ตำรวจสภาฯ ไม่พอใจเครื่องแบบใหม่ ยื่น “ชวน-ฝ่ายค้าน” คัดค้าน ยันส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ด้าน “ขจิตร” ซัด คนสั่งไม่ได้ใส่ คนใส่ไม่เต็มใจ

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 22 มิ.ย. 2565 ที่รัฐสภา ตัวแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจสภาผู้แทนราษฎร และตำรวจวุฒิสภา ประมาณ 60 นาย รวมตัวยื่นหนังสือถึง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร และนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย และนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย และอดีตรองประธานสภาฯ เพื่อคัดค้านการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบตำรวจรัฐสภา

นายขจิตร ให้สัมภาษณ์กรณีประกาศการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบตำรวจรัฐสภา ว่า ตนได้รับเรื่องร้องเรียนจากตำรวจรัฐสภาจำนวนมากที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าเครื่องแบบเดิมที่ใส่อยู่มีความเหมาะสมแล้ว ถึงแม้จะมีลักษณะคล้ายกับตำรวจทั้งประเทศ แต่ก็มองว่าถ้าเหมือนแล้วมีข้อดี จะแตกต่างไปทำไม จึงไม่จำเป็นต้องไปเปลืองงบประมาณกว่า 2 ล้านบาท

ตนเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต้องได้รับความยินยอมและสมัครใจจากผู้ที่ต้องปฏิบัติงานด้วย ในเมื่อเขาไม่ต้องการเครื่องแบบใหม่ บรรดาผู้บริหาร เช่น ผู้อำนวยการสำนักหรือผู้บังคับบัญชา จะไปบังคับเขาเพื่ออะไร หรือมีประโยชน์อื่นใดในการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบครั้งนี้

“คนที่ต้องใส่ชุดคือเจ้าหน้าที่ตำรวจสภาฯ ในเมื่อเขามีความสุข คนที่ไม่ได้ใส่อย่างผู้บริหารจะไปเดือดร้อนอะไรกับเขา ไม่ว่าคำสั่งใดก็ตามที่ออกมา ต้องคิดถึงใจคนปฏิบัติด้วย ไม่ใช่คิดว่าเขาเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาจะสั่งอะไรก็ได้ การบริหารงานมีเป้าหมายเพื่อคุณภาพและมาตรฐานของงานที่สูงขึ้น ไม่ใช่มายุ่งเรื่องเครื่องแบบ” นายขจิตร กล่าว

เมื่อถามว่า มีการระบุว่าตำรวจสภาฯ ส่วนใหญ่ไม่ต้องการเปลี่ยนเครื่องแบบ นายขจิตร กล่าวว่า เท่าที่มาร้องเรียนกับตน ตำรวจรัฐสภาส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ถ้าผู้บริหารอ้างว่ามีคนเห็นด้วยกับท่าน ก็ขอให้เปิดแบบสอบถามที่ได้สอบถามความเห็นของตำรวจรัฐสภาออกมา เพราะตนรู้มาว่า มีคนไปขอแบบสอบถามดังกล่าวมาตรวจสอบ แต่ก็ยังไม่ได้รับการเปิดเผยใดๆ

ผมเสนอทางออก ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสายวิชาการที่เพิ่งรับเข้ามาให้ใส่ชุดเครื่องแบบใหม่ ส่วนคนเก่าถ้าเขาไม่เต็มใจที่จะเปลี่ยนก็อย่าไปบังคับเขา หรือใครเขาใส่ทั้งสองแบบไม่ต้องยกเลิกของเก่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ต้องทำให้ยากเลย และความจริงแล้วผมเห็นว่าตำรวจรัฐสภา ควรเป็นเอกเทศ หรือเป็นหมวด เป็นสายบังคับบัญชาของตนเอง ซึ่งควรจะได้รับการสนับสนุนแบบนั้น” นายขจิตร กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบถามตัวแทนตำรวจรัฐสภาถึงการออกแบบเครื่องแต่งกายแบบใหม่ พบข้อห่วงใยเรื่องการออกแบบชุดที่ไม่อิงกลุ่มหรือเกณฑ์ เช่น ตำรวจศาล หรือองค์กรอิสระอื่น อีกทั้งชุดตำรวจรัฐสภาก็เป็นต้นแบบให้กับองค์กรอื่น ซึ่งมีการมาศึกษาดูงานตลอดที่ผ่านมา และแบบสอบถามที่ให้ถามตำรวจรัฐสภาถึง 2 ครั้ง ผลออกมาว่า ส่วนใหญ่ 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบใหม่ แต่สิ่งที่รายงานต่อนายชวนกลับสวนทางกัน ทำให้ตำรวจรัฐสภาต้องออกมาคัดค้าน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน