สำนักเลขาธิการสภาฯ แจงเหตุท่อประปาแตก เป็นท่อระบบรดน้ำต้นไม้ ส่งผลให้น้ำไหลจากชั้น 8 ทะลุใต้ดิน โยนผู้รับเหมารับผิดชอบ ชี้ยังไม่ได้ส่งมอบงาน

เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2565 ที่รัฐสภา ว่าที่ ร.ต.ยุทธนา สำเภาเงิน ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ในฐานะโฆษกประจำสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงกรณีท่อน้ำประปารั่วภายในอาคารรัฐสภา ทำให้มีน้ำไหลท่วมขังบริเวณห้องทำงานบางส่วน ตลอดจนไหลท่วมขังที่ลานจอดรถชั้นใต้ดิน (ชั้น B1) ว่า สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้สั่งการให้ผู้รับจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ ตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว

ทั้งนี้ ได้รับรายงานว่า เหตุดังกล่าวเกิดจาก ข้องอ 90 องศา ชนิดแบบสวมอัด (Compression Fitting) ของท่อระบบรดน้ำต้นไม้แตก ทำให้เกิดน้ำรั่วบริเวณเหนือฝ้าเพดานชั้น 8 และไหลท่วมลงมาบริเวณพื้นและห้องทำงานบางส่วนที่อยู่ชั้น 8 ตลอดจนไหลต่อเนื่องไปยังลานจอดรถชั้นใต้ดิน B1 ภายในอาคารรัฐสภา

ว่าที่ ร.ต.ยุทธนา กล่าวต่อว่า ปกติแล้วการทำงานของระบบรดน้ำต้นไม้ จะมีการกำหนดโปรแกรมให้ปั๊มระบบรดน้ำต้นไม้ทำงานในระหว่างเวลา 06.00 -12.00 น.ของทุกวัน เมื่อระบบทำงานจะเกิดแรงดันน้ำภายในท่อในระดับ 4 Bar โดยชนิดของท่อและข้อต่อที่เลือกใช้ในโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่พร้อมอาคารประกอบนั้น ได้เลือกใช้ท่อและข้อต่อเป็นชนิด HDPE Class PN10 ซึ่งได้ทดสอบการทนแรงดันน้ำได้ถึงระดับ 10 Bar จึงไม่ควรเกิดปัญหาข้องอ 90 องศาชนิดแบบสวมอัดของท่อระบบรดน้ำต้นไม้แตกตามที่ปรากฏ

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ระบบท่อน้ำแตกนั้น อยู่ในระหว่างการตรวจสอบของผู้รับจ้างฯ และจะรายงานผล รวมทั้งวิธีการป้องกันปัญหาให้สำนักงานเลขาฯ ทราบต่อไป

สำนักงานเลขาฯ ขอเรียนว่า การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบนั้น อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ควบคุมงานและมีที่ปรึกษาบริหารโครงการฯ ร่วมดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการก่อสร้าง

“ทั้งนี้ ผู้รับจ้างยังไม่ได้ส่งมอบงานงวดสุดท้าย และคณะกรรมการตรวจการจ้างฯ ยังไม่มีการตรวจรับ ดังนั้น หากมีความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นจากความชำรุดบกพร่องของการก่อสร้างอาคารในระหว่างที่ยังไม่ได้มีการตรวจรับ ผู้รับจ้างฯ ยังคงต้องรับผิดชอบในความเสียหายทั้งหมด” ว่าที่ ร.ต.ยุทธนา กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน