กก.ศึกษาทำประชามติแก้รธน. ตั้ง 2 คณะอนุ ยังไร้ข้อสรุปที่มา สสร. ‘ภูมิธรรม’ วางกรอบรวบรวมความเห็นชัดธ.ค.นี้ ย้ำไตรมาสแรกปี 67 ทำประชามติ
เมื่อเวลา 14.50 น. วันที่ 10 ต.ค.2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 แถลงผลประชุมว่า รัฐบาลมุ่งมั่นจะทำประชามติให้เป็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นให้ได้ และจะดำเนินการอย่างเร็วที่สุด อย่ากังวลว่าจะเสียเวลาหรือดูล่าช้า โดยจะใช้เวลาเท่าที่จำเป็น ทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมาให้ดีที่สุด
ส่วนความเห็น ต้องดูว่าสนับสนุนเรื่องอะไรและไม่สนับสนุนเพราะอะไร โดยจะรวบรวมความเห็นต่างๆเหล่านี้แล้วนำมาพูดคุยกัน ไม่เกินวันที่ 10 พ.ย.นี้ ว่ามีข้อติดขัดในเรื่องใดบ้าง เพื่อให้เกิดความชัดเจน และดำเนินการสรุปให้เสร็จภายในสิ้นเดือนธ.ค.นี้ โดยจะยกร่างให้เสร็จใน 4 ปี พร้อมกับมีกฎหมายลูกให้เสร็จ เพื่อใช้รองรับในกติกาการเลือกตั้งครั้งต่อไป
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ขอย้ำว่าทุกอย่างจะทำให้เป็นประชาธิปไตย ให้เกิดการยอมรับจากทุกฝ่ายและคาดว่าจะทำประชามติ ได้ไม่เกินไตรมาสแรกของปี 2567 สำหรับการประสานงานรับฟังความคิดเห็นคณะอนุกรรมการฯ จะดำเนินการควบคู่กับฝ่ายเลขาฯ ที่จะพิจารณาเปิดช่องทางรับฟังอื่นๆ ต่อไป ทั้งนี้ คณะกรรมการจะนัดประชุมเดือนละครั้ง เพื่อติดตามความคืบหน้าเป็นระยะ
ด้านนายนิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการ กล่าวว่า ที่ประชุมพูดคุยกรอบการดำเนินงานของกรรมการชุดนี้ ที่เป็นการศึกษาการทำประชามติ ไม่ใช่การแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งการทำประชามติ จะต้องให้ทุกภาคมาร่วมกันให้ความเห็นเปิดรับฟังจากทุกฝ่าย
ประเด็นที่ยังไม่มีข้อสรุป คือการจัดทำประชามติจะทำกี่ครั้ง จะทำ 3 ครั้งหรือ 2 ครั้ง และต้องยึดตามความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญ และความเห็นของพรรคการเมืองที่ยังค้างอยู่ในสภา และรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาทั้งฉบับ 2540 และ 2550 ซึ่งเป็นกรอบเดิมที่เคยทำ และต้องดูรายงานกรรมการการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ด้วย
นายนิกร กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 คณะ คณะที่ 1 เป็นคณะรับฟังความเห็น มีอำนาจจัดรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มต่างๆอย่างกว้างขวางในกรอบเวลาที่จำกัด คณะที่ 2 มีหน้าที่ศึกษาแนวทางจัดทำประชามติ ให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2-3 วันในการตั้งคณะอนุกรรมการ จากนั้นแต่ละคณะจะไปดำเนินงานตามกรอบอำนาจหน้าที่โดยเร็วต่อไป