‘ชัชชาติ’ ยินดีคนเก่ง ร่วมชิงผู้ว่า ออกตัวโพลที่ 1 เพราะเปิดตัวก่อน ชูนโยบายฟื้นเมือง ชี้ เมื่อคู่แข็งเยอะ ก็จะคือทางเลือกให้ “คนกรุงเทพฯ”

วันนี้ (11 ธ.ค.) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หนึ่งในแคนดิเดตฯ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) แบบอิสระ เปิดเผยผ่านมติชน ระบุว่า ถ้าลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. จะลงในนามอิสระ ซึ่งที่ผ่านได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อทำนโยบาย ตอนนี้รอว่าจะกำหนดวันเลือกตั้งเมื่อไหร่ แต่จะมีการเลือกตั้งในปี 2566 ตนก็ยังไม่รู้ว่าจะรอไหวหรือไม่ ส่วนทีมงานยังไม่มีการวางตัว แต่มีทีมที่ปรึกษามาช่วยทำข้อมูลมากกว่า เช่น ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ มาช่วย think tank

– คู่แข็งเยอะ คือทางเลือกให้ “คนกรุงเทพฯ”

ส่วนเรื่องผู้สมัครเป็นเรื่องที่น่ายินดี มีคนเก่งๆมาเสนอตัว การจะมีตัวเลือกที่ดีได้ ต้องมีตัวเลือกมากๆ คุณสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ก็เป็นคนเก่ง ท่านผู้ว่าณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากรก็มีผลงานที่ดี ท่านผู้ว่าฯอัศวินท่านก็รู้งานเพราะทำมานาน และก็รออีกหลายพรรคที่จะเปิดตัว ผมมองว่า เป็นเรื่องดี เป็นเรื่องความสวยงามของระบบประชาธิปไตย ที่มีตัวให้เลือก และแข่งขันกันที่นโยบาย

“เรื่องของโพลที่ให้ผมเป็นอันดับหนึ่งนั้น ก็อย่าไปยึดถือมาก เพราะว่าผมเปิดตัวมาก่อน ชื่อก็เลยยังค้างๆอยู่ รอคนอื่นเขาเปิดตัว เราก็คงลดลง และคงจะใกล้เคียงกันมากขึ้น”

เมื่อถามว่า มีพรรคใหญ่ๆมาจีบบ้างหรือไม่ นายชัชชาติกล่าวว่า ไม่มีเพราะผมออกตัวไปแล้วว่าจะลงในนามอิสระ จึงไม่มีใครเข้ามาจีบ ถ้าเกิดลงในนามพรรคคนอาจจะเบื่อการเมืองก็ได้ ผมว่าการเมืองระดับท้องถิ่น ไม่ใช่เรื่องเชิงนโยบายระดับแก้รัฐธรรมนูญ เป็นเชิงปฎิบัติมากกว่า บางทีท้องถิ่นอาจจะไม่ต้องเป็นแบบพรรคก็ได้ ดูตัวอย่างองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ก็มีคนที่เป็นอิสระเข้ามามาก

– ชู 4 ด้าน ปั้นกรุงเทพฯ “เมืองน่าอยู่” สำหรับทุกคน

นายชัชชาติ กล่าวว่า สำหรับนโยบายเน้น 4 ด้าน ภายใต้สโลแกน เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ประกอบด้วย 1. People เรื่องคน เน้นระบบเส้นเลือดฝอยและคุณภาพชีวิต 2. Digital เรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล ต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดขั้นตอน 3.Green เรื่องสิ่งแวดล้อม เน้นเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ขยะ ควันพิษ ฝุ่น 4. Economy เรื่องเศรษฐกิจ เพราะเมืองอยู่ได้ด้วยเศรษฐกิจ ตอนนี้เศรษฐกิจมีปัญหาเมืองต้องมาช่วยดูแลเรื่องเศรษฐกิจของคนให้มากขึ้น พยายามสร้างโอกาสคน ลดขั้นตอน หนุนให้เศรษฐกิจฟื้นคืนมา

“เรื่องปากท้องเราก็ต้องดูแล ปัจจุบันเป็นปัญหาใหญ่ ยิ่งโควิดมา รัฐคงต้องเข้าไปดูในสิ่งที่ช่วยเหลือได้ ส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง ดูแลตัวเองมากขึ้น แต่กทม.เองคงไม่สามารถเอาเงินไปแจกได้ เป็นหน้าที่รัฐบาลกลางที่จะต้องทำโครงการต่างๆ กทม.จะไปช่วยดูแลอำนวยความสะดวก เช่น ที่ทำมาหากิน ทำยังไงให้ประชาชนที่เข้าไปไม่ถึงมีที่ค้าขาย จัดบริเวณให้มีการค้าขาย หรือลดกฎระเบียบต่างๆ ช่วยเรื่องความปลอดภัยจากโควิด

เช่น จัดอุปกรณ์ตรวจโควิดให้กับร้านค้า ลดค่าใช้จ่ายให้ เรื่องเศรษฐกิจสำคัญเพราะที่ผ่านมากทม.ไม่ค่อยพูดถึงเรื่องปากท้อง การทำมาหากินเท่าไหร่ เป็นโจทย์ใหญ่ เพราะเมืองอยู่ได้ด้วยเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจของคนไม่ดี เมืองก็อยู่ไม่ได้ ดูอย่างงบประมาณของกทม.ปีนี้ลดไป 20% เก็บภาษีก็ไม่ได้ ฉะนั้นเศรษฐกิจเมืองไปไม่ได้ กทม.ก็อยู่ไม่ได้ หัวใจคือเมืองเรามาอยู่เพราะมีงาน เมืองคือตลาดของงาน ถ้าเกิดงานไม่ดีเมืองก็ลำบาก” นายชัชชาติกล่าวและว่า

– เพิ่มหน่วยพัฒนาธุรกิจกระตุ้นเศรษฐกิจ

กทม.อาจจะต้องเพิ่มหน่วยพัฒนาธุรกิจ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้สะดวกขึ้น อย่าไปสร้างภาระ ลดขั้นตอนให้ทำธุรกิจให้ง่ายขึ้น เปิดพื้นที่ว่างให้คนตัวเล็กตัวน้อยที่เข้าไม่ถึงพื้นที่มีโอกาสได้ขายของ เช่น ปิดถนนคนเดิน ช่วยอุปกรณ์เรื่องโควิด หน้ากากอนามัย ชุดตรวจATK ถ้าร้านเล็กร้านน้อยซื้อจะแพง ถ้ากทม.ช่วยได้ เช่น ตรวจATKให้พนักงาน จะช่วยลดต้นทุนธุรกิจให้เขา สร้างความมั่นใจกลับคืนมา

“นโยบายผมทำกทม.เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ผมคงไม่ตั้งเป้าให้เป็นเมืองมหานครระดับโลกหรือเป็นเมืองอัจฉริยะ ผมว่าเราเน้นที่คน ให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น อย่างน้อยเมื่อเมืองน่าอยู่ สิ่งดีๆจะตามมาเอง เช่น ธุรกิจ ความก้าวหน้า แล้วจะกลายเป็นมหานครของโลกได้ ถ้าคุณภาพชีวิตยังไม่ดี คนยังเดินฟุตปาธไม่ได้ ยังมีฝุ่นพิษ โอกาสจะเป็นเมืองระดับโลกคงไม่ง่าย นอกจากคนแล้ว การจะทำให้เมืองน่าอยู่ ต้องไปเน้นที่เส้นเลือดฝอย คือ สิ่งเล็กๆที่อยู่ใกล้บ้าน ไม่ว่าทางเดินเท้า ท่อระบายน้ำ ถนน ฟุตปาธ อากาศพิษ ควบคู่ไปกับเมกะโปรเจ็กต์”

– สางปัญหา ค่ารถไฟฟ้า BTS ทำให้ราคาไม่เกิน 35 บาท

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องค่าเดินทางของประชาชนก็เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่บางทีกทม.ก็ทำไม่ได้ เช่น เรื่องของรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ค่าโดยสารยังคาราคาซังอยู่ ต้องเอาให้จบ ให้ประชาชนได้ประโยชน์ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเรื่องการเดินทางต้องให้ประชาชนสะดวกขึ้น ในระยะยาวต้องอาจจะพิจารณาเพิ่มระบบฟีดเดอร์ กทม.อาจจะต้องทำเอง เช่น ขออนุญาตเดินรถเมล์เอง เสริมในส่วนที่ไม่มันไม่สะดวก ทำตั๋วร่วม ตั๋ว 1 ใบขึ้นรถเมล์ได้หลายครั้ง เพื่อให้ประชาชนสะดวก ซึ่งรถไฟฟ้าระบบเส้นเลือดใหญ่ รฟม.ทำอยู่แล้ว แต่เส้นเลือดฝอยที่เติมเต็มเป็นหน้าที่ของท้องถิ่นจะต้องมาดู

“กทม.กำกับดูแลรถไฟฟ้าบีทีเอส ปัญหาคือสัญญาที่ผูกพัน ต้องพยายามเจรจาบีทีเอสให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ถ้าดูตามต้นทุนแล้ว ผมว่าค่าโดยสารน่าจะไม่เกิน 35 บาท”

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ระบบรถไฟฟ้าคงต้องดูให้ดีและอย่างละเอียด เพราะเจ้าของใหญ่ คือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ถ้าสามารถทำให้เป็นระบบเดียวกันได้ จะทำให้ระบบตั๋วถูกลงได้ ต้องกลับมาพิจารณาว่ารถไฟฟ้าบีทีเอส กทม.ควรจะดูแลเองไหมหรือส่งคืนกลับให้รฟม. เนื่องจากรฟม.มีผู้เชี่ยวชาญมาก สามารถบริหารจัดการได้ดี คงต้องไปดู แต่เชื่อว่าถ้ามีเจ้าของเดียวแล้วบริหารตั๋ว กทม.จะได้ส่วนแบ่งรายได้กลับคืนมา ทำให้กทม.นำเงินจากส่วนนี้ไปพัฒนาอย่างอื่น ไม่ต้องเป็นหนี้หลายหมื่นล้าน

– แพ้ชนะไม่สำคัญ ชัชชาติ ไม่กลัว

ถามว่ารู้สึกกลัวหรือไม่เมื่อมีคู่แข่งมากขึ้น นายชัชชาติกล่าวว่า ไม่กลัวเลย เพราะไม่ได้แข่งกันเอาเป็นเอาตาย ผมว่าเหมือนแข่งกีฬามากกว่า เป็นการเสนอความคิด แต่ว่าสุดท้ายประชาชนเลือกใครก็คนนั้น ถ้าดร.สุชัชวีร์ได้ก็ดีใจด้วย มีอะไรช่วยได้ผมก็ช่วยกัน เราก็ทำงานได้กับทุกคน เราไม่ได้เป็นนักการเมืองจ๋า

“ผมจริงๆ แล้วแค่อยากหาความหวัง หาทางออกให้คนกรุงเทพฯ ไม่ได้เอาเป็นเอาตาย แพ้ชนะผมว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะนี่คือการแข่งกันเสนอทางออก ใครได้ก็ได้ ดีเสียอีกจะได้ช่วยกัน นโยบายผมใครจะเอาไปใช้ก็ได้ ผมไม่ยึดติดว่าเป็นนโยบายเรา ใช้ก็ได้ ไม่ใช้ก็ได้ ผมมองว่าทุกคนมาด้วยความหวังดี ทำกรุงเทพฯให้ดีขึ้น ไม่ต้องมาด่ากัน แข่งกันเสนอความหวังดีกว่าไปเสนอแบบกลัว” นายชัชชาติ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน