เปิด 8 ข้อเรียกร้อง แรงงานยื่น บิ๊กตู่ ผู้นำกรรมกรแตกคอปรับค่าแรง 492 บาท คสรท.ยันปรับเพิ่มได้ ชี้ถ้าเทียบเปอร์เซ็นต์ ขึ้นน้อยกว่ายุครัฐบาลยิ่งลักษณ์

เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2565 นายสุชาติ ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแห่งชาติ ในฐานะประธานการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2565 เปิดเผยว่า ในการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติปีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธาน รับข้อเรียกร้องของของ 15 สภาองค์การลูกจ้าง และผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องประชุมในกระทรวงแรงงาน โดยข้อเรียกร้องมีทั้งหมด 8 ข้อ

1.ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในสมาคมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยเรื่องสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง 2.ให้รัฐบาลเร่งนำร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับแก้ไขเข้าสู่รัฐสภาเร่งด่วน

3.ขยายวงเงินเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้ที่ลูกจ้างได้รับก้อนสุดท้าย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 4.ให้รัฐบาลเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน อาทิ หามาตรการให้สถานประกอบการที่รับเหมาช่วงปฎิบัติตามกฏหมาย 5.ปฎิรูปแก้ไขประกันสังคม อาทิ ปรับฐานการรับเงินบำนาญ ขยายอายุผู้ประกันตนจาก 15-60 ปีเป็น 15-70 ปี

6.เร่งออกกฎหมายคุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบ 7.จัดระบบกองทุนสวัสดิการเพื่อเลี้ยงชีพให้กับลูกจ้างรัฐวิสาหกิจให้เทียบเคียงกับระบบสวัสดิการภาคราชการ และ 8.ให้แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้อง

ผู้สื่อข่าวถามว่าทำไมข้อเรียกร้องถึงไม่มีเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ นายสุชาติกล่าวว่า ต้องเข้าใจว่า การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำที่ใช้ดัชนีผู้บริโภคเป็นหลักในการพิจารณานั้น ผิดมาตั้งแต่ต้น เพราะคนต่างจังหวัดและคนในเมือง ซื้อข้าวของในราคาที่แตกต่างกัน ขณะเดียวกันมีคณะกรรมการไตรภาคีเป็นผู้พิจารณาอยู่แล้ว แม้แต่นายกฯก็ไม่สามารถสั่งการให้ปรับค่าจ้างได้ จึงต้องรอการพิจารณาของไตรภาคีค่าจ้าง

โดยหลักแล้ว ปีนี้ควรมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ แต่ที่พูดถึงการปรับค่าจ้างเป็นวันละ 400 กว่าบาทนั้น เป็นไปไม่ได้ เอาให้เพิ่มขึ้นแค่ 10 บาทก็บุญแล้ว ใครก็พูดได้ แต่ความเป็นจริงคนละเรื่องกัน หากขึ้นพรวดพราดขนาดนั้น นายจ้างเขาอยู่ไม่ได้

ด้านนายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวว่า ในปีนี้ คสรท.ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ร่วมกันจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ โดยเริ่มขบวนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและไปยื่นหนังสือถึงนายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล ข้อเรียกร้องหลักคือ ขอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 492 บาทสำหรับบุคคล แต่สำหรับครอบครัว ให้ปรับเป็นวันละ 712 บาท นอกจากนี้ขอให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าให้ได้เพราะเป็นปัญหากับลูกจ้างมาก เนื่องจากราคาข้าวของปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อถามว่าตัวเลขขอปรับเป็นวันละ 492 บาทถูกปฎิเสธจากนายจ้าง และผู้นำแรงงานบางส่วนก็ไม่เห็นด้วย นายชาลีกล่าวว่า เป็นธรรมดาที่นายจ้างไม่เห็นด้วย แต่สำหรับผู้นำแรงงาน จริงๆแล้วแค่อยู่เฉยๆ และไม่ปฎิเสธจะดีกว่า เพราะสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปรับค่าจ้างให้เท่ากันทั่วประเทศ 300 บาท ในตอนแรกที่ คสรท.ขอให้ปรับค่าจ้างเป็นวันละ 360 บาทจากตอนนั้นค่าจ้างวันละกว่า 200 บาท ใครๆก็บอกว่าเป็นไปไม่ได้ และทำให้นายจ้างถอนการลงทุน แต่สุดท้ายเมื่อมีการปรับค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท ก็ไม่เห็นนายจ้างหนีหายไปไหน เพราะรัฐบาลช่วยในเรื่องการลดภาษี

“ครั้งนี้ถ้าจะปรับจากวันละ 236 บาท เป็น 492 บาท เพิ่มขึ้นตามสภาพความเป็นจริง 30% ซึ่งเป็นตัวเลขที่เราได้สำรวจค่าครองชีพและความจำเป็นต่างๆ ของลูกจ้างแล้ว ยังน้อยกว่าการปรับขึ้นครั้งนั้นอีก ในวันนั้นถ้าเราไม่พูดถึงตัวเลข 300 บาทก็ยังไม่ได้” นายชาลี กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน