วันที่ 27 ก.พ. ที่รัฐสภา นายสมชาย แสวงการ โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ร่วม 3 ฝ่ายพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่า กมธ.ร่วมได้สรุปการพิจารณาทบทวนร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.เสร็จแล้ว มีทั้งประเด็นที่คงความเห็นตามที่ประชุมสนช.เห็นชอบ และมีการปรับแก้ตามข้อท้วงติงของกรธ.และกกต. โดยในส่วนที่มีการปรับแก้คือ การตัดทิ้งการแสดงมหรสพและงานรื่นเริงระหว่างการหาเสียง ตามที่กรธ.โต้แย้ง เพราะเห็นว่า อาจเกิดการตีความเรื่องค่าใช้จ่ายหาเสียง เป็นช่องว่างเกิดการฟ้องร้องตามมามาก

นอกจากนี้ยังปรับช่วงเวลาลงคะแนนเลือกตั้งจากเวลา 07.00-17.00 น. เป็น 08.00-17.00 น. รวมถึงมาตรา 64 การปรับแก้ค่าใช้จ่ายของพรรค โดยร่างที่ผ่านการเห็นชอบจากสนช. ระบุให้มีค่าใช้จ่ายเท่ากันทุกพรรค ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ โดยให้ตัดถ้อยคำ “เท่ากันทุกพรรค”ทิ้ง และแก้ไขเป็น “ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กกต.ไปหารือกับพรรคการเมือง”

นายสมชายกล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นที่กมธ.ร่วม ให้คงตามเนื้อหาที่สนช.เห็นชอบมา คือ มาตรา 35 การจำกัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ที่มีการเพิ่มการตัดสิทธิข้าราชการการเมือง และรองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่นที่ไม่ไปเลือกตั้ง จะไม่สามารถได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ โดยมีกมธ.เสียงข้างมากมีมติ 6 ต่อ 5 ให้คงเนื้อหาไว้ตามร่างเดิม แต่ปรับถ้อยคำเพียงเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเรื่องบัตรเลือกตั้งใบเดียว ที่กมธ.ร่วมให้คงตามร่างเดิมคือ ให้ผู้สมัครของพรรคในแต่ละเขตเลือกตั้งได้หมายเลขสมัครไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับกรณีการอนุญาตให้ผู้พิการ มีผู้ช่วยเข้าไปกาบัตรลงคะแนนในคูหาเลือกตั้งได้ โดยถือว่าการลงคะแนนยังเป็นความลับอยู่ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ

นายสมชายกล่าวว่า หลังจากกมธ.ร่วม ทบทวนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเสร็จ จะเสนอต่อที่ประชุมสนช.ต่อไป คาดว่าไม่น่ามีปัญหา น่าจะได้รับความเห็นชอบ ทั้งนี้ จะเป็นการโหวตทั้งฉบับ ไม่ได้โหวตรายประเด็น ซึ่งจะเปิดให้กมธ.เสียงข้างมากและเสียงกมธ.ชี้แจงเหตุผลของแต่ละฝ่ายให้สนช.รับฟัง จากนั้นจึงจะลงมติโหวต หากจะไม่ผ่านต้องใช้เสียงสนช. 2 ใน 3 หรือ166 เสียงขึ้นไป

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิปสนช. กล่าวถึงการประชุมกมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ในส่วนของร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ว่า กมธ.ร่วมได้พิจารณาครบถ้วนทุกประเด็นพบว่าไม่มีปัญหา ขั้นตอนต่อไปจะนำเข้าที่ประชุมสนช. และลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในวันที่ 8 มี.ค.นี้ ซึ่งคิดว่ากฎหมายฉบับนี้จะผ่านสนช.ไปได้ด้วยดี และแนวทางโรดแม็ปก็จะชัดเจนขึ้น เพราะยังมองไม่เห็นว่าจะมีอะไรทำให้มีปัญหาเกิดขึ้น

โฆษกวิปสนช. กล่าวว่า ส่วนที่กังวลจะมีการคว่ำกฎหมายฉบับนี้นั้น หากเกิดขึ้นจริง กระบวนการเริ่มร่างใหม่จะอยู่ที่กรธ. เพราะกฎหมายยังไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงอยู่ในความรับผิดชอบของกรธ. แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นว่าจะมีการคว่ำกฎหมายฉบับนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน