ศิริกัญญา เชื่อปรับเกณฑ์ดิจิทัลวอลเล็ตไม่จ่ายถ้วนหน้า ชี้งบไม่พอ แนะรัฐบาลทวนนโยบายใหม่ อย่ายึดติดรูปแบบ ระบุหากไม่ใช้งบผูกพัน ร้านค้าไร้แรงจูงใจร่วมโครงการ หวั่นโครงการไม่ต่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ชี้ หากออกพ.ร.ก.เงินกู้ เป็นการฆ่าตัวตายทางการเมือง

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 26 ต.ค.2566 ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงกระทรวงการคลัง ออกหลักเกณฑ์ใหม่ แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท อาจจะไม่ได้ครบทุกคน ว่า คิดว่าปัญหาสำคัญที่จำเป็นต้องปรับหลักเกณฑ์ที่คัดกรองคนรวยออก ไม่ว่าจะเป็น 1.คนที่มีเงินเดือน 25,000 บาท ขึ้นไป 2.เงินเดือนเกิน 50,000 บาท ขึ้นไป 3.ตามบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลน่าจะมีปัญหาในเรื่องงบประมาณที่จะนำมาใช้ในโครงการ

จึงจำเป็นต้องลดจำนวนคนที่ได้รับผลประโยชน์ แต่ถึงแม้จะลดจำนวนลงแล้ว แต่ยังพบว่ามีคนที่จะต้องได้รับอยู่ที่ 43-49 ล้านคนอยู่ดี ดังนั้น โอกาสที่จะใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ก็มีค่อนข้างน้อย

น.ส.ศิริกัญญากล่าวต่อว่า ยังมีข้อเสนอว่าจะใช้งบผูกพันปีละ 1 แสนล้านบาท เป็นเวลา 4 ปี ยิ่งชัดเจนว่าหลังจากคำนวณแล้ว แสดงว่างบฯปี 67 มีที่ว่างให้ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพียงแค่ 1 แสนล้านบาทเท่านั้น และหากต้องผูกพันไป 4 ปี เท่ากับจะมีร้านค้าบางส่วนที่จะไม่ได้เงินสดในทันที แต่ต้องรอแลกเป็นรายรอบปีงบประมาณ ซึ่งจะกระทบกับร้านค้า เพราะหากต้องการเงินสดมาหมุนเวียนในร้านค้า จะไม่มีแรงจูงใจมากพอ และจะไม่เข้าร่วมในโครงการนี้ด้วยซ้ำ

เป็นการตอกย้ำกับสิ่งที่ตนเคยพูดว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตมาถึงทางตันแล้ว เนื่องจากไม่สามารถให้ธนาคารของรัฐ หรือธนาคารออมสินดำเนินโครงการนี้ออกไปก่อนได้ จึงติดข้อจำกัดหลักที่เป็นตอใหญ่ คือเรื่องงบประมาณและที่มาที่จะต้องใช้ในครั้งนี้

น.ส.ศิริกัญญากล่าวอีกว่า คิดว่าการปรับเงื่อนไขในครั้งนี้ต้องพิจารณาด้วย ว่ายังคงทำได้ตามวัตถุประสงค์และผลที่คาดว่าจะได้รับดั้งเดิมหรือไม่ ถ้าเปลี่ยนไปหมดแล้ว อาจจะต้องทบทวนวิธีการและนโยบายใหม่ทั้งหมดด้วยซ้ำไป

เมื่อถามว่าการปรับหลักเกณฑ์จะทำให้จำนวนผู้ที่ได้รับเงินลดลงไป สะท้อนอะไรได้บ้าง น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า จริงๆ ลดไปแค่นิดเดียว หากใช้เกณฑ์แรก จะลดลงไปแค่ 13 ล้านคน หากใช้เกณฑ์ที่สอง จะลดไปแค่ 7 ล้านคน ดังนั้น การปรับหลักเกณฑ์เหล่านี้อาจไม่ช่วยอะไรมากนักในแง่ประหยัดงบลง เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องคำนึงว่าจะทำอย่างไรต่อ

ถ้าปรับไปใช้ทางเลือกที่สาม คือใช้เกณฑ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็จะไม่ใช่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยซ้ำ แต่เป็นการประคับประคองค่าครองชีพให้แก่ผู้ที่มีรายได้น้อย หรือผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแทน เป็นการเปลี่ยนรูปแบบ วัตถุประสงค์ และผลที่จะได้รับอย่างชัดเจน ดังนั้น ถ้าจะคงรูปแบบเป็นแค่การแจกเงินไว้ แต่วัตถุประสงค์ไม่ได้เป็นไปอย่างที่พูด ก็ต้องทบทวน

เข้าใจดีว่านโยบายนี้เป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทย (พท.) หาเสียงไว้ แต่ถ้าบอกได้อย่างตรงไปตรงมาว่าติดปัญหาเรื่องอะไร คิดว่าประชาชนจะเข้าใจได้ ว่ารัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วที่จะทำโครงการนี้ แต่มีอุปสรรคชิ้นใหญ่ คืองบประมาณ

เมื่อถามว่า คำว่า ทบทวน หมายถึงยกเลิกโครงการนี้ใช่หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า เป็นการเปลี่ยนวิธีการมากกว่า เข้าใจดีว่าสัญญาทางใจที่มีไว้ให้ผู้สนับสนุนก็สำคัญ แต่เพื่อให้ได้ผลลัพธ์แบบเดียวกัน เราก็มีวิธีที่จะไปได้หลายทาง

เมื่อถามว่าสุดท้ายโครงการนี้จะกลับไปเป็นเหมือนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ต้องรอดู แต่งบที่นำไปทบทวนกับแต่ละหน่วยงานของรัฐนั้น เขาทำกันเสร็จแล้ว และเริ่มทยอยส่งกลับมาที่สำนักงบประมาณแล้ว ดังนั้น สำนักงบฯ มีข้อมูลอยู่ในมือแล้ว ว่าสามารถตัดลดหรือเกลี่ยงบปี 67 ได้เท่าไหร่ ซึ่งปรากฏว่าได้แค่ 1 แสนล้านบาท ดังนั้น ถ้าจะไม่ทำงบผูกพันข้ามปี ทางออกทางเดียว คือให้เฉพาะผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็จะไม่ใช่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นเพียงแค่การเยียวยาค่าครองชีพ ต้องบอกรัฐบาลว่าต้องทบทวนอย่างจริงจัง อย่ายึดติดที่รูปแบบ แต่ให้ดูเป้าหมายว่า อยากได้ผลลัพธ์อะไร และออกแบบนโยบายให้เป็นไปตามนั้นมากกว่า

เมื่อถามว่าฝ่ายค้านจะตรวจสอบโครงการนี้อย่างไรบ้าง น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ต้องรอให้คณะกรรมการชุดใหญ่ของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีมติออกมาก่อน ขณะนี้มีเพียงแค่ความเห็นของอนุกรรมการเท่านั้น เรายังใจดี ให้เวลารัฐบาลกลับไปคิดทบทวนรายละเอียดทุกอย่าง และให้คณะกรรมการชุดใหญ่เสนอต่อครม. และเราจะตรวจสอบกันต่อไป

หลายกรรมาธิการ ตั้งท่ารอที่จะเรียกหน่วยงานมาพูดคุยในรายละเอียดอยู่ กระทู้สดก็ยังรออยู่ แม้จะเป็นช่วงปิดสมัยประชุมไปแล้ว แต่เปิดสมัยประชุมเมื่อไหร่ ก็คงพูดคุยในเรื่องนี้อย่างแน่นอน

เมื่อถามว่าจากเกณฑ์ที่ออกมา การคัดกรองจะมีปัญหาหรือไม่ว่าใครมีรายได้เท่าไหร่บ้าง น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ไม่อยากให้สับสน เพราะปัญหาใหญ่คือเรื่องงบประมาณมากกว่า ส่วนหลักเกณฑ์เข้าใจว่าเป็นแบบเดียวกับที่ใช้คัดกรองผู้ที่ได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยดูรายได้จากการยื่นต่อสรรพากร และขอข้อมูลจากธนาคารพาณิชย์ว่ามีเงินฝากเท่าไหร่ ซึ่งเรื่องนี้ไม่น่ายาก แต่อาจมีความผิดพลาดเพราะบางคนอาจจะไม่ได้ยื่นรายได้ต่อสรรพากร หรือมีสินทรัพย์ที่ไม่ใช่เงินฝาก

เมื่อถามถึงกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรมว.คลัง ระบุจะไม่ใช้งบผูกพัน แต่หากงบกลางปี 67 ไม่เพียงพอ ก็ต้องใช้งบผูกพันใช่หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ถ้าเป็นหลักเกณฑ์แรกที่จะต้องใช้เม็ดเงิน 430,000 ล้านบาท ซึ่งงบปี 67 ไม่พอแน่นอน ถ้าไม่ใช่งบผูกพันเลย น่าจะมีเม็ดเงินอยู่ 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะเปิดทางให้หลักเกณฑ์ข้อที่ 3 นั่นคือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จึงอยากให้พุ่งไปที่แหล่งที่มางบมากกว่า มีเงินเท่าไหร่กันแน่ที่จะใช้ทำโครงการนี้

เมื่อถามว่าหากอนุกรรมการหารือกับธนาคารกรุงไทย จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ยิ่งเป็นไปไม่ได้กันใหญ่ น่าจะหารือกับธนาคารกรุงไทยในเรื่องการทำซุปเปอร์แอพ เพราะธนาคารกรุงไทยมีประสบการณ์ทำแอพเป๋าตังมาก่อน ธนาคารกรุงไทยน่าจะทำแอพต่อได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนแหล่งเงินที่จะใช้ในโครงการนี้นั้น ไม่ใช่มาจากธนาคารออมสิน เพราะติดข้อกฎหมายตามพ.ร.บ.ออมสิน มาตรา 7 ที่ระบุวัตถุประสงค์ที่ธนาคารสามารถทำได้ ซึ่งไม่มีข้อไหนที่จะให้ดำเนินโครงการแจกเงินได้แม้แต่ข้อเดียว ไม่อย่างนั้นต้องแก้ไขกฎหมายผ่านสภาฯ

เมื่อถามว่าหากรัฐบาลเลิกใช้วิธีออก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน เป็นหนทางสุดท้าย น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ในทางเทคนิคการออกพ.ร.ก.เงินกู้ เหมือนช่วงวิกฤตโควิด ที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินนั้นเป็นทางออกที่ง่ายที่สุด แต่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจน ว่าพ.ร.ก.จะออกได้ เมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น ต้องถามสำนักบริหารหนี้ (ส.บ.น.) ว่าจะยอมกู้ให้หรือไม่ ในกรณีที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน และเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ แต่ในทางการเมืองต้องยอมรับว่า การออกพ.ร.ก.เงินกู้ขณะนี้ ที่ไม่ได้เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจหนักขนาดนั้น ก็ต้องเจอแรงต้านมหาศาลแน่นอน

“เตือนไว้ว่า ถ้าออกเป็นพ.ร.ก.เงินกู้เมื่อไหร่ นี่อาจจะเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมืองได้” น.ส.ศิริกัญญากล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน