วิโรจน์ เตือน รัฐฉีดวัคซีนในเด็ก ต้องประชาสัมพันธ์ให้ชัดเจน ทั้งชนิด-ผลข้างเคียง เทียบบทความวิชาการทางเเพทย์ ย้ำ 4 เครื่องมือหลักช่วยสังคมอยู่ร่วมโควิด

เมื่อวันที่ 21 ก.ย.2564 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงรัฐบาลจะเร่งฉีดวัคซีนในเด็กว่า ผู้ปกครองจำเป็นต้องติดตามความเห็นของแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญเป็นสำคัญ เบื้องต้นนักวิชาการมีความเห็นว่า เด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 จะมีโอกาสป่วยได้น้อยกว่าผู้ใหญ่ แต่ถ้าหากป่วยก็มีสิทธิ์ป่วยหนักได้ และความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยประเมินแล้วยังสูงกว่าความเสี่ยงที่จะได้รับจากผลแทรกซ้อนจากการฉีดวัคซีน

อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนให้กับเด็กต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ ยึดคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยเป็นแนวทางหลัก ซึ่งราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่องค์การอาหารและยา (อย.) รับรองให้ใช้ในเด็ก และวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งวันที่ 7 ก.ย. 64 มีเพียงชนิดเดียว คือ วัคซีนชนิด mRNA ของ Pfizer-BioNTech

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า สำหรับเด็กอายุ 16-18 ปี ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ระบุให้ฉีดได้ในทุกราย หากไม่มีข้อห้ามในการฉีด ส่วนเด็กอายุ 12-16 ปี ให้ฉีดวัคซีนในกรณีเป็นผู้ป่วยเด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้อรัง ซึ่งจะทำให้เกิดโรคโควิด-19 รุนแรง ได้แก่ เด็กที่เป็นโรคอ้วน หรือโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง รวมทั้งเด็กที่ป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง

สำหรับการฉีดวัคซีนชนิดอื่นหรือยี่ห้ออื่น เช่น ซิโนฟาร์ม อย.ได้ชี้แจงเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 64 แล้วว่า ยังไม่สามารถอนุญาตขยายการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มในเด็กตั้งแต่ 3 ปีขี้นไปได้ เนื่องจากข้อมูลความปลอดภัยในการฉีดวัคซีนยังไม่เพียงพอ

ผู้ปกครองจึงต้องเข้าใจให้ตรงกันว่า การฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มในกลุ่มเด็กอายุ 10-18 ปีที่เกิดขึ้น ภายใต้โครงการ VACC 2 School ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นั้น ข้อเท็จจริงคือ เป็นการฉีดวัคซีนในโครงการศึกษาวิจัย ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมในมนุษย์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ดังนั้น การติดตามในเรื่องความปลอดภัย ผลกระทบ และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตลอดจนความรับผิดชอบใดๆ ต่อความปลอดภัยของเด็กที่เข้ารับการฉีดซิโนฟาร์มในโครงการศึกษาวิจัยนี้ จึงเป็นความรับผิดชอบของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการศึกษาวิจัย ภายใต้เงื่อนไขที่ได้ตกลงไว้กับผู้ปกครอง ดังนั้น ผู้ปกครองต้องเข้าใจข้อเท็จจริงนี้ให้ถูกต้องตรงกัน

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า ตนเน้นย้ำไปยังรัฐบาลว่า เครื่องมือหลักที่จะทำให้สังคมอยู่ร่วมกับโควิด-19 ในระยะยาวได้ ไม่ว่าจะในเด็กหรือประชาชนทั่วไป มีอยู่ 4 ประการ 1.มาตรการส่วนบุคคล ได้แก่ การสวมใส่หน้ากากอนามัย การล้างมืออยู่เสมอ การระยะยะห่างทางสังคมโดยเฉพาะในพื้นที่ปิด 2.การวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงให้กับประชาชน และการเสริมภูมิคุ้มกันเป็นระยะ เพื่อรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์

3.การตรวจคัดกรองตนเองที่เข้าถึงได้ง่าย รวดเร็ว ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงได้รับการตรวจคัดกรองเป็นระยะๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ประชาชนสามารถซื้อหาชุดตรวจได้ในราคาไม่แพง เมื่อเทียบกับค่าครองชีพ และ 4.การสำรองยาและเวชภัณฑ์ที่ทันสมัย ในจำนวนที่เพียงพอ เพื่อรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างทันท่วงที เพื่อลดการสูญเสียชีวิตให้น้อยที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน