นายกฯ ห่วงนักเรียน จี้ศธ.จัดอาหารกลางวันให้ถูกหลักโภชนาการ ‘ตรีนุช’ เล็งดึงเอกชนทำให้น่ากิน ภายใต้งบ 21 บาทต่อคน เตรียมลงพื้นที่ดูปัญหาเอง

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2564 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงเรื่องอาหารกลางวันของนักเรียนที่จะจัดอาหารให้ต้องถูกหลักโภชนาการ ซึ่งนายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ได้รายงานความร่วมมือกับบริษัทเอกชน ซึ่งบริษัทนี้ดำเนินโครงการอาหารกลางวัน โดยเข้ามาช่วยดูและช่วยดีไซน์อาหารกลางวันของนักเรียนให้มีความน่าทานและถูกหลักโภชนาการ ซึ่ง ศธ.จะนำมาปรับใช้ และประสานบริษัทนี้ให้มาหารือร่วมกันว่าจะสามารถทำให้อาหารกลางวันเหมาะสม น่าทาน ถูกหลักโภชนาการ ภายใต้งบอาหารกลางวันนักเรียน จำนวน 21 บาทต่อคน ได้อย่างไร ถือเป็นความพยายามที่จะทำให้อาหารกลางวันมีความน่าทาน ถูกหลักโภชนาการมากขึ้น

น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาตนกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลอาหารกลางวันของเด็กมาโดยตลอด อาจจะพบปัญหาในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คนบ้าง แต่ในส่วนของโรงเรียนขนาดใหญ่จะไม่พบปัญหาเพราะโรงเรียนสามารถถัวเฉลี่ยเงินมาบริหารจัดการได้ง่ายกว่า ซึ่งในบางพื้นที่จะเห็นโรงเรียนขนาดเล็กปรับเปลี่ยนโดยปลูกผักเพิ่มเติมบ้าง แต่บางพื้นที่ไม่สามารถบริหารจัดการได้สมบูรณ์นัก ตนเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูแลเรื่องดังกล่าวแล้ว เพราะอาหารถือเป็นส่วนสำคัญ และมีผลอย่างมากต่อการพัฒนาการของเด็ก เบื้องต้นมอบหมายให้หน่วยงานหลักไปลงพื้นที่ว่าพบปัญหาอุปสรรคเรื่องอาหารกลางวันอย่างไร ทั้งนี้ ตนอาจจะลงพื้นที่ดูเรื่องนี้อีกครั้ง

“ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ฝากให้ ศธ.พัฒนาครูและพัฒนาการเรียนด้วย ซึ่งที่ผ่านมา ศธ.ได้พัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะไปบ้างแล้ว โดยครูอาจจะต้องเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน ซึ่งนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) อยู่ระหว่างจัดทำแผนพัฒนาครู คาดว่าจะเสนอให้ตนพิจารณาถายในเดือนนี้ อย่างไรก็ตามตนมองว่าขณะนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาครูจะต้องมีการอัพเดตองค์ความรู้ วิธีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา”

น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า เบื้องต้นมองว่าถ้าปูพรมพัฒนาครูทั่วประเทศ อาจจะไม่ตอบโจทย์ คงจะเริ่มพัฒนาครูในพื้นที่นำร่อง หรือพื้นที่ที่โรงเรียน ผู้บริหาร และครูมีความพร้อม และสนใจต้องการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนก่อน โดยจะเน้นให้ครูสอนแบบ Active Learning เพื่อให้ผู้เรียนมีสมรรถนะ สามารถคิดวิเคราะห์ได้ นอกจากนี้ ตนยังมอบให้นายอัมพร ทำแผนบริหารจัดการทรัพยากรครูด้วย เพราะที่ผ่านมา ศธ.ไม่สามารถสอบครูผู้ช่วย เพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จนเกิดปัญหาครูไม่ครบชั้น ว่าจะสามารถบริหารทรัพยากรบุคคลให้โรงเรียนใช้ทรัพยากรร่วมกันได้อย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน