‘บิ๊กป้อม’ ถกกรรมการสิ่งแวดล้อม สร้างความมั่นคงพลังงานในเขตนครหลวง เร่งแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งให้ประชาชน

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 9 ก.ย.ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Cisco Webex Meetings โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รองประธานกรรมการ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรรมการและเลขานุการ นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

โดยที่ประชุมรับทราบ ผลการประชุมรัฐภาคี อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท สมัยที่ 4 ผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด สมัยที่ 15 การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาร็อตเตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้าสำหรับสารเคมีอันตรายและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค้าระหว่างประเทศ สมัยที่ 10 และการประชุมภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยมลพิษที่ตกค้างยาวนาน สมัยที่ 10 และความคืบหน้าการดำเนินงาน ตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กรณีกำแพงริมชายฝั่ง ติดแนวชายฝั่ง ความยาวตั้งแต่ 200 เมตรขึ้นไป

จากนั้นที่ประชุม ได้ร่วมพิจารณาและให้ความเห็นชอบ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำกอน อำเภอเชียงกลาง จว.น่าน โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน และโครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ระยะที่ 1 และเห็นชอบ การกำหนดมาตรฐานคุณภาพตะกอนดินในแหล่งน้ำผิวดิน เพื่อปกป้องสัตว์หน้าดิน สัตว์น้ำและมนุษย์ ผ่านห่วงโซ่อาหาร พร้อมกำชับให้เจ้าของโครงการต้องดำเนินการตามมาตรการฯ ที่กำหนดในรายงานอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งรับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการ ก่อนนำเสนอต่อ ครม.ตามขั้นตอนต่อไป

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ความสำคัญร่วมกันเร่งพิจารณาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในโครงการสำคัญๆที่มีผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ตกค้างให้เร็วขึ้นและเป็นไปด้วยความรอบคอบ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งกำชับ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งปลูกป่าทดแทนพื้นที่ที่เสียไปให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ให้การชดเชยเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการต่างๆของรัฐให้ครบถ้วน สำหรับโครงการที่ผ่าน EIA แล้ว ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์ตามแผนที่กำหนด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน