ชิงปิดประชุม หนีสภาล่ม รัฐบาลแหยง ไม่กล้าโหวต ร่างกฎหมายยกเลิกประกาศ-คำสั่งคสช.

วันที่ 8 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรช่วงเย็น ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภา เป็นประธานการประชุม มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งคคสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. …. ที่เสนอโดย นายจอน อึ๊งภากรณ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 12,609 คน และ ร่างพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศคสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล กับคณะ เป็นผู้เสนอ

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ในฐานะผู้เสนอร่างอภิปรายว่า กว่า 5 ปี ตั้งแต่ คสช.รัฐประหาร เราอยู่ภายใต้ระบบกฎหมายที่มีประกาศและคำสั่งของ คสช. เป็นใหญ่ มี พ.ร.บ.ที่ใช้บังคับในประเทศประมาณ 800 กว่าฉบับ กลับมีประกาศและคำสั่งคสช. บังคับใช้ควบคู่อีกกว่า 500 ฉบับ จึงเป็นระบบกฎหมายที่ไม่เป็นปกติ และยังอยู่ภายใต้คำสั่งที่ห้ามชุมนุมทางการเมือง ห้ามจัดเสวนาทางวิชาการในมหาวิทยาลัย ฯลฯ มีคนถูกจับกุมไปอย่างน้อย 421 คน

กว่า 5 ปีที่ คสช.มีอำนาจเรียกใครก็ได้ไปรายงานตัวในค่ายทหาร มีคนถูกดำเนินคดีนี้ไปอย่างน้อย 15 คน และกว่า 5 ปีที่สื่อมวลชนไม่มีเสรีภาพในการเลือกนำเสนอเนื้อหาด้วยตัวเอง กว่า 5 ปี ที่ให้อำนาจทหารจับกุมประชาชน เกษตรกร กว่า 5 ปีที่เสรีภาพในการแสดงออกไม่มีอยู่เลย มีบ้างก็เพียงเท่าที่ คสช.อนุญาต

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุน ควรขจัดมรดกรัฐประหาร ทราบว่า จะตีตกร่างกฎหมายฉบับนี้ จะใจดำไม่ผ่านกันจริงๆใช่ไหม หวังว่า ส.ส.ทุกคนช่วยกันยกเลิกคำสั่งประกาศเหล่านี้ออกจากทางตัน ไม่กลับไปสู่วัฏจักรการรัฐประหารเหมือนที่ผ่านมา

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดเราต้องยกเลิกมรดกบาบของคสช. และยกเลิกคำสั่งคสช. โดยเฉพาะคำสั่งคสช.ที่ 26/2557 เนื้อหาเลวร้ายมากและขัดหลักนิติธรรม คำสั่งดังกล่าวเกี่ยวข้องกลับการใช้สื่อโซเชียลมีเดียของประชาชน ให้อำนาจปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ตั้งคณะทำงานเป็นเกสตาโป ตรวจสอบข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ ทำตัวเป็นศาล หากพบว่าข้อมูลใดเป็นเชิงปลุกระดม ใช้วิจารณญาณของตัวเองได้เลยไม่ต้องขอหมายศาลใดๆ

อะไรที่ยั่วยุและอะไรที่เป็นการต่อต้าน คสช. สามารถสั่งระงับการเผยแพร่ได้เลย นี่คือความน่ากลัวของคำสั่งนี้ จึงไม่แปลกใจว่าทำไมสหรัฐไม่เชิญพล.อ.ประยุทธ์ ไปร่วมประชุมด้วย จะเป็นเหตุผลที่เวทีสากลของโลกไม่เชิญไทยเข้าไปวงเวทีสากลของประเทศในระบอบประชาธิปไตยอีก คำสั่งคสช.แบบนี้สุดท้ายแปรรูปเป็น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีแต่สร้างความกลัว มีแต่ความระแวง

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า เพื่อนส.ส.ทั้งหลาย และเพื่อนนักการเมือง วันที่เราโดนรัฐประหาร หนีหัวซุกหัวซุน โดนคุมตัว โดนทำร้าย ถูกกดขี่ เราภาวนาขอให้พรรคเราได้เข้ามาเป็นส.ส. ขอให้ชนะเลือกตั้ง เพื่อจะได้ไม่ร่วมรัฐบาลกับเผด็จการเด็ดขาด วันนี้อย่างที่เห็น เพื่อให้ประเทศเดินไปท่านไปร่วมรัฐบาลตนไม่ว่า แต่อยากให้สำนึกว่า คำสั่งของ คสช.ทุกฉบับนั้น เป็นตราบาปให้ลูกหลานเรา

อยากให้พี่น้องส.ส. จากทุกพรรคช่วยกันล้างมนทินเหล่านี้ให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ศิวิไลย์ ทั่วโลกยอมรับได้ วันนี้อยากให้นักการเมืองในสภาทั้ง 500 คน สำนึกว่าเผด็จการทำลายล้างประเทศ และทำให้ประเทศถดถอย ฝากให้ช่วยกันเอาประกาศ และคำสั่งเหล่านี้ออกไปจากประเทศไทย

หลังจากส.ส.อภิปรายแสดงความเห็นอย่างกว้างขวางนานร่วม 4 ชั่วโมงแล้ว เวลา 20.10 น. นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภา ประธานในที่ประชุม หารือว่าจะลงมติในวันเดียวกันนี้หรือเลื่อนไปครั้งหน้า นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เสนอขอลงมติในการประชุมครั้งถัดไป แต่นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ขอให้ลงมติทันที

ขณะที่นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส. สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย หารือว่า ดูเหมือน ส.ส.ไม่ครบองค์ประชุม ทำให้นายสุชาติกล่าวทีเล่นทีจริงว่า “ขออย่าพูดว่ารีบชิงปิดประชุมหนีประชุมล่ม” ก่อนจะสั่งปิดประชุมทันทีในเวลา 20.10 น. โดยให้ไปลงมติในสัปดาห์หน้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน