เปิดประวัติ ‘ธรรมนัส พรหมเผ่า’ เส้นเลือดใหญ่รัฐบาล ผู้เคยลั่นวาจาล้มผมได้ รัฐบาลก็สั่นคลอน กับเส้นทางการเมืองที่ไม่ธรรมดา

หลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ แถลงลาออกจาก ตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ สร้างความตกใจให้กับหลายฝ่าย ทั้งที่ก่อนหน้านี้รับรู้กันดีว่า ร.อ.ธรรมนัส คือหนึ่งในบุคคลสำคัญในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

สำหรับประวัติของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นั้น ปัจจุบันอายุ 56 ปี เป็นชาว จ.พะเยา โดยกำเนิด ก่อนหน้าที่จะมาดำรงตำแหน่ง รมช.เกษตร นั้น เขาเคยร่วมงานทางการเมืองกับพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยมาก่อน โดยเมื่อการเลือกตั้งปี 2557 เขาได้ลงสมัคร ส.ส.ในแบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคเพื่อไทยอีกด้วย

จนกระทั่งหลังการรัฐประหาร 2557 เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ายึดอำนาจ เขาเป็นหนึ่งใน “บุคคลสำคัญ” ที่ คสช. มีคำสั่งเรียกมารายงานตัว

จากนั้น ปี 2561 เขาได้ตัดสินใจเข้าร่วมงานทางการเมืองกับพรรคพลังประชารัฐ โดยได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ภาคเหนือของพรรค

จนกระทั่งเมื่อการเลือกตั้ง ปี 2562 และได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพะเยา เขตที่ 1 โดยชนะ อรุณี ชำนาญยา เจ้าของพื้นที่เดิมจากพรรคเพื่อไทย และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 ใน ครม.ประยุทธ์ 2/1

และต่อมาในปี พ.ศ. 2564 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญสำหรับพรรคการเมือง รองจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค

ประกาศลั่นเส้นเลือดใหญ่รัฐบาล

ธรรมนัส ได้รับความไว้วางใจจากผู้มีอำนาจในรัฐบาล ในการประสานรอยร้าวของ ส.ส.ในซีกรัฐบาล อยู่บ่อยครั้ง รวมถึงในการเลือกตั้งซ่อมทุกครั้ง ธรรมนัส คือบุคคลสำคัญที่ส่วนผลักดันให้พรรคพลังประชารัฐ ชนะการเลือกตั้งในทุกๆเขตที่มีการเลือกตั้งซ่อมอีกด้วย

ซึ่งครั้งหนึ่งเขาเคยกล่าวกับสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 11 ก.ค.2562 ว่า “ผมคือเส้นเลือดใหญ่ เลี้ยงหัวใจรัฐบาล ผมกุมความลับ ดีลต่อรอง หากล้มผมได้ รัฐบาลก็สั่นคลอน”

สำหรับข้อวิพากษ์วิจารณ์ ธรรมนัส นั้น เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และถูกฝ่ายค้านหยิบยกมาอภิปรายไม่ไว้วางใจอยู่บ่อยครั้ง เช่นกรณีการถูกถอดยศ เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2541 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ถอดยศ ร้อยโท พชร พรหมเผ่า (ชื่อในขณะนั้น) เนื่องจากประพฤติตนไม่เหมาะสมตามพระราชบัญญัติวินัยทหาร พุทธศักราช 2476

ต่อมาโลกโซเชียลต่างแชร์พระบรมราชโองการดังกล่าว ซึ่ง ชวน หลีกภัย ผู้รับสนองพระบรมราชโองการในขณะนั้น ได้ให้ความเห็นว่า ส่วนนั้นก็เป็นไปตามระบบราชการ สามารถไปดูข้อมูลย้อนหลังได้ว่ามีการประกาศพระบรมราชโองการว่าอย่างไร

โดยก่อนหน้านั้น ธรรมนัส เคยถูกปลดออกจากราชการในปี พ.ศ. 2534 เนื่องจากขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา และในปี พ.ศ. 2536 เนื่องจากหนีราชการในเวลาประจำการ แต่ธรรมนัสก็ทำเรื่องขอกลับเข้ารับราชการใหม่ทั้งสองครั้ง

โซเชียลตั้งข้อสงสัยปมวุฒิการศึกษา

ต่อมา เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2562 เฟซบุ๊กเพจ “CSI LA” ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับวุฒิการศึกษาของธรรมนัส ซึ่งระบุในเว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่า สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ว่าแท้จริง ธรรมนัสสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนานาชาติคาลามัส (Calamus International University) ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้รับการยอมรับวุฒิการศึกษาในหลายประเทศ

ด้าน ธรรมนัส ได้นำหลักฐานมาแสดงเพื่อตอบโต้ นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่าเว็บไซต์ที่เผยแพร่วิทยานิพนธ์ของธรรมนัสและคณะนั้น ถูกระบุว่าเป็นสำนักพิมพ์ที่เปิดเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยการเก็บค่าตีพิมพ์จากผู้เขียน โดยไม่ได้ให้บริการในการแก้ไขและตีพิมพ์ตามหลักของวารสารวิชาการ และเนื้อหาของวิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าว อาจเข้าข่ายการคัดลอกงานวิชาการ

รวมถึงกรณีที่เคยถูกกล่าวหาว่า คนใกล้ชิดของธรรมนัส เกี่ยวข้องกับการกักตุนหน้ากากอนามัย ช่วงโควิด ระบาด ระลอก 1 แม้ตัวผู้ช่วยคนดังกล่าวจะแถลงต่อสื่อว่าเขาไม่รู้จักกับ ศรสุวีร์ ภู่รวีรรัศวัชรี ซึ่งอ้างว่ากักตุนหน้ากากอนามัยไว้ขายหลายล้านชิ้น แม้มีภาพถ่ายออกมาว่าทั้งสองพบกัน

นอกจากนี้ ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ยังมีกรณีของ ธนพร ศรีวิราช อดีตนางสาวไทย คู่ชีวิตของธรรมนัส ได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

แจงยืนยัน ‘มันคือแป้ง’

รวมถึงกรณีที่เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ อย่างมาก ในกรณีของ คดีนำยาเสพติดเข้าประเทศออสเตรเลีย เอกสารทางการออสเตรเลียระบุว่า ธรรมนัส ขณะใช้ชื่อเดิม ถูกพิพากษาจำคุกฐานนำเฮโรอีนน้ำหนัก 3.2 กิโลกรัมเข้าประเทศออสเตรเลียกับพวกรวม 4 คน เมื่อปี 2536 และมีคำพิพากษาในปี 2537 จากนั้นถูกปล่อยตัวหลังรวมเวลาจำคุกได้ 4 ปีและเนรเทศออกนอกประเทศ

ศาลยังระบุว่าเป็นผู้มีความใกล้ชิดกับผู้จัดหา “เฮโรอีน” ในประเทศไทยในการลักลอบนำเข้าประเทศออสเตรเลียด้วย

ในปี 2564 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าธรรมนัสรับว่าตนได้กระทำผิดตามคำพิพากษาของศาลออสเตรเลียจริง แต่สมาชิกภาพ ส.ส. และความเป็นรัฐมนตรีไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ โดยอ้างหลักอธิปไตยทางศาลและหลักต่างตอบแทน

และครั้งหนึ่ง ฝ่ายค้านเคยหยิบกรณีดังกล่าวมาอภิปรายไม่ไว้วางใจเขา โดยเขาได้ลุกขึ้นตอบว่า “ถุงดังกล่าวไม่ใช่เฮโรอีน แต่มันคือแป้ง” อีกด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน