รมว.แรงงาน แจง ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ใช้สูตร “ค่าจ้าง-เงินเฟ้อ-ค่าครองชีพ” ให้ทุกฝ่ายอยู่ได้ ยัน ไม่ได้เข้าข้างนายจ้าง ขออย่าใช้อารมณ์ ให้ใช้หลักความเป็นจริง

วันที่ 1 พ.ค.2565 ที่กระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน แถลงถึงข้อเรียกร้องในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เท่ากันทั้งประเทศอัตรา 492 บาท ว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำมีปลัดกระทรวง เป็นประธาน ที่ให้มีการพิจารณาประกอบการทั้งภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และอัตราค่าแรงในปัจจุบัน ซึ่งแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน ส่วนกรณีที่เสนอให้ปรับ 492 บาท เท่ากันทั้งประเทศ ซึ่งเป็นการคิดแบบตรรกะที่ตนไม่เข้าใจ สมมติเช่าบ้านอยู่ที่ลำปาง 2,000 บาท แต่ค่าเช่าที่ชลบุรี กทม. เป็นอีกราคาหนึ่ง ดังนั้นจะต้องเอาค่าครองชีพของแต่ละพื้นที่มาคำนวณด้วย

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ตนเข้าใจทุกอย่าง เพราะเคยเป็นลูกจ้างอยู่ในมาตรา 33 มาก่อน แต่ข้อเรียกร้องต้องสร้างสมดุลทั้งสองฝ่าย และ 2 ปีของการระบาดโควิด-19 นายจ้างบาดเจ็บเท่าไหร่ เจ็บจนไม่รู้ว่าจะเอาเงินที่ไหนมาประคอง ถ้าจะขึ้นเงินเดือนจริง ๆ 48 เปอร์เซ็นต์ ไหวหรือไม่ เราต้องเอาค่าแรงขั้นต่ำ ค่าครองชีพ ภาวะเงินเฟ้อมาเป็นตัวพิจารณาประกอบกันด้วย

นายสุชาติ กล่าวอีกว่า โดยมาตรฐานทั่วโลกใช้สูตรนี้หมด แต่จะปรับเท่าไหร่ให้นายจ้างอยู่ได้ ลูกจ้างพอไปได้ และที่มาเรียกร้องพอถามว่าได้ค่าแรงเท่าไหร่ ก็พบว่าได้มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำหลายเท่า แต่ที่เขากลัวว่าการปรับฐานค่าจ้าง จะกระทบหมดเป็นลูกโซ่ และวันนี้แรงงานไทยมีทักษะฝีมือ ไม่มีใครไปทำงานกรรมกรก่อสร้าง ได้ค่าแรงขั้นต่ำ พี่น้องเราทำงานในออฟฟิศ

“เราไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะปรับตามข้อเสนอของหลายคน เพราะมองว่ามีเรื่องค่าครองชีพ และภาวะเงินเฟ้อ จากกรณีสงครามรัสเซียและยูเครนเพิ่มเข้ามา แต่ต้องให้ความเป็นธรรม กับทุกฝ่าย หลายคนกลัวว่าจะเข้าข้างนายจ้าง ซึ่งไม่ใช่ หากนายจ้างอยู่ไม่ได้ ปิดกิจการไป จะเอาเงินจากตรงไหนไปจ่าย เงินกองทุนว่างงานของประกันสังคมจะเพียงพอหรือไม่ ฉะนั้นวันนี้ต้องไปให้ได้ ทุกคนอยู่ได้ ขออย่าใช้อารมณ์ ให้ใช้หลักการความเป็นจริง” นายสุชาติ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน