนมาถึงล็อกดาวน์ครั้งปัจจุบัน ประชากรเดินทางลดลง 30% เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ

เมื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับแบบจำลองอนาคต ที่จัดทำขึ้นโดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะพบว่ามีความแปรผันสอดคล้องกันในระดับหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าอัตราการแพร่ระบาดสามารถลดลงได้เมื่อประชากรจำกัดการเดินทางลง

สิ่งที่น่ากังวล คือ จากข้อมูลของแบบจำลองอนาคตนี้ หากเราสามารถลดการติดเชื้อได้เพียงแค่ 20% จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันอาจจะขึ้นไปถึง 50,000 คนในปลายเดือน ก.ย. หากลดการแพร่ระบาดได้ 25% จำนวนผู้ติดเชื้ออาจเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 35,000 คนต่อวันในปลายเดือน ก.ย.

แต่อัตรานี้จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงในปลายเดือน ส.ค. และอาจเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากการหยุดล็อกดาวน์ในเดือน ก.ย. แต่หากสามารถลดการแพร่เชื้อได้ 45-50% ขึ้นไป จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันอาจจะเหลือเพียงแค่ 4,000-5,000 คน และจะอยู่ในระดับคงที่หลังจากการล็อกดาวน์สิ้นสุดลง

ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวต่อว่า ในแง่ของความต้องการเตียง แบบจำลองอนาคตนี้บ่งชี้ว่าปัจจุบัน มีจำนวนผู้ติดเชื้อที่ต้องการเตียงอยู่ที่ประมาณ 200,000 คน หากลดการแพร่ระบาดได้เพียง 20% จำนวนผู้ติดเชื้อที่ต้องการเตียงอาจจะเพิ่มขึ้นไปถึง 500,000 คนในเดือน ก.ย. แต่หากลดการแพร่ระบาดได้ถึง 50% จำนวนผู้ติดเชื้อที่ต้องการเตียง อาจะจะลดลงเหลือ 84,500 คนได้

สถานการณ์วันนี้จึงขึ้นอยู่กับวัคซีน ว่าจะฉีดให้ครบจำนวนที่เพียงพอได้เมื่อไหร่ จากข้อมูล ณ วันที่ 2 ส.ค. ประชากรไทยที่ฉีดวัคซีนครบสองโดสแล้วจำนวน 3.9 ล้านคน หรือ 6% ของจำนวนประชากร คนที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งโดสมีจำนวน 21.5% ของจำนวนประชากร หรือ 14.2 ล้านคน ซึ่งหากเราต้องการไปถึงเป้าหมาย 100 ล้านโดสภายในสิ้นปี 64 จะต้องฉีดให้ได้ 5.47 แสนโดสต่อวัน ในทุกวันที่เหลือนับตั้งแต่วันนี้

ปัญหาคือวัคซีนที่ได้รับจัดสรรอยู่ในประเทศไทยมีทั้งหมด 18.9 ล้านโดส ฉีดไปแล้ว 18.1 ล้านโดส หมายความว่าประเทศไทยเหลือวัคซีนอยู่อีกเพียงประมาณ 8 แสนโดส ถ้าฉีดในอัตราปัจจุบัน คือ ประมาณ 2 แสนกว่าโดสต่อวัน เราจะสามารถฉีดได้อีกเพียง 3-4 วันเท่านั้น

ถ้าไม่มีวัคซีนล็อตใหม่เข้ามา เราจะไม่สามารถเพิ่มศักยภาพการฉีดวัคซีนอย่างเต็มที่ให้กับประชากรได้เลย การฉีดวัคซีนได้ช้าก็จะส่งผลให้เราต้องอยู่กับความเสี่ยงที่จะเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ๆ และการแพร่ระบาดรอบใหม่อยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าเราจะควบคุมการแพร่ระบาดรอบนี้ไปได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน