เมื่อวันที่ 28 ม.ค. นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. กล่าวว่า การประชุมกรธ.ในวันที่ 30 ม.ค.นี้ คงจะหารือเบื้องต้นถึงผลการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และพ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ว่ามีประเด็นใดบ้างที่อาจขัดหรือไม่น่าจะชอบตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แล้วจึงตั้งข้อสังเกตไปเพื่อตั้งกมธ.ร่วม 3 ฝ่าย แต่คงยังไม่ได้บทสรุปในทันที เพราะต้องรอร่างกฎหมายฉบับเต็มที่มีการปรับแก้แล้วอีกครั้ง เนื่องจากการร่วมเป็นกมธ. การอภิปรายอาจฟังไม่ครบถ้วนชัดเจน

นายชาติชาย กล่าวต่อว่า ส่วนตัวในฐานะกมธ.พิจารณาร่างกฎหมายส.ว. มีประเด็นข้อสังเกตจากการปรับแก้คือ การแยกผู้สมัครส.ว.เป็น 2 ประเภทคือ 1.นิติบุคคลส่ง 2.อิสระมาเอง แล้วแบ่งการเลือกส.ว.เป็น 2 กล่อง กล่องละ 100 คน ตาม 2 ประเภทนั้น จะขัดกับมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุให้ต้องเลือกรวมกันหมดทั้ง 200 คน หรือไม่

นายชาติชาย กล่าวว่า ส่วนการลดกลุ่มจาก 20 กลุ่มเหลือ 10 กลุ่มนั้น ไม่มีกลุ่มไหนหายไป เพียงแต่ลด 10 กลุ่มไปรวมกันให้เหลือเพียง 10 กลุ่ม คงไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่ผลคือกลุ่มไหนที่ผู้สมัครน้อย โอกาสได้รับเลือกก็จะน้อยลง เพราะสัดส่วนที่มาสมัครมีจำนวนน้อย สำหรับการเปลี่ยนวิธีการจับสลากเลือกไขว้แบบแบ่งกลุ่มที่กรธ.เสนอ แล้วกมธ.เสียงข้างมากปรับแก้ให้ใช้วิธีเลือกกันเองภายในกลุ่มนั้น ตัวรัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้ให้ ไม่ได้กำหนดตายตัวให้ต้องเลือกไขว้

เมื่อถามว่าฝ่ายการเมืองดักคอว่าจะมีการตั้งกมธ.ร่วม 3 ฝ่าย เพื่อแก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. แล้วสนช.อาจลงมติ 2 ใน 3 โหวตคว่ำเพื่อยื้อการเลือกตั้งอีก นายชาติชาย กล่าวว่า ตนไม่สามารถรู้ได้ ไม่อยู่ในฐานะที่จะตอบได้ เพราะไม่ได้อยู่วงใน ถ้าหากจะมองเรื่องยื้อ มันก็มีกลเม็ดเด็ดพรายอีกเยอะ ไม่ว่าจะเป็นหลังผ่านความเห็นชอบจากกมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ร่างกฎหมายไปอยู่ในมือนายกฯแล้ว สนช. 1 ใน 10 ยังมีเวลา 5 วัน เข้าชื่อเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ตามมาตรา 148 หรือหากกฎหมายประกาศใช้แล้ว ก็ยังสามารถร้องศาลรัฐธรรมนูญตีความได้อีก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน