วันที่ 28 ก.พ. ที่รัฐสภา พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และโฆษกกมธ.วิสามัญร่วม 3 ฝ่ายเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. แถลงว่า ที่ประชุมกมธ.ร่วมได้พิจารณาร่างกฎหมายเสร็จสิ้นในทุกประเด็นที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โต้แย้ง โดยจะเสนอให้ที่ประชุมสนช.ลงมติในวันที่ 8 มี.ค.ต่อไป

พล.ร.อ.ธราธร กล่าวว่า ประเด็นความเห็นที่กมธ.ร่วมได้ข้อยุติแล้ว ดังนี้ ที่ประชุมเห็นด้วยกับความเห็นของกกต. ที่ให้กกต.มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญตามที่กกต.เสนอ

โฆษกกมธ.ร่วม กล่าวว่า ส่วนประเด็นโต้แย้งของกรธ.ใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1.การกำหนดกลุ่มการสมัครส.ว.จาก 20 กลุ่ม เหลือเพียง 10 กลุ่ม 2.การแบ่งผู้สมัครส.ว.แต่ละกลุ่มออกเป็น 2 ประเภท และ 3.การยกเลิกการเลิกไขว้ โดยที่ประชุมมีมติมติ 9 ต่อ 2 ให้ร่างเดิมของกรธ. ทั้งการแบ่งกลุ่มการสมัคร 20 กลุ่ม การกำหนดให้มีผู้สมัครส.ว.โดยอิสระ และการกำหนดกระบวนการเลือกในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ด้วยการวิธีการเลือกกันเองและวิธีการเลือกไขว้ ไปอยู่ในบทหลักของร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ตามเดิม

พล.ร.อ.ธราธร กล่าวว่า สำหรับเนื้อหาที่สนช.ลงมติแก้ไขในวาระ 3 ก่อนหน้านี้ให้ไปอยู่ในบทเฉพาะกาลของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งจะบังคับใช้ 5 ปีแรกเท่านั้นตามวาระแรกเริ่มของส.ว.ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งที่ประชุมมีมติ ดังนี้ เห็นชอบให้มีการแบ่งกลุ่มการสมัครเป็น 10 กลุ่ม ด้วยมติ 9 ต่อ 2 และเห็นชอบด้วยมติ 6 ต่อ 5 ให้ทำการสมัครส.ว.โดยอิสระและได้รับการเสนอชื่อจากองค์กร และมีมติ 9 ต่อ 2 ให้เลือกกันเองโดยตรง

พล.ร.อ.ธราธร กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่สามารถตอบได้ว่าสนช.จะมีมติต่อรายงานการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯอย่างไร เนื่องจากการลงมติถือเป็นสิทธิเฉพาะตัวของสมาชิกสนช.แต่ละคน คงไม่อาจไปแสดงความคิดเห็นก้าวล่วงได้ อย่างไรก็ตาม หากใครไม่เห็นด้วยก็สามารถเข้าชื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

เมื่อถามว่าการกำหนดให้ส.ว. 50 คน มาจากการเลือกของคสช. จะทำให้มีส.ว.มีความหลากหลายหรือไม่ พล.ร.อ.ธราธร กล่าวว่า ตามขั้นตอนการได้มาซึ่งส.ว.ในวาระแรกเริ่มตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญกำหนดให้ 250 คน แบ่งเป็น 194 คน มาจากการการสรรหาของ คสช. อีก 6 คนมาจากผู้บัญชาการเหล่าทัพ และอีก 50 คนมาจากบทเฉพาะกาลของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่คสช.ต้องเลือกจากบัญชีรายชื่อ 200 คนให้เหลือ 50 คน โดยคิดว่าคสช.ต้องเลือกส.ว.ภายใต้กติกาที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าการคัดเลือกส.ว.ต้องคํานึงถึงบุคคลจากกลุ่มต่างๆ อย่างทั่วถึง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน