เอาอยู่หรือไม่ – ก่อนที่ธนาคารโลกและสถาบันการเงินต่างๆ ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ตอนนั้นยังไม่เกิดสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ภาคอีสานและภาคกลางหนักอยู่ถึงขณะนี้

การปรับลดตัวเลขเศรษฐกิจไทยลดลงมาเป็นระยะ เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด ทำให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพและรายได้ของประชาชน

ผลกระทบเหล่านี้ไม่ใช่แค่ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะงักงันหรือถอยหลัง ยังหมายถึงจำนวนคนยากจนที่เพิ่มขึ้น หนี้สินเพิ่มขึ้น และความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น

ยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมหนักในครั้งนี้จึงเป็นโจทย์ยากขึ้นอีกสำหรับรัฐบาล

วาทะเอาอยู่หรือไม่ เมื่อสิบปีก่อนจึงย้อนกลับมาอีก

จากการประเมินเศรษฐกิจไทยของธนาคาร โลก คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะใช้เวลา 3 ปี กว่าที่จะฟื้นตัว เนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังขยับได้ยากมาก

กว่าจะเริ่มตั้งตัวได้ อาจต้องใช้เวลาถึงครึ่งหลังของปี 2565 ที่ธนาคารโลกประเมินว่า จะมี นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาได้เพียง 1.7 ล้านคน จากที่เคยมาเกือบ 40 ล้านคนก่อนสถานการณ์โควิด

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมที่มาซ้ำเติมขณะนี้ จากการสำรวจของหอการค้าไทย คาดว่าความเสียหายน่าจะมีมูลค่ากว่า 15,036 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.1-0.2% ของจีดีพี

แม้ไม่รุนแรงเท่ากับน้ำท่วมปี 2554 แต่เมื่อบวกกับความเสียหายจาก สถานการณ์โควิดที่ลากยาวมาอยู่ก่อน จึงเป็นช่วงที่ประชาชนอยู่กันอย่างยากลำบากมาก

การรับมือกับภัยจากโควิด-19 และน้ำท่วม ต้องใช้เงินมหาศาล เพราะมีทั้งส่วนที่ต้องเยียวยา ส่วนฟื้นฟู และส่วนที่ต้องกระตุ้นให้เศรษฐกิจไหลเวียน

ดังนั้นรัฐบาลจะต้องมีแผนงานที่ชัดเจนทั้งในภาพรวมของทั้งประเทศ และการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการและส่วนกลางติดตามตรวจสอบ ทำงานอย่างกระฉับกระเฉง รู้ทันสถานการณ์

ไม่ทิ้งให้ประชาชนอยู่กับโรคระบาด หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยไม่มีแผนงานเชิงรุก

ที่สำคัญคือรัฐบาลจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนส่วนใหญ่ที่ยอมรับและศรัทธา

จึงน่าสงสัยว่า รัฐบาลนี้เอาอยู่หรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน