สมัยก่อน พวกอนุรักษนิยมสร้างวาทกรรม คณะราษฎร “ชิงสุกก่อนห่าม” สมัยนี้ คนรุ่นใหม่แม้ยกย่องก็ไม่วายบ่นคณะราษฎร “ไม่สะเด็ดน้ำ”

นั่นสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางความคิดวัฒนธรรม อย่างถอนรากถอนโคน ในช่วงเวลาไม่กี่ปี 8 ปีหลังรัฐประหาร 5 ปีใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งหลังประกาศใช้ไม่กี่วัน หมุดคณะราษฎรหาย

ไม่ใช่ความบังเอิญที่คณะราษฎร “เกิดใหม่” หลังถูกโค่นล้มไปแล้ว 75 ปี มันเป็นเพราะระบอบอำนาจย้อนยุค สวนทางสังคมไทยที่เปลี่ยนไปจาก 2475 เกือบทศวรรษ ก็เลยปลุกผีที่ตัวเองกลัว ให้กลับมาเป็นราษฎรรุ่นใหม่ ที่ยิ่งขัดขวางยิ่งแผ่ขยายยิ่งต่อต้าน

แม้วันนี้ดูเหมือนอำนาจกดปราบได้ แต่ไม่สามารถแก้วิกฤต ไม่สามารถสร้างความเชื่อถือศรัทธา พลังที่ถูกกดไว้กระจายออกไปรอบด้าน สร้างความเปลี่ยนแปลงในมุมต่างๆ เดี๋ยวสุกงอมจะกลับมา

2475 ชิงสุกก่อนห่าม? หรือไม่สะเด็ดน้ำ? น่าจะมีคำตอบเดียวกันคือความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดจากเงื่อนไขทางภววิสัย ความพยายามทางอัตวิสัยสำเร็จได้ใต้เงื่อนไขที่พร้อม

คณะราษฎรคือนายทหารและข้าราชการหัวใหม่ที่มาจากสามัญชน ได้ทุนไปเรียนเมืองนอกสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลก แล้วกลับมาด้วยความกระตือรือร้นจะสร้างชาติ แต่หลังรัชสมัยของพระองค์ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ไม่ได้เข้มแข็งมีประสิทธิภาพเหมือนเก่า รัฐบาลที่บริหารโดยพระบรมวงศานุวงศ์ (ซึ่งรัชกาลที่ 7 เกรงใจ) ไม่สามารถรับมือกับเศรษฐกิจโลกตกต่ำ The Great Depression

พูดอีกอย่าง นายทหารและข้าราชการหัวใหม่สมัยนั้น ยกย่องพระปรีชาสามารถรัชกาลที่ 5 แต่เกิดภาพเปรียบเทียบในยุคถัดๆ มา จนเห็นว่าต้องเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเสียใหม่

ไม่มีใครพร้อมสมบูรณ์หรอก แต่มันเกิดเงื่อนไขต้องตัดสินใจ ภายใต้เศรษฐกิจย่ำแย่ ราคาข้าวตกต่ำ ชาวนาเสียที่ดิน คนงานถูกเลิกจ้าง แก้ปัญหาด้วยการเพิ่มภาษี ลดงบประมาณโดยปลดข้าราชการ (ซึ่งก็มีระบอบอภิสิทธิ์เลือกปฏิบัติ) ที่จ่ออยู่นั้นคือหายนะ

ขณะเดียวกัน คณะราษฎรก็ไม่สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างดังใจ กลุ่มผู้ร่วมมือเปลี่ยนแปลงก็มีความคิดหลากหลาย ความจำเป็นต้องสู้รบปกป้องระบอบ ทำให้ฝ่ายทหารขึ้นมามีอำนาจ เมื่อเกิดสงครามโลก ข้าวยากหมากแพง ซ้ำด้วยกรณีสวรรคต ก็เกิดรัฐประหาร 2490

คณะราษฎรจึงเป็นผู้วาง “อิฐก้อนแรก” แต่ไม่สามารถ “สะเด็ดน้ำ” ภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดสังคมไทย

โลกใบนี้ไม่มีฟ้าสีทองแบบตายนิ่ง ความขัดแย้งใหม่ๆ เกิดให้ต้องต่อสู้กันทุกยุคสมัย ในคนแต่ละรุ่น เช่นยุคสฤษดิ์ถนอมถึง 14 ตุลา ประชาธิปไตยต่อสู้กับเผด็จการทหาร ไล่จักรพรรดินิยมอเมริกา (แต่ยุคปัจจุบัน พวกที่เคยต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมกลับเกลียดชังอเมริกาจนเชียร์รัสเซียบุกยูเครน)

พฤษภา 35 เบ่งบารมีประชาธิปไตยใต้อำนาจนำ ซึ่งดูเหมือนเหมาะกับยุคนั้น แต่ก่อให้เกิดสลิ่มที่ไม่ยอมรับอำนาจจากเลือกตั้งกระทั่งหนุนรัฐประหาร 49, 57 วิกฤตเศรษฐกิจ 40 แม้ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ก็เกิดกระแสแอนตี้โลกาภิวัตน์ ที่บานเป็นต่อต้าน “ประชาธิปไตยฝรั่ง”

ความขัดแย้งในสังคมซับซ้อนขึ้น ด้วยความเหลื่อมล้ำจากเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ที่แผ่ขยายกลืนกินโลกไร้พรมแดน แต่แทนที่จะจัดการด้วยประชาธิปไตย กลับต่อต้านด้วยรัฐอำนาจนิยม รัฐศาสนา เผด็จการครึ่งใบ ที่ปิดกั้นเสรีภาพประชาชน แล้วอ้างว่ามีประสิทธิภาพมากกว่า

อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศไทย รัฐไทยใต้อุดมการณ์อนุรักษนิยม ซึ่งปัจจุบันเป็นรัฐราชการรวมศูนย์ผสมพันธุ์นักการเมืองยี้ (ที่ใช้เลขาฯ สมช.แก้เศรษฐกิจ โฆษณาเตาอั้งโล่ลดพลังงาน) เป็นรัฐล้าหลังไร้ประสิทธิภาพ ห่างไกลจนไม่สามารถเทียบได้กับ จีน สิงคโปร์ อาจจะดีกว่าศรีลังกาหน่อยเดียว

ความไร้ประสิทธิภาพ ใหญ่โตเทอะทะ สิ้นเปลือง ของรัฐราชการ นี่แหละเป็นจุดอ่อนที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ครั้งใหม่ ครั้งนี้ยังผนวก “นักการเมืองทราม” เกลียดนักการเมืองจากเลือกตั้ง สุดท้ายก็เอายี้มาค้ำระบอบ

การกดปราบด้วยอำนาจกฎหมาย ยิ่งทำให้กระบวนการยุติธรรมเสื่อม กฎหมายกลายเป็นอำนาจที่ไร้เหตุผล ทำให้คนกลัวแต่ไม่เหลือความเชื่อถือ ผู้ใช้กฎหมายก็ถูกหยามด้อยศักดิ์ศรี

การต่อสู้ในยุคนี้สามารถกระจายออกไปรอบด้าน ไม่เพียงแค่ปะทะทางตรง เช่น รณรงค์กระจายอำนาจหลังชัชชาติได้ชัยชนะ “เลือกตั้งผู้ว่าฯ” “ปลดล็อกท้องถิ่น” กระแทกรัฐราชการรวมศูนย์ตรงๆ (จนส่งตำรวจไปนั่งฟังปิยบุตร)

ขณะที่ชัชชาติก็ “ข่ม” ฝ่ายอำนาจด้วยท่าทีอ่อนน้อม ไม่ชน แต่ทำจริง ได้ใจคน

90 ปีผ่านไป วิถีต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหลากหลายขึ้นจากสมัยคณะราษฎร ปัจจุบัน เราอยู่ในยุคเรียกร้องสิทธิเท่าเทียม เคียงบ่าเคียงไหล่ ทั้งชายหญิง LGBTQ เดือนมิถุนายนจัดทั้ง “วันชาติ” และงานไพรด์ ถกเถียงเรื่องสมรสเท่าเทียม เสรีภาพทางศาสนา ไปจนต่อต้าน SOTUS เครื่องแบบ ทรงผม ฯลฯ นี่เป็นการรื้อล้างความคิดวัฒนธรรม ควบไปกับเซาะกร่อนบ่อนทำลายรัฐล้าหลัง ทำให้อำนาจศรัทธาเป็นผู้ร้ายหรือตัวตลกในคอมเมนต์ตามสำนักข่าวต่างๆ

ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เลือกตั้ง อาจจะแลนด์สไลด์หรือไม่ก็ได้ เพราะต้องสู้กับการเมืองเก่า แต่การปฏิวัติความคิดจากรอบข้าง อำนาจที่คุมอยู่ด้านบนไม่มีทางยับยั้งได้

ในทางความคิดนั้นพ่ายแพ้แล้ว เหลือแต่คนถือปืนถือกฎหมายบังคับไว้ให้หวาดกลัว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน