กลุ่มอาชีพฟิตเนส ยื่นสภา ช่วยเยียวยาหลังโดนคำสั่งปิดจากรัฐ ศิริกัญญา ฉะมาตรการรัฐเหวี่ยงแห ชวนผู้ประกอบการรวมกลุ่มยื่นฟ้องแพ่ง

เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2564 ที่รัฐสภา นายธันย์ปวัฒน์ เตชภูวดลวิทิต และน.ส.ภัทรภัทสร์ ภัทรศิลป์วีรกุล ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการสถานออกกำลังกายและผู้ฝึกสอนการออกกำลังกาย พร้อมคณะ ยื่นหนังสือต่อ นายราเมศ รัตนเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา และส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อยื่นข้อเสนอเปิดพื้นที่สถานออกกำลังกายและมาตรการรักษาความปลอดภัยในการประกอบกิจการ

จากนั้นน.ส.ภัทรภัทสร์ และคณะ ได้ยื่นหนังสือต่อ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และส.ส.พรรคก้าวไกล ด้วยเช่นกัน

นายธันย์ปวัฒน์ กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ศบค.ได้ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้ปิดสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบอาชีพธุรกิจสถานออกกำลังกายและฟิตเนส รวมทั้งผู้ฝึกสอนกีฬา คนออกกำลังกาย ลูกจ้างในระบบประกันสังคม และกลุ่มอาชีพอิสระที่รับค่าจ้างแบบรายวัน โดยรัฐบาลมีประกาศคำสั่งปิดสถานออกกำลังกายและฟิตเนส ยกเลิกการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวกัน ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบอาชีพดังกล่าวจะเป็นลำดับแรกที่ถูกสั่งปิด และเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ได้กลับมาเปิดให้บริการ

จึงขอเสนอมาตรการเพื่อช่วยเหลือและเยียวยา ดังนี้

1.ยกเลิกคำสั่งปิดสถานออกกำลังกายและฟิตเนสแบบเหมารวม โดยให้ปิดเฉพาะสถานประกอบการที่พบผู้ติดเชื้อ หรืออยู่ในบริเวณพื้นที่เสี่ยงเป็นะเวลา 14 วัน

2.ขอให้มีคำสั่งปลดล็อก เพื่อให้สถานออกกำลังกายและฟิตเนสได้กลับมาเปิดให้บริการ จัดกิจกรรมต่างๆได้เต็มรูปแบบ ภายในวันที่ 1 ต.ค.นี้ โดยให้คงการปฏิบัติตามมาตรการของ ศบค. เพื่อรักษามาตรฐานการควบคุมโรค

3.จัดสรรฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยเร็วที่สุด

4.ออกนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการเยียวยา การพักชำระหนี้ และ/หรือการกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อรักษาสภาพคล่องทางธุรกิจและรักษาการจ้างงานพนักงาน

5.เปิดช่องทางการสื่อสาร เพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนที่เดือดร้อน เพื่อให้ทราบถึงมุมมอง ผลกระทบและความยากลำบากของผู้มีอาชีพในกลุ่มธุรกิจต่างๆ ก่อนที่รัฐจะออกคำสั่งที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจนั้นๆ

ด้านน.ส.ศิริกัญญา กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า จะเห็นว่าเรารับหนังสือจากผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดของรัฐมาหลายครั้ง ซึ่งมาตรการไม่ได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดขึ้น แม้หลายกิจการจะทำตามมาตรการสาธารณสุขได้ แต่ด้วยความที่ภาครัฐอาจจะคิดสั้น แทนที่จะส่งคนเข้าไปกำกับดูแลมาตรการสาธารณสุข เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด แต่กลับใช้มาตรการแบบเหวี่ยงแห แม้จะมีมาตรการเยียวยาแต่ไม่ได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

จึงขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ยืนหยัดเพื่อความยุติธรรมของตัวเอง หากมีความสนใจ ก็ให้มาร่วมกันฟ้องแพ่งแบบกลุ่ม เพื่อให้ศาลเป็นผู้อำนวยความยุติธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน