‘ไอลอว์’ เปิดรายชื่อ สว. ที่ลงมติ ‘ไม่รับหลักการ’ ร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิกกลไกสืบทอดอำนาจ คสช. 2 ราย ไม่รับแม้แต่ฉบับเดียว

วันที่ 17 พ.ย.64 iLaw (ไอลอว์) หรือโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก iLaw ความว่า ตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 มีความพยายามแก้ไขทั้งหมดสามภาค คือ มีการเสนอและเปิดการประชุมของรัฐสภาเพื่อพิจารณาลงมติกันแล้วทั้งหมด 3 ครั้ง

โดยหนึ่งในสาระสำคัญของการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญคือการเข้าไปจัดการกับกลไกสืบทอดอำนาจของคสช. ไม่ว่าจะเป็น วุฒิสภาที่มาจากการคัดเลือกของคสช. องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากการคัดเลือกโดยอ้อมจากคสช. รวมถึงการรับรองบรรดาประกาศ คำสั่ง และการกระทำของคณะรัฐประหาร

อย่างไรก็ดี ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งว่า ร่างแก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบจากสภา จะต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ทั้งในวาระที่หนึ่งชั้นรับหลักการ และในวาระที่สามชั้นเห็นชอบประกาศใช้เป็นกฎหมาย

ดังนั้น การลงมติของ ส.ว. จึงเป็นจุดชี้ชะตาของร่างแก้รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ทั้งนี้ จากการดูผลการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่หนึ่งตลอดทั้งสามครั้ง พบว่า มี ส.ว. ที่เป็นองค์รักษ์พิทักษ์กลไกสืบทอดอำนาจของคสช. อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ดังนี้

1) กลุ่ม ส.ว. ที่ลงมติ “ไม่รับหลักการ” ร่างแก้รัฐธรรมนูญแม้แต่ฉบับเดียว ได้แก่

พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร อดีตแม่ทัพภาคที่ 2, อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, อดีตสมชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ, อดีตสมาชิกขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

ว่าที่ร้อยตรี วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี อดีตเป็นที่ปรึกษาใน กมธ. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง

2) กลุ่ม ส.ว. ที่ลงมติ “ไม่รับหลักการ” ร่างรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่มีการยกเลิกกลไกสืบทอดอำนาจ คสช.

ร.อ.ประยุทธ เสาวคนธ์ อดีตสมาชิกขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตสมชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ, อดีตสมาชิกขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

พ.ต.อ.ยุทธกร วงเวียน อดีตผู้กำกับการ สถานีตำรวจภูธรอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น

วิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร อดีตสมชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ, อดีตสมาชิกขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

สุรสิทธิ์ ตรีทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์

เสรี สุวรรณภานนท์

โดยในการลงมติร่างแก้รัฐธรรมนูญ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ครั้ง ดังนี้

การลงมติร่างแก้รัฐธรรมนูญครั้งแรก เมื่อวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2563 โดยมีการเสนอทั้งหมด 7 ร่าง ประกอบไปด้วยร่างจาก ส.ส. พรรคฝ่ายค้านเสนอเข้าสู่การพิจารณา 5 ฉบับ ร่างจาก ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ 1 ฉบับ และร่างที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ 1 ฉบับ

ซึ่งในจำนวนนี้มี 4 ฉบับที่ให้ยกเลิกกลไกสืบทอดอำนาจคสช. ได้แก่ ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ปฏิรูปประเทศ ยกเลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ยกเลิกการนิรโทษกรรมคสช. และร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่รวมทุกเรื่องเข้าด้วยกัน แต่สุดท้ายร่างเหล่านี้ก็ไม่ผ่านความเห็นชอบจากเงื่อนไขเสียงของ ส.ว.

การลงมติแก้รัฐธรรมนูญครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 23-24 มิถุนายน 2564 โดยมีการเสนอทั้งหมด 13 ร่างประกอบไปด้วยร่างจากส.ส. พรรคพลังประชารัฐ เสนอเข้าสู่การพิจารณา 1 ฉบับ ร่างจากส.ส. พรรคฝ่ายค้าน 4 ฉบับ และ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 8 ฉบับ ซึ่งผลการลงมติในวาระแรก มีร่างผ่านเข้าสู่การพิจารณาเพียงฉบับเดียวเรื่องการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส.

และในวาระที่สามก็ผ่านการพิจารณาได้สำเร็จ เป็นร่างฉบับเดียวที่เคยผ่านการลงมติของรัฐสภาได้สำเร็จ

แต่ร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับ ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ปฏิรูปประเทศ ยกเลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ยกเลิกการนิรโทษกรรมคสช. เป็นอันต้องถูกปัดตกทั้งหมด

การลงมติแก้รัฐธรรมนูญครั้งที่สาม เมื่อวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2564 โดยมีร่างฉบับเดียวเข้าสู่การพิจารณา คือ ร่าง #รื้อระบอบประยุทธ์ ที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ และผลการพิจารณาก็คือไม่ผ่านในวาระที่หนึ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน