“กมธ.ติดตามการกู้เงิน ก.คลัง” แนะ รบ. ซื้อวัคซีนหลากชนิด ป้องกันโควิดระบาดในอนาคต จัดซื้อ ATK ให้ นักเรียนโรงเรียนรัฐ พร้อมทั้งเยียวยาทุกกลุ่มอาชีพ

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 22 ธ.ค.64 ที่รัฐสภา นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีษะเกษ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายเงินจากการกู้เงินตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 แถลงว่า กมธ. ได้มีการพิจารณาศึกษาแล้วทั้งหมดจำนวน 11 ครั้ง โดยวงเงินกู้ตามพ.ร.ก.แบ่งการใช้จ่ายเป็น 3 แผนงาน

ได้แก่ แผนงานที่ 1 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 จากเดิมวงเงิน 30,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จึงมีการถ่ายโอนวงเงินจากแผนงานที่ 2 จำนวน 20,000 ล้านบาท ทำให้แผนงานที่ 1 มีวงเงินรวมจำนวน 50,000 ล้านบาท โดยมียอดวงเงินอนุมัติเมื่อวันที่ 26 พ.ย.64 จำนวน 41,518 ล้านบาท

นายสิริพงษ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ กมธ. มีข้อสังเกตเกี่ยวกับโครงการเพื่อจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน และการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนภายในประเทศ โดยหน่วยงานภาครัฐควรเตรียมวัคซีนให้มีความหลากหลายเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในอนาคต และควรมีแนวทางในการกระตุ้นให้ประชาชนเข้ามารับการฉีดวัคซีนมากขึ้น

โดยเฉพาะภาคแรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อในอัตราที่สูงกว่าทุกภาคส่วน ตลอดจนลูกจ้างผู้ใช้แรงงานที่เดินทางกลับภูมิลำเนา ควรจัดให้มีสิทธิฉีดวัคซีนที่ภูมิลำเนาได้ โดยไม่ต้องเดินทางกลับมายังสถานประกอบการของนายจ้าง

นอกจากนี้ ควรสร้างความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับสูตรการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันความสับสน และประชาชนในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงควรได้รับวัคซีนสูตรเดียวกันในการฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันเป็นเข็มที่ 3 รวมถึงควรกำหนดระบบการลงทะเบียนให้มีความชัดเจนและมีการประชาสัมพันธ์ในเชิงรุก เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง ตลอดจนควรจัดสรรเงินกู้ตามพ.ร.ก. เพื่อจัดซื้อชุดตรวจ ATK ให้แก่นักเรียนในโรงเรียนของรัฐเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของโรงเรียนและผู้ปกครอง

นายสิริพงศ์ กล่าวอีกว่า แผนงานที่ 2 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ประชาชนในทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จากเดิมวงเงิน 300,000 ล้านบาท ถ่ายโอนให้แก่แผนงานที่ 1 จำนวน 20,000 ล้านบาท คงเหลือวงเงินรวม 280,000 ล้านบาท โดยมียอดวงเงินอนุมัติเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2564 จำนวน 149,599 ล้านบาท

ทั้งนี้ กมธ.มีข้อสังเกตเกี่ยวกับโครงการเยียวยาผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 และโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด โดยให้สำนักงานประกันสังคมดำเนินการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนให้ครอบคลุมทุกจังหวัด เนื่องจากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทุกพื้นที่

นายสิริพงศ์ กล่าวต่อว่า แผนงานที่ 3 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 วงเงิน 170,000 ล้านบาท มียอดวงเงินอนุมัติเมื่อวันที่ 26 พ.ย.2564 จำนวน 82,521 ล้านบาท

โดยกมธ. มีข้อสังเกตเกี่ยวกับโครงการการเพิ่มวงเงินสนับสนุนโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งมีการเบิกจ่ายในระดับที่ต่ำมาก จึงเห็นควรถ่ายโอนวงเงินไปใช้ประโยชน์ในโครงการอื่นๆ ทดแทน สำหรับโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากปี 2565 ควรมีการขยายกรอบวงเงินโครงการดังกล่าว เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้ให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง และควรให้คณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลและเอกชน (กรอ. ) มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางเพื่อเสนอแผนงานและโครงการของหน่วยงานส่วนภูมิภาค

เพื่อให้การพัฒนาของจังหวัดและภูมิภาคต่างๆ เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ส่วนโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs ควรมีแนวทางในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงและธุรกิจกลางคืนผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับธุรกิจสถานบันเทิงและธุรกิจกลางคืน รวมทั้งผู้ประกอบอาชีพในสถานประกอบการออกกำลังกายของเอกชนหรือฟิตเนส ให้สามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ตามปกติต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน