ปารีณา ไกรคุปต์ ได้จารึกชื่อเป็นนักการเมืองคนแรกที่ถูกศาลฎีกาพิพากษาว่า มีความผิดฐานฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม

อาจเป็นคนแรกของโลกด้วยมั้ง เพราะไม่มีที่ไหนในโลก ให้ศาลยุติธรรมตัดสินความผิดทางจริยธรรม ไม่ใช่ความผิดอาญา

ศาลไม่ได้ตัดสินว่าปารีณา “รุกป่า” หรือครอบครองที่ ส.ป.ก.โดยมิชอบ ฯลฯ นั่นเป็นคดีอาญา ที่จะขึ้นศาลชั้นต้นอุทธรณ์ฎีกาตามลำดับ ถ้าตัดสินว่าผิด เอ๋ก็ติดคุก (ตกเก้าอี้ ส.ส.อยู่ดี) แต่นี่ ป.ป.ช.พาขึ้นบันไดทางลัด ยื่นศาลตัดสินความผิดจริยธรรมที่ยังไม่ติดคุก แต่ตัดสิทธิทางการเมือง

ศาลชี้ว่า ปารีณาครอบครองที่ดิน ส.ป.ก. 610 ไร่ ซึ่งได้จากพ่อเมื่อปี 2555 ใช้ทำฟาร์มไก่ ทั้งที่ไม่มีสิทธิครอบครองที่ ส.ป.ก. เพราะไม่ใช่คนยากจน มีทรัพย์สิน 100 กว่าล้าน มีที่ดินแปลงอื่นอยู่แล้ว “ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อการเป็น ส.ส. ที่ควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีของประชาชน”

นั่นคือความแตกต่างระหว่างอาญากับจริยธรรม เสื่อมเสีย ไม่เป็นแบบอย่าง ฟังเหมือนเข้าท่าดี คนที่หมั่นไส้รำคาญปารีณาก็เฮฮา “สมน้ำหน้า” แต่อย่าลืมว่าศาลตัดสินจากเรื่องครอบครองที่ดิน ไม่ได้ตัดสินจากบทบาททางการเมือง

ถามจริง ชาวบ้านทั่วไปตัดสินจริยธรรมปารีณาได้ไหม ได้สิ พฤติกรรมเสื่อมเสีย ไม่เป็นแบบอย่าง ฯลฯ ชาวบ้านทั่วไปก็ตัดสินได้ว่าไม่เหมาะสม แต่นั่นเป็นความเห็น เป็นโลกวัชชะ เป็นเรื่องนานาจิตตัง หรือบางครั้งก็ดราม่า ซึ่งแตกต่างกันได้

การตัดสินจริยธรรมจึงเป็นเรื่องทางสังคม หรือทางการเมือง เช่นถ้าเป็น ส.ส.ก็ไม่ได้รับเลือกตั้ง ถ้าเป็นดาราก็เสื่อมความนิยม ความเหมาะสมไม่เหมาะสมเป็นนามธรรม ไม่ใช่เรื่องที่จะตั้งใคร 7 คน 9 คน มานั่งบัลลังก์ชี้ขาดแล้วเป็นที่ยอมรับของทุกคน ไม่เหมือนการตัดสินทางกฎหมายซึ่งใช้พยานหลักฐาน เช่นบุกรุกป่า ถ้าพิสูจน์ชัดว่าผิดก็เป็นที่ยุติ เถียงไม่ได้

การที่รัฐธรรมนูญ 2560 ให้ศาลฎีกามาตัดสินจริยธรรมนักการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่ง จึงผิดฝาผิดตัวตั้งแต่ต้น แม้จะเริ่มด้วยคดีปารีณา ซึ่งสังคมเห็นพ้องเยอะ แต่ถ้าเป็นคดีที่สังคมมีความเห็นก้ำกึ่ง ก็จะเกิดผลสะท้อนเป็นดาบสองคม

โดยเฉพาะนักการเมืองซึ่งมาจากเลือกตั้ง มีคนรักคนชังจำนวนมาก การพ้นตำแหน่งต้องมาจาก หนึ่ง พฤติกรรมอื้อฉาวจนประชาชนไม่เลือก สอง ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าทำผิดติดคุก

นั่นคืออำนาจตุลาการต้องจำกัดเฉพาะตัดสินทางกฎหมาย อย่าให้ผู้พิพากษาตัดสินความเหมาะสม จริยธรรม ซึ่งมีคนเห็นด้วยเห็นต่างเยอะ

ศาลยุติธรรมไม่ใช่ศาลจริยธรรม ระบอบประชาธิปไตยที่แยกอำนาจ 3 ฝ่าย ไม่ได้กำหนดให้ผู้พิพากษาต้องมีศีลธรรมจรรยาเหนือปุถุชน ผู้พิพากษาก็มีรักโลภโกรธหลง สุคติอคติ เพียงแต่เมื่อขึ้นพิจารณาคดีต้องอยู่ในกรอบกระบวนการ พิสูจน์พยานหลักฐาน อธิบายเหตุผลทางกฎหมาย ในคำพิพากษาซึ่งเปิดเผยแพร่หลาย และต้องวิพากษ์วิจารณ์ได้

อันที่จริง การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือ Impeachment เป็นหลักสากล ภายใต้กรอบประชาธิปไตย จะถอดถอนผู้มาจากเลือกตั้งต้องใช้อำนาจจากเลือกตั้ง เช่น วุฒิสภาลงมติถอดถอนประธานาธิบดี ศาลไม่เกี่ยว รัฐธรรมนูญ 2540 ก็ให้วุฒิสภาที่มาจากเลือกตั้งลงมติ 3 ใน 5 ถอดถอนนายกฯ ประธานสภา ประธานศาลฎีกา ไปจนองค์กรอิสระ แต่ไม่เคยทำสำเร็จ เพราะไม่สามารถหาฉันทามติ แม้ในรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ ส.ว.เลือกตั้งเหลือเพียงกึ่งหนึ่ง (เพิ่งมาสำเร็จตอนถอดถอนยิ่งลักษณ์ โดยใช้ สนช.ฝักถั่วรัฐประหารตั้ง ลงมติแทน ส.ว.)

ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มุ่งจำกัดอำนาจเลือกตั้งของประชาชน จึงหันไปโยงอำนาจศาล ที่สังคมไทยมองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มาตัดสินจริยธรรม โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญองค์กรอิสระ ยกร่างมาตรฐานจริยธรรม ซึ่งพิกลตั้งแต่ต้น เพราะจริยธรรมของศาลองค์กรอิสระควรเข้มงวดกว่านักการเมือง
ว่ากันจริงๆ เรื่องนี้ถ้าให้ผู้พิพากษาทั้งประเทศโหวต เห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้ศาลฎีกาตัดสินจริยธรรมนักการเมือง เสียงข้างมากอาจไม่เห็นด้วย เพราะผู้พิพากษาที่มองการณ์ไกล น่าจะเห็นว่าไม่ใช่อำนาจหน้าที่ศาล และเป็นดาบสองคม

ถามจริง ในบรรดาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ใครทำผิดจริยธรรมมากที่สุด รัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ ตั้งตนเป็นกฎหมาย แล้วบอกให้ประชาชนเคารพกฎหมาย ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตั้ง 250 ส.ว.มาโหวตตัวเองสืบทอดอำนาจ ยังไม่นับกิริยามารยาท ด่ากราด ทวงบุญคุณ แต่ไม่ยักถอดถอนได้

ผู้รักประชาธิปไตยไม่ควรดีใจที่ปารีณาพ้น ส.ส.เพราะความผิดจริยธรรม เช่นเดียวกับสิระ พ้น ส.ส.เพราะคดีความเมื่อ 30 ปีก่อน (ซึ่งหาคำพิพากษาไม่เจอด้วยซ้ำ) หรือ กปปส.กลายเป็นอดีต ส.ส.เพียงเพราะศาลไม่ให้ประกันนอนห้องขัง 2 คืน

มองเผินๆ กลไกรัฐธรรมนูญ 2560 ต่างจาก 2550 เพราะเล่นงานทุกฝ่ายไม่ใช่พวกทักษิณเท่านั้น แต่มันมาจากหลักการวิบัติ ทำลายอำนาจเลือกตั้งของประชาชน กำหนดคุณสมบัติจุกจิก ให้จ้องจับผิด ปลดคนที่ประชาชนเลือกมาให้พ้นตำแหน่งได้ง่ายๆ ยุบพรรคตัดสิทธิได้ง่ายๆ แจกใบส้มใบแดงได้ง่ายๆ และย้อนกลับได้หมด เหมือน กปปส.ตกเก้าอี้ง่ายๆ รังสิมันต์ โรม ก็เกือบไปเพียงแค่โดนหมายจับหมิ่นประมาท

อย่ายอมรับการสถาปนาอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ที่อยู่เหนือระบอบถ่วงดุลอำนาจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน