โฆษกทร. โต้ ยุทธพงศ์ กล่าวหาจัดหาอากาศยานไร้คนขับ–โครงการท่าเรือดำน้ำ ยันไม่เกี่ยวบริษัทจัดซื้อเรือดำน้ำ ทุกโครงการโปร่งใส ตรวจสอบได้ ใช้งบคุ้มค่าสูงสุด

เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2565 ที่กองบัญชาการกองทัพเรือ (บก.ทร.) พล.ร.ท.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ กล่าวถึงนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวหากองทัพเรือกรณีการจัดหาอากาศยานไร้คนขับ (UAV) และโครงการท่าเรือดำน้ำว่า ไม่เป็นไปตามที่กล่าวหา ตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว ไม่พบว่าบริษัทที่มายื่นข้อเสนอ UAV มีความเกี่ยวพันกับบริษัทเรือดำน้ำ

ยืนยันว่ากองทัพเรือได้จัดหา UAV ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด มีใช้งานจริงในกองทัพของหลายประเทศ มีประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือในการใช้งานสูง รวมถึงประเด็นครูภาษานั้น ทร.ได้ตรวจพบเองตั้งแต่ต้น และได้สั่งห้ามบุคคลเหล่านั้นเข้าพื้นที่ ตั้งแต่ ธ.ค.2564 โดยขอแยกเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้

1.ประเด็นที่ระบุว่า กองทัพเรือเปลี่ยนแบบ UAV จาก Wing Loong ของประเทศจีน เป็น UAV แบบ Hermes 900 ของประเทศอิสราเอล เนื่องจากปัญหาความไม่โปร่งใสในโครงการจัดหาเรือดำน้ำของจีน โดยบริษัทที่นำ UAV แบบ Hermes 900 เข้ามาอยู่ในเครือข่ายบริษัทนายหน้าของเรือดำน้ำจีนเช่นกันนั้น กองทัพเรือตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว ไม่พบว่าบริษัทที่มายื่นข้อเสนอ UAV มีความเกี่ยวพันกับบริษัทเรือดำน้ำ และขอยืนยันว่ากองทัพเรือได้จัดหา UAV ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข

2.ประเด็นข้อกล่าวหาว่า UAV แบบ Hermes 900 ของอิสราเอล เป็น UAV ที่กองทัพเรือประเทศอื่นไม่เคยใช้งานมาก่อน รวมถึงมีประวัติการตกนั้น UAV ของทุกบริษัทที่ ทร.เชิญชวนยื่นข้อเสนอ มีใช้กันในหลายประเทศ และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ จึงขอให้วางใจว่ากองทัพเรือจะได้รับ UAV ที่ได้มาตรฐานคุ้มค่ากับภาษีของประชาชนมาใช้งาน

ส่วนเรื่องการตกของ UAV นั้น เป็นเรื่องเป็นไปได้ เพราะ UAV หลายประเทศทั้งของอิสราเอล สหรัฐอเมริกา จีน อิตาลี ตุรกี รวมถึง ประเทศอื่นๆ มีประวัติเกิดอุบัติเหตุเหมือนกันหมด ดังนั้น การตกของ UAV อาจไม่ได้เกิดจากความบกพร่องของระบบหรือความผิดปกติของเครื่องยนต์ แต่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น การโดนต่อต้านจากฝ่ายตรงข้าม สภาพอากาศที่แปรปรวน หรือทักษะ หรือประสบการณ์ของผู้บังคับเครื่อง UAV

3.กองทัพเรือขอเรียนว่า การจัดหา UAV ในครั้งนี้ ดำเนินการด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม เป็นไปตามกฎหมาย และปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน มีเอกสารหลักฐานการดำเนินงานอย่างชัดเจน มีขั้นตอน ตอบข้อสงสัยและข้อซักถาม รวมทั้งโครงการนี้ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมการจัดทำ “ข้อตกลงคุณธรรม ประจำปี งป. 65” โดยคณะกรรมการความร่วมมือการป้องกันการทุจริต (ค.ป.ท.) ได้จัดคณะผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นตัวแทนจากภาคประชาชน ร่วมสังเกตและให้คำแนะนำตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดโครงการ

4.ส่วนประเด็นการก่อสร้างท่าจอดเรือดำน้ำและข้อสงสัยที่ว่าผู้แทนบริษัท CSOC ที่เข้ามารับผิดชอบโครงการสร้างท่าจอดเรือดำน้ำ เป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งโดยถูกต้องหรือไม่ กองทัพเรือขอชี้แจงให้ทราบว่า ผู้แทนที่บริษัท CSOC แต่งตั้ง โดยมีเอกสารสัญญาที่ชัดเจน คือนาย Lang Qingxu ซึ่งเป็นผู้บริหารโครงการ และมีนายจักรพงษ์ วงศ์ธนปกรณ์ เป็นวิศวกรโครงการ มีคุณวุฒิวิศวกรโยธาระดับสามัญ

ส่วนภาพที่นายยุทธพงศ์ นำมาเผยแพร่และบอกว่าเป็นครูสอนภาษานั้น กองทัพเรือ ตรวจพบว่า บ.CSOC ได้จ้างบุคคลเหล่านี้จริง โดยทำหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อ ไม่ได้ควบคุมงานทางวิศวกรรม ต่อมาภายหลัง กองทัพเรือตรวจพบด้วยตนเองว่าบุคคลดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตทำงานที่ถูกต้อง จึงไม่อนุญาตให้เข้ามาในพื้นที่โครงการก่อสร้างตั้งแต่ ธ.ค.64 ซึ่ง กองทัพเรือได้ดำเนินการเรียบร้อยก่อนที่จะถูกกล่าวหาใน ก.พ.65

“กองทัพเรือ ขอยืนยันว่าจะเดินหน้าพัฒนากองทัพให้ทันสมัย เข้มแข็ง ปฏิบัติภารกิจในการปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับประชาชนและประเทศชาติ โดยคำนึงถึงการใช้งบประมาณให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด โปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผบ.ทร.”โฆษกกองทัพเรือ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน