นักวิชาการ แนะรัฐบาล ปรับมุมมองความมั่นคงใหม่โดยด่วน จี้จัดสรรงบให้สมดุล ไม่เน้นด้านทหาร มากกว่าภัยคุกคามอื่น ยกปมตัวอย่าง สภาพอากาศ-โรคระบาด

วันที่ 23 ส.ค.64 ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง กล่าวว่า จากการทบทวนรายงาน Global Trends 2040: A More Contested World โดย The National Intelligence Council, USA พบว่าในอนาคตโลก เราอาจต้องเผชิญกับความท้าทายระดับโลก ที่ประชาชนในทุกประเทศจะมีความเสี่ยงจากภัยคุกคามร่วมกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ เช่น สภาพอากาศ โรคระบาด วิกฤติทางการเงิน และการถูกเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนระบบการทำงานของมนุษย์ ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างเนื่องจากความเชื่อมโยงของโลกที่มีมากขึ้น

ความสามารถของระบบและสถาบันที่มีอยู่ เช่น องค์การระหว่างประเทศ กฎระเบียบและข้อตกลงระหว่างประเทศ รวมถึงการบริหารจัดการภายในประเทศ อาจไม่เพียงพอต่อการรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้น การระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้แสดงให้เห็นความเปราะบางของความร่วมมือระหว่างประเทศในการรับมือกับภัยคุกคาม

รวมถึงความเปราะบางของระบบและสถาบันที่มีอยู่ สภาวะเช่นนี้อาจก่อให้เกิดภาพของ “ความไม่สมดุล” ระหว่างสิ่งที่ประชาชนต้องการ กับความสามารถของรัฐบาลในการตอบสนอง จนอาจนำไปสู่การสูญเสียศรัทธาต่อรัฐและนำไปสู่การเรียกร้องจากประชาชนมากขึ้น

ดร.จารุพล ระบุว่า การปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญในทุกระดับตั้งแต่บุคคล สังคม รัฐ และระบบระหว่างประเทศ ภัยคุกคามขนาดใหญ่ในอนาคต เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ อาจทำให้ทุกประเทศต้องปรับตัวและดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะถูกหรือแพง การพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง AI อาจเป็นกุญแจสำคัญในการปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาน แต่ไม่ใช่ทุกประเทศจะสามารถมีเทคโนโลยีทันสมัยได้ ดังนั้น ในประเด็นนี้อาจก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นระหว่างสังคมต่าง ๆ และอาจนำไปสู่ปัญหาอื่น เช่น การย้ายถิ่นฐาน เป็นต้น

ภัยคุกคามต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น อาจเกินกำลังของประเทศใดประเทศหนึ่งในการรับมือก็เป็นได้ การมองหาความร่วมมือระหว่างประเทศจึงเป็นสิ่งจำเป็นและมีความท้าทาย การเปลี่ยนแปลงเรื่องกฎระเบียบและข้อตกลงระหว่างประเทศเป็นเรื่องไม่ง่ายและไม่สามารถทำได้ชั่วข้ามคืน รัฐบาลทั่วโลกจึงต้องรับภาระหนักในการพัฒนากลไกร่วมกันเพื่อรับมือภัยคุกคามระดับโลก

สำหรับประเทศไทย ดร.จารุพล บอกว่า ผู้ที่มีความรับผิดชอบด้านความมั่นคง ควรรับรู้ถึงปัญหาร่วมกับประชาคมโลก และร่วมเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญที่จะต้องแบ่งปันความรับผิดชอบต่อปัญหานั้น เพื่อให้เกิดความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง

ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมการและดำเนินการพัฒนาโครงสร้างต่าง ๆ ภายในประเทศให้มีความสอดคล้องกับสภาพการณ์ด้านความมั่นคงในอนาคตด้วย จะเห็นได้ว่า ตอนนี้ความมั่นคงทางทหาร ยังคงมีความสำคัญมาก แต่โอกาสที่จะเกิดภัยคุกคามโดยใช้กำลังทหารกลับน้อยลง การมุ่งเป้าไปที่ความมั่นคงทางทหารเป็นสำคัญ อาจทำให้มองข้ามปัญหาใหญ่อื่น ๆ จนทำให้เกิด “ความไม่มั่นคงในความรู้สึกของประชาชน” ขึ้นมาแทนที่

มีแนวโน้มว่าภัยคุกคามที่นอกเหนือจากภัยคุกคามทางทหารจะมีความรุนแรงมากขึ้น ดังตัวอย่างการระบาดโรคโควิด 19 ที่มีความรุนแรงไม่ต่างจากภาวะสงคราม นี่คือเรื่องสำคัญที่ประเทศไทยต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติด้านการพัฒนา ด้านงบประมาณและการปฏิบัติ ที่ควรจัดสรรงบประมาณไปยังหน่วยงานที่จำเป็นต้องรับมือ ให้มีศักยภาพดีพอที่จะรับมือกับภัยคุกคามที่กำลังเกิดและที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ภาพของประชาชนที่ตำหนิติเตียนและเรียกร้องต่อรัฐบาลในการจัดหาวัคซีนในปัจจุบัน เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ของความไม่สมดุลระหว่างความต้องการของประชาชนและสิ่งที่รัฐจัดหาให้ นำไปสู่การเสื่อมศรัทธาต่อรัฐบาลของประชาชน ” ดร.จารุพล กล่าว

อาจารย์ ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ. ระบุอีกว่า “ รัฐบาลจำเป็นต้องปรับมุมมองด้านความมั่นคงโดยด่วน ต้องนึกอยู่เสมอว่า ภัยคุกคามที่นอกเหนือจากการทหารอย่างโรคระบาดอาจเกิดขึ้นได้อีกเรื่อย ๆ ในอนาคต อาจเกิดในระดับที่ใกล้เคียง หรืออาจใหญ่กว่าก็เป็นได้ ”

การนิยามความมั่นคงในมุมมองใหม่จะเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการอื่น ๆ ในการสร้างสมดุลระหว่างการรับมือภัยคุกคามทางทหารกับการรับมือภัยคุกคามด้านอื่น ๆ หรือกับการบริหารงานภาครัฐเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนซึ่งล้วนแต่ต้องบริหารจัดการภายใต้งบประมาณอันจำกัด

ดร.จารุพล สรุปปิดท้ายว่า รัฐบาลและผู้มีความรับผิดชอบด้านความมั่นคงอาจต้องตกอยู่ในท่ามกลางวงล้อมแรงกดดันจากหลายฝ่ายในเวลาเดียวกันในการรับมือความท้าทายในอนาคต ฝ่ายหนึ่งคือปัญหาความมั่นคงระดับโลก ที่จะทยอยมาเยือนประเทศไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ ฝ่ายที่สองคือประชาคมโลก ที่จับตาดูไทยในฐานะประเทศสมาชิกและอาจคาดหวังการลงทุนลงแรงบางอย่างมากขึ้น และฝ่ายที่สามคือประชาชนคนไทย ที่จะมีความรู้ความเข้าใจในปัญหา มีความต้องการหลากหลายและมีอำนาจในการเรียกร้องมากขึ้นตามการพัฒนา การปรับตัวปรับมุมมองใหม่ของรัฐจึงจะทำให้เกิดแนวทางปฏิบัติที่สร้างความสมดุลต่อการให้ความสำคัญและเตรียมพร้อมรับมือภัยคุกคามในทุก ๆ ด้าน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน