ก้าวไกล ซัด รัฐบาล เคาะซื้อเครื่องบินขับไล่ ไม่เห็นหัวประชาชน แฉเป็นงบผูกพันกว่า 41,000 ล้าน ชี้ถ้าอยากได้จริง ต้องไปบีบลดงบกลาโหมลงให้ได้

เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2565 นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า แค่เริ่มต้นปีใหม่ 2565 กองทัพไทย ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ก็มีประเด็นมากมายที่ประชาชนต้องหัวเสียและเบื่อหน่าย จากสถานการณ์ข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจตกต่ำ แต่โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ทดแทน F-16 งบประมาณ 13,800 ล้านบาท จำนวน 4 ลำ ยังผ่านมติครม.วาระลับ เมื่อวันที่ 11 ม.ค.จนได้ ทำให้เกิดภาระงบประมาณในปี 2566 จำนวน 2,760 ล้านบาท และในปี 67-69 อีกปีละ 3,680 ล้านบาท

เชื่อว่าการจัดหาจะดำเนินต่อไปอีกจนได้ครบทั้งหมดที่ 12 ลำ เพราะโครงการนี้แบ่งซื้อ 3 ระยะ ครั้งละ 4 ลำในปีงบประมาณต่อๆไป ดังนั้น โครงการนี้มีงบประมาณที่จะต้องใช้ทั้งสิ้น 41,400 ล้านบาท

นายพิจารณ์ กล่าวต่อว่า การจัดซื้ออาวุธดังกล่าวของ ครม. อยู่บนหลักที่ไม่สมเหตุสมผลกับสถานการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตโรคระบาดและเศรษฐกิจ ต้องถามว่างบด้านสาธารณสุข ด้านสวัสดิภาพ สวัสดิการของประชาชน ได้รับการจัดสรรอย่างเหมาะสมและเพียงพอแล้วหรือยัง ครม.มีมติแบบนี้ออกมา ยังเห็นหัวของประชาชนอยู่หรือไม่ ยิ่งขณะนี้รัฐบาลเผชิญปัญหาการจัดเก็บรายได้ ดังนั้น การจัดสรรงบประมาณจะต้องจัดลำดับความสำคัญให้ดี คิดอยู่บนพื้นฐานที่ประชาชนได้ประโยชน์

ในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลตั้งกรอบวงเงินงบที่ 3.185 ล้านล้านบาท ซึ่งคาดการณ์ว่าจะไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้า และจะต้องกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณอีกจำนวนมาก เพราะหากนำการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลปีงบประมาณ 63-64 มาดู จะเห็นว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลพลาดเป้ามาแล้วสองปีติดต่อกัน

ดังนั้น หากกองทัพยืนยันจะขอซื้ออาวุธ ต้องบริหารจัดการภายใต้กรอบงบประมาณของกระทรวงกลาโหมที่ต้องลดลงจากปี 65 อย่างน้อยอีก 10% ให้ได้ หากครม.ไม่ได้ตัดสินใจบนหลักการและเหตุผลลักษณะนี้ คงจะกล่าวโทษการใช้จ่ายงบของกลาโหมไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ เพียงคนเดียวไม่ได้ แต่เป็นความรับผิดชอบต่อบาปกรรมที่กระทำไว้กับประชาชนร่วมกันฐานสมรู้ร่วมคิดทั้งคณะ

นายพิจารณ์ กล่าวอีกว่า ในฐานะที่ตนติดตามงบก้อนนี้มานาน การที่กองทัพเรือยอมถอย ไม่เสนอซื้อเรือดำน้ำในปีงบประมาณ 2566 นั้น ไม่ใช่เรื่องน่ายกย่องหรือต้องขอบคุณใครทั้งนั้น เพราะถึงแม้ไม่ซื้อเรือดำน้ำ แต่สัดส่วนของงบกองทัพเรือหรืองบกลาโหม เมื่อเทียบกับภาพรวมของประเทศ ยังคงเท่าเดิม ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ จึงยังแปลความได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จัดงบประมาณเหมือนไม่มีวิกฤต และไม่ได้ลำดับความสำคัญในการใช้จ่ายงบประมาณเหมือนเดิม

จากเหตุผลที่ถอยการซื้อเรือดำน้ำ เพราะโครงการนี้ถูกสังคมจับจ้อง หากเสนอเข้ามาอาจถูกสภา ตัดลดงบประมาณ จะทำให้งบของกองทัพเรือลดลง เสียโอกาสใช้เงินก้อนนี้ จึงเห็นว่าควรตั้งงบไปที่โครงการอื่นดีกว่า พูดง่ายๆ คือ เอาไปซื้ออย่างอื่นที่ไม่ใช่เรือดำน้ำดีกว่า เพราะน่าจะได้ซื้อมากกว่าดันทุรังขอซื้อเรือดำน้ำ แสดงให้เห็นว่ากองทัพเรือไม่ได้มองที่ความจำเป็น ไม่ได้มีเจตนาลดงบประมาณ เพื่อให้เกิดเม็ดเงินมากขึ้นใช้จ่ายด้านอื่นที่เป็นประโยชน์กับประชาชน โดยเฉพาะงบที่เกี่ยวกับสวัสดิการประชาชน ซึ่งในช่วงวิกฤตนี้ถือเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนมาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน