‘เอ้ สุชัชวีร์’ โต้โซเชียล แจงแนวคิดถมเตตระพอด แก้ปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่งกทม. เกิดจากลงที่พื้นที่จริง ยันนิยมใช้ทั่วโลก ย้ำตั้งใจดี ยินดีรับฟังข้อเสนอแนะ

วันที่ 30 ธ.ค.64 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ถึงการลงพื้นที่เขตบางกอกน้อย ว่า วันนี้เป็นการลงพื้นที่พร้อมกับ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคปชป. และประธานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ กทม. และ นายนภาพล จีระกุล ผู้สมัคร ส.ก. เขตบางกอกน้อย เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีน้ำทะลักในช่วงที่ผ่านมา พร้อมกับไปดูวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และพาชมสิ่งดีๆ ในเขตบางกอกน้อยที่หลายคนไม่รู้จัก

เมื่อถามถึงการวางแผนแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนชาวกทม. นายสุชัชวีร์ กล่าวว่า ตนเรียนจบมาทางนี้ เป็นวิศวกรธรณีเทคนิค ซึ่งต้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องดิน เรื่องน้ำ การก่อสร้างใต้ดิน เรื่องการทำเขื่อน การป้องกันน้ำทะลัก น้ำทะเลหนุน น้ำกัดเซาะ เป็นเรื่องที่เรียนมาอยู่แล้ว เพียงแต่ตอนนี้ต้องขอลงพื้นที่เพื่อสำรวจดูว่าปัญหาเกิดจากอะไร

เพราะถือว่ากทม.ฝั่งธนบุรีชั้นใน เขื่อนจะต้องมีความแข็งแรงทนทานพอสมควร แต่ไม่แน่ใจว่าก่อสร้างมานานเท่าใด เนื่องจากกทม.เป็นพื้นที่ที่มีชั้นดินอ่อน หากเสาเข็มลึกในระยะ 15 เมตร จะเหมือนเสาลอยอยู่ในฟองน้ำ ซึ่งเป็นเหตุทำให้อาคารทรุด เมื่อมีระดับน้ำขึ้นลงก็จะทำให้เขื่อนเอียง และเกิดรอยร้าวไปจนถึงเขื่อนแตกหรือมีแรงดันน้ำลอดใต้เขื่อน

นายสุชัชวีร์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในช่วงบ่ายของวันนี้ ตนจะได้เดินทางไปขอคำแนะนำจากอาจารย์สัตวแพทย์เพื่อดูแลปัญหาสุนัขจรจัด ในอดีตมีข่าวเรื่องการฝังชิป ตนรู้สึกเสียดายที่ยังมีชิปที่ไม่ได้ฝังอีกจำนวนมาก หากนำมาใช้ในการดูแลติดตามสุนัขจรจัด ทั้งเรื่องการทำหมันและฉีดยาป้องกันพิษสุนัขบ้า ก็จะทำให้สามารถดูแลได้ทั้งสุนัขและพี่น้องประชาชน เพราะในปีที่ผ่านมาก็ยังประสบปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าอยู่

เมื่อถามถึงแนวความคิดเรื่องการถมเตตระพอด (Tetrapod) ป้องกันน้ำทะเลหนุน และกัดเซาะชายฝั่ง ที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์นั้น นายสุชัชวีร์ กล่าวว่า แนวความคิดดังกล่าวเกิดจากการลงพื้นที่ และการเสนอความคิดนี้ก็เป็นความตั้งใจแก้ปัญหา

อีกทั้งตนได้เรียนจบและทำงานด้านนี้ ที่สำคัญจากการลงพื้นที่มีการพูดคุยกับ 4 ชุมชน พบว่าการที่ กทม. ปักไม้ไผ่ ซึ่งหลังจากเวลาผ่านไป 1-2 ปี แนวไม้ไผ่ดังกล่าวหักพัง และถูกซัดเข้ามาในบ่อกุ้ง บ่อปลา ทำให้ชาวบ้านทั้ง 4 ชุมชนเดือดร้อน

นายสุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า เรื่องการป้องกันน้ำทะเลหนุน และการป้องกันการกัดเซาะนั้นมีปัญหาทั่วโลก และไม่ใช่ว่าต้องมีชายหาดหรือไม่มีชายหาด แต่ขึ้นอยู่กับการออกแบบและวิธีการ สิ่งที่ตนนำเสนอนั้นเป็นแนวทางที่นิยมมากที่สุดผ่านการพิสูจน์มาแล้วทั่วโลก

ที่สำคัญไม่ต้องทำการขนย้ายหินจากธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ แต่สามารถตั้งโรงหล่อใกล้พื้นที่ และเป็นการจ้างงานคนในชุมชน การถมเตตระพอดเป็นที่นิยมมาก ใช้งานง่าย ปัญหาสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าแบบอื่น หากสามารถถมแบบสลับฟันปลา เรือชาวบ้านก็ออกทำประมงได้ และสัตว์น้ำขนาดใหญ่ก็เข้ามาได้

“อยากให้มาดูที่บางขุนเทียน ได้มาฟังชาวบ้านด้วย แล้วจะรู้ว่าพวกเขาทุกข์แสนสาหัสอย่างไร ที่ต้องทำแล้วทำอีกและเป็นปัญหาให้กับพวกเขา หากอยากจะมีโครงสร้างถาวรที่ไม่รกหูรกตา ทำง่ายเสียงบประมาณครั้งเดียว และมีความเป็นสากล สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผมตั้งใจนำเสนอ ทั้งนี้ ขอบคุณผู้ติดตาม และยินดีรับฟังข้อเสนอแนะทุกอย่าง เพื่อไปดำเนินการให้ละเอียดรอบคอบมากขึ้น” นายสุชัชวีร์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน