“ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เปิดใจถึงเวลาทวงคืนอนาคตประเทศ เผยชัดเจนปลายมี.ค.นี้ จับมือ”ปิยบุตร”ตั้งพรรค ลั่นไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ ขอเป็นนอมินีคนถูกลิดรอนเสรีภาพ ด้านอดีตกลุ่มนิติราษฎร์โพสต์ระบุพรรคแบบใหม่ไม่ใช่วัวรับใช้รุ่นอาวุโส ต้องเปิดพื้นที่คนรุ่นใหม่ เลิกสนับสนุนรัฐทหาร เน้นทำควมเข้าใจผ่านโซเชี่ยล ปชป.สั่งเช็กชื่ออดีตส.ส.ใต้ 9 มี.ค.นี้ มั่นใจย้ายซบ”พรรคเทือก” แค่ 3 คน ชทพ.ชี้ 42 พรรคแห่จองชื่อแค่สีสัน พรรคเก่ายังได้เปรียบ กกต.วาง 6 ข้อ ชงคสช.ขอจัดประชุม ย้ำยื่นภายในเดือนนี้ ทันลงเลือกตั้งก.พ. 62 กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเล็งยกระดับกดดันรัฐบาล “โรม” เย้ยกลับคสช. สั่งเบรก”ยุทธ์น็อกคิโอ” เพราะอับอายชาวโลกมองผู้นำเป็นตัวตลก โพลเผยเรตติ้ง”บิ๊กตู่”ลดลงทุกด้าน ชี้”แก้โกง-เศรษฐกิจ-คนรอบตัวนายกฯ” ฉุดภาพรัฐบาลขาลง

“สมชัย”ย้ำยื่นเดือนมี.ค.-ทันเลือกตั้ง

เมื่อวลา 10.30 น. วันที่ 3 มี.ค. ที่อุทยานการเรียนรู้ ทีเคพาร์ค (องค์การมหาชน) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงขั้นตอนการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ว่า ผู้สนใจยังคงยื่นจดจองจัดตั้งพรรคได้ตลอดเวลา โดยหลังจากจดจองชื่อแล้ว จะ มีเงื่อนไขที่ต้องทำตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองให้ครบ จึงจะถือเป็นพรรคการเมือง ตามกรอบเวลา 180 วันคือ การหาสมาชิก 500 คน หาทุนประเดิมพรรค 1 ล้านบาท จัดตั้งสาขาพรรคประจำ 4 ภูมิภาค การคัดเลือกผู้แทนประจำจังหวัด ร่างข้อบังคับพรรค และการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรค

นายสมชัยกล่าวว่า จะเห็นว่าหลังการจดจองชื่อแล้วยังมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการอีกพอสมควร หากใครต้องการส่งผู้สมัครให้ทันต่อการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ในเดือนก.พ.2562 ขอแนะนำให้เริ่มจดจองชื่อภายในเดือนมี.ค. ทั้งนี้ ใครจะมาในเดือนเม.ย.-พ.ค.ก็ได้ แต่เกรงจะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งในครั้งที่จะถึงนี้ไม่ทัน สำหรับ 42 พรรคที่มายื่นขอจดชื่อต่อกกต. เมื่อวันที่ 3 มี.ค.นั้น เริ่มหาสมาชิกให้ครบ 500 คนได้เลย แต่อย่าอึกทึกครึกโครมมาก ส่วนคณะทำงานของกกต.จะตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง หากขาดตกบกพร่องตรงไหน จะแจ้งให้ทราบ เพื่อแก้ไขภายใน 60 วัน

วาง 6 ข้อชงคสช.ประชุมพรรค

นายสมชัยกล่าวอีกว่า เมื่อได้หัวชื่อพรรคแล้ว กิจกรรมที่สำคัญต่อไปคือ การประชุมเพื่อดำเนินการตามเงื่อนไขภายใน 180 วัน ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง โดยการประชุมนั้นต้องมีสมาชิกมาไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งคือ 250 คนจาก 500 คน แต่การจะเปิดประชุมได้ ต้องทำหนังสือขออนุญาตคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยผ่าน กกต. ที่กำหนดกรอบการขออนุญาตไว้แล้ว 6 ข้อคือ 1.จะทำกิจกรรมอะไร 2.เหตุผล 3. เมื่อใด ให้ระบุวันเวลา 4.สถานที่ 5.คาดว่าจะมีผู้มาร่วมกี่คน และ 6.ใครรับผิดชอบ ทั้งนี้ อยากให้แต่ละพรรคเผื่อเวลาการยื่นเอกสารขออนุญาตประชุมพรรค 20 วัน เพราะกกต. ต้องรวบรวมกลั่นกรองก่อนเสนอให้คสช.พิจารณาเป็นรายๆ ไป

เมื่อถามว่าการยื่นขอตั้งพรรคจำนวนมาก ถูกมองว่าตั้งพรรคเพื่อรอรับเงินสนับสนุนจากกองทุน นายสมชัยกล่าวว่า ปัญหานี้ยังไม่เกิดขึ้น แต่พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับล่าสุด จะเห็นว่า การตั้งพรรคเพื่อรอเงินสนับสนุน เป็นไปได้ยากกว่าเมื่อก่อนมาก เนื่องจากมีการกำหนดเงื่อนไขความเป็นพรรคไว้เยอะ เช่น ต้องมีสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง 500 คน หาทุนประเดิม 1 ล้านบาท

เมื่อถามว่ามีพรรคจำนวนมาก จะเป็นอุปสรรคต่อการจัดการเลือกตั้งหรือไม่ นายสมชัยกล่าวว่า ไม่ ทั้ง 42 พรรคที่มาจดจองชื่อ ยังไม่ได้หมายความว่าจะเป็นพรรคได้ ต้องรอดูว่าเมื่อครบ 180 วันแล้ว จะทำได้ครบตามเงื่อนไขหรือไม่ ส่วนบัตรเลือกตั้ง จะสั้นหรือยาวขึ้นกับแต่ละเขตเลือกตั้งว่าจะมีผู้สมัครลงเยอะหรือไม่ สิ่งที่ตนกังวลมาตลอด คือการแยกเบอร์ผู้สมัครแต่ละเขต จะทำให้ประชาชนสับสน และพรรคการเมืองหาเสียงลำบาก

ธนาธรชี้ปลายมี.ค.ชัดเจนตั้งพรรค

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการบริหารไทยซัมมิทกรุ๊ป ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวตั้งพรรคการเมือง ร่วมกับนายปิยบุตร แสงกนกกุล นักกฎหมายกลุ่มนิติราษฎร์ว่า ความชัดเจนในการตั้งพรรค ต้องรอดูครึ่งหลังของเดือนมี.ค.นี้ก่อน จึงจะมีความชัดเจนมากขึ้น เพราะขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทำงาน และสถานการณ์เกี่ยวกับการตั้งพรรคนั้นถือว่าเร็วมาก แต่สิ่งหนึ่งที่บอกได้คือ ถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะต้องทวงคืนอนาคต ตนคิดว่าเราไม่สามารถปล่อยให้สังคมไทย อยู่ในความขัดแย้งเหมือนทุกวันนี้ได้

“นับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 จนถึงวันนี้ ประเทศไทยอยู่ในความขัดแย้งมาแล้ว 12 ปี ซึ่งเราเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพมากกว่านี้ เราสามารถไปได้ไกลกว่านี้ แต่เราติดเงื่อนไขของความขัดแย้ง ดังนั้น เพื่อเปิดประตูสู่อนาคต เพื่อสิ่งใหม่ๆ เราจึงควรมีพรรคทางเลือกใหม่ ที่เป็นพลังของคนรุ่นใหม่จริงๆ อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าการทำพรรคเป็นเรื่องหนักอยู่แล้ว แต่เราจะไม่ทำพรรคให้เป็นพรรคเฉพาะกิจ เพราะถ้าทำอะไรที่น้อยกว่าการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเราจะไม่ทำ” นายธนาธรกล่าว

เชื่อพลังคนรุ่นใหม่ทำสังคมดีขึ้น

เมื่อถามว่าการเปลี่ยนแปลงที่ว่าหมายถึงอะไร นายธนาธรกล่าวว่า เข้าใจว่า คสช.ห้ามพูดถึงนโยบายในเวลานี้ แต่เมื่อเราจะพูดถึงคนรุ่นใหม่นั้น ตนหมายถึงคนที่ไม่ยอมจำนนต่อสถานการณ์ที่ไม่ปกติ คนที่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงมีความเป็นไปได้ และเชื่อว่าพลังของตัวเองสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางที่ดีได้ นั่นคือนิยามที่เหมาะสมสำหรับคนรุ่นใหม่

“ผมเชื่อว่าเราในฐานะปัจเจกบุคคล มีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม ให้เป็นสังคมที่น่าอยู่กว่าทุกวันนี้ได้ เพราะผมเชื่อในพลังของมนุษย์ และในทางปฏิบัติ ถ้าเราไม่นำเสนอสิ่งที่ก้าวหน้า เราก็ไม่รู้จะทำไปทำไม ส่วนนายปิยบุตร ที่มีกระแสข่าวจะมาร่วมก่อตั้งพรรคนั้น ส่วนตัวรู้จักกับนายปิยบุตรมาหลายปีแล้ว แต่ความชัดเจนทั้งหมดจะมีขึ้นในครึ่งหลังของเดือนมี.ค.นี้” นายธนาธรกล่าว

นายธนาธรกล่าวว่า การที่กกต.เปิดรับจองชื่อพรรคเมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีพรรคใหม่ 42 พรรค ถามว่าเมื่อมองไปที่ 42 รายชื่อที่ปรากฏในข่าว เราสามารถชี้ให้เห็นได้หรือไม่ว่า มีพรรคใดที่เป็นความหวังได้บ้าง เพราะถ้า 42 พรรคนั้น มองดูแล้วเป็นความหวังในอนาคตได้ ตนและนายปิยบุตร ก็อาจจะนอนอยู่บ้าน

ลั่นเป็นนอมินีคนถูกลิดรอนสิทธิ

เมื่อถามว่าคิดว่ามีอะไรบ้างที่เสี่ยงในการลงสนามเลือกตั้งครั้งนี้ นายธนาธรกล่าวว่า เพื่ออนาคตที่ดีกว่า มันคุ้มค่าที่จะเสี่ยง อย่างแรกตนคงต้องสูญเสียความเป็นตัวเองไปเยอะ แน่นอนเรามีความฝันอย่างอื่นที่ไม่ใช่เรื่องการเมืองอย่างเดียว ซึ่งตนต้องสูญเสียความฝันนั้นไป แล้วในภาวะที่ในสังคมเกิดความขัดแย้งรุนแรง ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อาจจะส่งผลมาถึงตน เพื่อนและครอบครัว นั่นคือสิ่งที่เรากลัว นอกจากนี้ถ้าเราเสนอสิ่งที่ก้าวหน้าไปไกลมาก มันอาจจะส่งผลมายังเสรีภาพและอิสรภาพของ เราด้วย

เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรที่กระแสโซเชี่ยลมีเดียให้การสนับสนุนค่อนข้างดี นายธนาธรกล่าวว่า ยังพูดอะไรไม่ได้มากตอนนี้ แต่ถ้าเกิดมีพรรคการเมือง มันจะไม่ใช่พรรคของตน หรือของนายปิยบุตร ที่สำคัญจะไม่ใช่พรรคนอมินีของใคร แต่เป็นพรรคของประชาชน ที่อยากเห็นอนาคตใหม่ เป็นนอมินีของประชาชนที่ถูกกดขี่และถูกลิดรอนเสรีภาพไป ถ้าเราจะเป็นนอมินีก็จะเป็นนอมินีของคนกลุ่มนี้

วอนอย่าดูที่นามสกุล

เมื่อถามว่าการใช้นามสกุลจึงรุ่งเรืองกิจ จะเป็นการกดดันหรือไม่ นายธนาธรกล่าวว่า ในเรื่องนามสกุลนั้น ตนได้พิสูจน์มามากแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา เมื่อคนไม่รู้จะโจมตีทางใดก็จะใช้นามสกุลมาโจมตี และในการทำงานขอให้ดูสิ่งที่พูดและทำ อย่าดูที่นามสกุล

เมื่อถามว่าคนที่จะสนับสนุนพรรคใหม่นี้ จะเป็นคนกลุ่มใด นายธนาธรกล่าวว่า ถ้าเราอยากจะเดินไปข้างหน้า อยากได้พลังทุกภาคส่วนของสังคม ดังนั้นผู้ที่จะสนับสนุน ก็คือพลังของคนที่ไม่ยอมจำนนต่อสภาวการณ์เช่นนี้

ยันพรรคไม่ใช่วัวรับใช้ผู้อาวุโส

นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงแนวคิดการสร้างพรรคแบบใหม่ว่า 1.พรรคที่ไม่มีเจ้าของ งบประมาณของพรรคมาจากการระดมทุนผ่านการบริจาค Crowdfunding การกู้ยืมเงินโดยปราศจากดอกเบี้ยจากคนที่สนับสนุนแนวคิดของพรรค เงินสมทบของสมาชิกพรรค เงินอุดหนุนจาก กกต.

2.พรรคที่เป็นประชาธิปไตยในทุกระดับ เน้นการกระจายอำนาจ สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่มีบทบาท ผู้สมัคร ตำแหน่งในพรรค ข้อบังคับ แนวทางการบริหารและยุทธศาสตร์ มาจากการปรึกษาหารือ อภิปรายแลกเปลี่ยนและลงมติ โดยสมาชิกพรรค การจัดการพรรคเน้นกระจายอำนาจ ไม่รวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง กระจายงานภารกิจไปให้กลุ่มต่างๆ พื้นที่ต่างๆ สนับสนุนบทบาทของเยาวชนคนรุ่นใหม่ งานที่คนรุ่นใหม่มีความถนัด เมื่อทำออกมาแล้วก็เป็นเครดิตของพวกเขา คนรุ่นใหม่คิดและทำกันเองได้ โดยไม่ต้องตั้งคนที่อาวุโสกว่ามานั่งเป็นประธานตามแบบที่เคยทำๆ กันมา คนรุ่นใหม่ไม่ใช่ “วัวงาน” หรือ “คนรับใช้” คนรุ่นอาวุโส คนรุ่นใหม่ในพรรคมีบทบาทในการคิด เสนอ ลงมือทำ พวกเขาไม่ใช่แรงงานที่ใช้แจกใบปลิว ติดป้าย แบบที่เคยทำๆ กันมา

ปิยบุตรแจงต้องมีพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่

นายปิยบุตร ระบุว่า 3.พรรคต้องมุ่งทำงานระยะยาว ซึ่งพรรคคือที่รวมตัวกันของบุคคลที่มีความคิด อุดมการณ์ในทิศทางเดียวกัน และต้องการเข้าสู่อำนาจรัฐเพื่อผลักดันความคิดและนโยบายให้เกิดผล ซึ่งผลการเลือกตั้งไม่อาจทำให้พรรคยุติบทบาทหรือการพัฒนาพรรค ในยามชนะ สมาชิกพรรคไปรับหน้าที่ต่างๆ ในสภาหรือรัฐบาล แต่ต้องมีบุคลากรที่บริหารจัดการพรรคอย่างต่อเนื่อง พัฒนาพรรคอยู่เสมอ ในยามแพ้ ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องยุบเลิก แต่ยังต้องทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง เพื่อชนะในวันหน้า

“พรรคไม่ใช่ของชั่วคราว ที่สมาชิกเข้ามาเพื่อหวังลงเลือกตั้ง และไต่เต้าไปรับตำแหน่งการเมือง แต่พรรคคือกลไกในการต่อสู้ทางการเมืองระยะยาว ดังนั้น แม้เริ่มต้นจะไม่สำเร็จ แต่ก็ต้องอดทน ทำงานอย่างหนักหน่วงต่อเนื่อง” นายปิยบุตรระบุ

4.พรรคที่สนใจความรู้ วิชาการ การค้นคว้าวิจัย นโยบายที่ดี สมาชิกที่มีคุณภาพ ย่อมเกิดจากความรู้ การศึกษาค้นคว้า ดังนั้น ต้องสร้าง Thinktank ของพรรคขึ้นมาในด้านต่างๆ ประกอบด้วยนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และประชาชนที่สนใจและเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น นอกจากนี้ ต้องสร้าง “มหาวิทยาลัยตลาดวิชา” ของพรรคขึ้นมา บรรยายหัวข้อต่างๆ เปิดให้ทุกคนเข้าฟังและถ่ายทอดผ่านเว็บไซต์ ช่วงปิดภาคการศึกษา มีมหาวิทยาลัยสำหรับสมาชิกที่เป็นเยาวชน นักเรียน นักศึกษาได้เข้าร่วม 3-4 วัน เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้มาพบปะพูดคุยกัน วารสารของพรรคไม่ใช่การโฆษณาประชาสัมพันธ์เท่านั้น แต่นำเสนอความคิดของพรรคในประเด็นต่างๆ มีบทความวิชาการ กึ่งวิชาการ

เน้นสื่อสารประชาชนผ่านโซเชี่ยล

5.พรรคต้องสื่อสารกับประชาชนและเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา โดยสื่อสารผ่านสื่อต่างๆ ของพรรค ได้แก่ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ วารสารรายปักษ์-รายเดือนของพรรค การ์ตูนแอนิเมชั่น งานศิลปวัฒนธรรม เว็บไซต์ในรูปแบบทันสมัย ไม่โบราณเหมือนเว็บไซต์ราชการ ไม่ใช่เว็บไซต์ประชาสัมพันธ์ผู้บริหารพรรค ในเว็บไซต์มีหลายคอลัมน์ เช่น นโยบาย-นำเสนอตัวแบบเบื้องต้นของนโยบายด้านต่างๆ เปิดให้ทุกคนร่วมแสดงความคิดเห็น ทุกคนสามารถเสนอร่างกฎหมายได้ ติดตามสมาชิกของพรรคที่เป็นส.ส. เช่น อภิปรายในสภา การตั้งกระทู้ การให้สัมภาษณ์สื่อ การอภิปรายในเวทีเสวนา ข้อเขียน มหาวิทยาลัยตลาดวิชา ถ่ายทอดการบรรยาย เหตุการณ์ประจำวัน ความคิดเห็นของพรรคต่อประเด็นที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นๆ

6.พรรคต้องมีที่ทำการที่ทันสมัย ซึ่งที่ทำการพรรคคือหน้าตาของพรรคและแสดงออกถึงอัตลักษณ์ตัวตนของพรรค เราจะไม่ใช้ที่ทำการพรรคแบบตึกสูงๆ เข้าถึงยาก ไม่ใช้ที่ทำการพรรคแบบเก่าแก่ และดู อึมครึม ขลัง ไม่เป็นมิตร แบบที่พรรคอื่นๆ เคยใช้ แต่เราจะมีที่ทำการพรรคแบบทันสมัย มีสีสัน คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย มีพื้นที่เปิดให้คนได้ใช้สอยร่วมกัน มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการ มีพื้นที่ให้จัดกิจกรรมทางการเมืองและทางศิลปวัฒนธรรม เช่น จัดเสวนา จัดฉายภาพยนตร์ จัดงานแสดงศิลปะ จัดเวิร์กช็อป

ย้ำการเมืองไม่ใช่เรื่องสกปรก

นายปิยบุตร ระบุว่า 7.พรรคต้องติดต่อสัมพันธ์กับองค์กรอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ และ 8.พรรคต้องเป็นที่รวมคนหลากหลาย สมาชิกพรรคมีความคิดและอุดมการณ์พื้นฐานร่วมกัน มาจากหลากหลายกลุ่ม ทุกเพศ ทุกรสนิยมทางเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ อัตลักษณ์ของพรรคคือความหลากหลาย ไม่ใช่สมาชิกทุกคนเหมือนกันหมด แต่งกายเหมือนกันหมด ลีลาการพูดถอดแบบกัน มาหมด

“พรรคการเมืองแบบใหม่เช่นนี้ จะช่วยทำให้สังคมไทยที่มองการเมืองและนักการเมืองในแง่ลบ ได้เปลี่ยนความคิดใหม่ ตราบใดที่มองการเมืองและนักการเมืองในแง่ลบ ย่อมมีโอกาสที่เขาจะหันไปสนับสนุนอำนาจเผด็จการนอกระบบได้เสมอ ซึ่งการเมืองและนักการเมืองไม่ใช่เรื่องสกปรก แต่เป็นเรื่องของความคิด การผลักดันความคิด การลงมือ การสร้างสรรค์ ซึ่งการทำให้ความคิดของผู้คนที่มีต่อการเมืองและนักการเมืองเปลี่ยนไปในทางที่ดี ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางความคิด แย่งชิงการสถาปนาอำนาจ และอาจช่วยให้คนไม่หันหลังให้กับประชาธิป ไตย และเลิกสนับสนุนรัฐทหาร รัฐราชการ” อาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ระบุ

ชทพ.ชี้แห่ยื่นตั้งพรรคแค่สีสัน

นายนิกร จำนง ผอ.พรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ถึงกกต.เปิดให้จดแจ้งจัดตั้งพรรคในวันแรก มีมายื่นถึง 42 พรรคว่า ดีใจที่มีผู้มาจดแจ้งจัดตั้งพรรคกันมาก แต่ยังเป็นเพียงการแจ้งจดทะเบียนเอาไว้ก่อน ส่วนขั้นตอนการจัดตั้งพรรคจริงๆ ยังมีอีกมาก โดยเฉพาะต้องขออนุญาตจากคสช. ซึ่งเมื่อรวมกับพรรคที่มีอยู่เดิมกว่า 70 พรรคแล้ว ก็มากกว่า 100 พรรค สังเกตได้ว่าพรรคที่มาจดใหม่ยังคาบเกี่ยวกับพรรคเดิมอยู่บ้าง เป็นการกระจายตัวออกมา

ผอ.พรรคชาติไทยพัฒนากล่าวว่า สะท้อนว่าเป็นผลจากการถูกบังคับเอาไว้นานมากกว่า คนที่สนใจการเมืองจึงออกมา เปรียบเหมือนธนู ที่ถูกน้าวเอาไว้นาน พอปล่อยก็ดีดแรง คล้ายกับมีความอึดอัด เมื่อให้จดจึงไปจดเอาไว้ก่อนแล้วว่ากันอีกทีในอนาคต ที่เห็นมากันเยอะๆ ตอนนี้ก็รู้สึกดี เป็นสีสัน แต่ในชีวิตจริง การทำพรรคมันยากมากสำหรับทุกฝ่าย แต่สุดท้ายพรรคเก่าจะได้เปรียบอยู่ดี สิ่งที่เห็นนี้จึงเป็นเพียงประกายที่มีสีสันขึ้นมาเท่านั้น แต่จะไปต่อไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะข้อจำกัดของพ.ร.บ.พรรคการเมืองนั้นมีอยู่มาก การดำเนินการจึงทำได้ยาก

จี้กกต.ดึงคสช.ร่วมแจงพรรคเก่า

นายนิกรกล่าวว่า ส่วนพรรคเก่า กกต.เชิญหารือเพื่อชี้แจงร่วมกันในวันที่ 28 มี.ค.นี้ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับ การดำเนินการก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ประเด็นที่ระบุว่าพรรคเก่าได้เปรียบนั้นความจริงก็ไม่ได้เปรียบเท่าไร เพราะการจะทำอะไรต้องขออนุญาตจากคสช. รุงรังไปหมด และยังทำกิจกรรมทางการเมืองไม่ได้เต็มที่ อย่างไรก็ตาม พรรคเก่าได้สอบถามความเห็นไปยังกกต.มากมาย ว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้บ้าง หลังมีคำสั่งคสช.ที่ 53 ออกมา แต่มีปัญหาว่าคำตอบที่เกิดขึ้น ยังไม่มีความชัดเจนเลย เพราะปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นจากกฎหมายพรรคการเมือง ดังนั้น กกต.จึงตอบไม่ได้ ต้องไปดูเจตนารมณ์ ของคสช. จึงอยากเสนอว่าในวันดังกล่าว กกต.ควรเชิญคสช.มาตอบ คนผูกก็ควรมาเป็นคนแก้ไม่ต้องรอถึงเดือนมิ.ย. ปัญหาจะได้คลี่คลายไปได้

ชมคนรุ่นใหม่แน่วแน่ลงการเมือง

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงวันแรกมีการมาจดแจ้งตั้งพรรคมากถึง 42 พรรคว่า สะท้อนถึงความโหยหาต่อระบอบประชาธิปไตย เพราะต้องยอมรับว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 โดยเฉพาะระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม อาจทำให้พรรคเล็กพรรคน้อยมีโอกาสเข้าไปทำหน้าที่ในสภาได้ จึงทำให้วันแรกดูคึกคัก เกิดพรรคใหม่มากมาย ถือเป็นสิ่งที่ดี ประชาชนจะได้มีตัวเลือกมากขึ้น อีกทั้งยังมีนักธุรกิจ นักวิชาการหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ที่มุ่งมั่นเสนอตัวเป็นทางเลือกให้กับประชาชนด้วย ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่คนเหล่านี้นำความรู้ทางวิชาการ รวมถึงความสำเร็จทางธุรกิจของตนเองมาพัฒนาการเมืองไทย

เมื่อถามถึงการเตรียมจัดตั้งพรรคใหม่ที่นำโดยนายธราธร กับนายปิยบุตร นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดี ที่ผ่านมาการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะมีคนรุ่นใหม่เลือดใหม่เข้ามาตลอด แต่ยังไม่เคยมีคนรุ่นใหม่ที่จะเข้าการเมืองมาในฐานะผู้ก่อตั้งพรรค หรือถือธงนำในฐานะคนรุ่นใหม่มาก่อน ดังนั้น เมื่อคนเหล่านี้ตัดสินใจจะมาเล่นการเมืองคงไม่ต้องหวาดกลัวอะไร เขาคงทราบดีอยู่แล้วว่าการเมืองไทยไม่ใช่การเมืองโดยทฤษฎี ไม่ใช่การเมืองในฝัน แต่เป็นการเมืองที่เกิดจากชีวิตจริงๆ เป็นการเมืองที่ไร้รูปแบบ อะไรก็เกิดขึ้นได้ตลอด การตัดสินใจลงเล่นการเมืองอย่างแน่วแน่ก็แสดงว่าศึกษา และเตรียมตัวเตรียมใจเผชิญกับสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว

โพลเผยคะแนนผลงานรบ.เพิ่มขึ้น

วันเดียวกัน กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยผลสำรวจเรื่อง “ประเมินผลงาน 3 ปี 6 เดือน รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,165 คน จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ พบว่า ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจในการบริหารงานของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ในช่วง 3 ปี 6 เดือน เฉลี่ย 5.64 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการประเมินการทำงานรอบ 3 ปี ที่ได้ 5.27 คะแนน

โดยรัฐบาลได้คะแนนเพิ่มขึ้นทุกด้าน ด้านที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ ด้านการต่างประเทศ เพิ่มขึ้น 0.61 คะแนน รองลงมาคือด้านสังคมและคุณภาพชีวิต เพิ่มขึ้น 0.47 คะแนน และด้านเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้น 0.41 คะแนน

เรตติ้ง”บิ๊กตู่”ร่วงทุกด้าน

สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ ในช่วง 3 ปี 6 เดือน ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจ เฉลี่ย 6.82 คะแนน ซึ่งลดลงจากการประเมินรอบ 3 ปี ที่ได้ 7.00 คะแนน โดยครั้งนี้นายกฯ ได้คะแนนลดลงเกือบทุกด้าน โดยด้านความเด็ดขาด กล้าตัดสินใจ ได้ 7.34 ลดลง 0.27 คะแนน ความขยันทุ่มเทในการทำงาน ได้ 7.01 ลดลง 0.13 ความซื่อสัตย์สุจริต ได้ 6.98 ลดลง 0.50 การรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม ได้ 6.79 ลดลง 0.22 ด้านบริหารจัดการตามอำนาจหน้าที่ได้ 6.59 ลดลง 0.14 คะแนน มีเพียงด้านความสามารถสร้างสรรค์ผลงานหรือโครงการใหม่ๆ ที่มีคะแนนเพิ่มขึ้น 0.17 โดยได้ 6.19 คะแนน

“แก้โกง-เศรษฐกิจ”ฉุดภาพลักษณ์รบ.

ทั้งนี้ ตลอด 3 ปี 6 เดือน ประชาชน ร้อยละ 45.2 เห็นว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ประเทศมีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นร้อยละ 30.9 เห็นว่าเหมือนเดิมและร้อยละ 23.9 เห็นว่าแย่ลงกว่าเดิม

ส่วนเรื่องที่บั่นทอนหรือทำลายภาพลักษณ์ ของรัฐบาลมากที่สุด ร้อยละ 25.9 ระบุว่าเรื่องเศรษฐกิจยังไม่ดีเท่าที่ควร ร้อยละ 23.0 ระบุว่าข่าวความไม่โปร่งใสของบุคคลร่วมรัฐบาลและคนรอบข้างนายกฯ และร้อยละ 16.3 ระบุว่ายังไม่เด็ดขาดเรื่องการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น

“โรม”เย้ยคสช.ตัวตลกชาวโลก

นายรังสิมันต์ โรม กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ หรือดีอาร์จี และเครือข่ายกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กล่าวถึง คสช.ไม่พอใจการใส่หน้ากาก “ยุทธ์น็อกคิโอ” ล้อเลียนว่า คงเกิดจากสื่อต่างชาตินำไปรายงาน ทำให้รัฐบาลเสียภาพลักษณ์ กลายเป็นตัวตลก โฆษก คสช.จึงออกมาพูดถึงเรื่องนี้ แต่อยากบอกให้รู้ว่าการล้อเลียนเป็นสีสันทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เราขอยืนยันว่าจะล้อเลียนหน้ากากยุทธ์น็อกคิโอต่อไป และอาจมีการล้อเลียนเรื่องอื่นในอนาคตด้วย สิ่งที่รัฐบาล คสช.ควรซีเรียสกว่าเรื่องหน้ากากคือ ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อของเรามากกว่า

“รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งยังถูกล้อเลียน แล้วนับประสาอะไรกับรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรมหรือมีส่วนยึดโยงกับประชา ชนจะถูกล้อเลียนไม่ได้” นายรังสิมันต์กล่าว

แกนนำคนเลือกตั้งขู่ยกระดับกดดัน

ส่วนที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ประกาศจะมีการเลือกตั้งไม่เกินเดือนก.พ. 2562 นั้น นายรังสิมันต์กล่าวว่า คสช.กำลังกังวลว่ากระแสของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจะจุดติด จึงผ่อนคลายด้วยการประกาศถึงโรดแม็ปการเลือกตั้ง เพราะหาก คสช.ไม่รู้สึกอึดอัด คงไม่ให้ความสนใจจนต้องออกมาประกาศ ซึ่งครั้งนี้นายกฯ ประกาศเอง ดังนั้น ต้องบันทึกไว้ว่าโรดแม็ปเลือกตั้งเดือนก.พ. 2562 เป็นเจตจำนงของ คสช.เอง จะมาโทษหรือโยนให้ สนช.ภายหลังหากมีการเลื่อนออกไปอีกไม่ได้

“การกำหนดเลือกตั้งในเดือนก.พ.2562 ยังไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้องของเราที่ต้องเลือกตั้งปีนี้ กลุ่มคนอยากเลือกตั้งจะต้องมีการหารือเพื่อยกระดับการกดดันให้ทำตามข้อเรียกร้องต่อไป เพราะคำประกาศของพล.อ. ประยุทธ์ไม่ได้มีหลักประกันอะไร เหมือนที่เคยประกาศว่าจะมีเลือกตั้งเดือนพ.ย. 2561 ทั้งหมดจึงเป็นเพียงยุทธศาสตร์ เพื่อลดแรงกดดันเท่านั้น ไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นอะไรให้พวกเรา” แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งกล่าว

พรรคใหม่หนุน”ตู่”แค่โหนกระแส

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง 42 กลุ่มยื่นคำขอเตรียมการจัดตั้งพรรคว่า ส่วนหนึ่งคงตั้งใจอยากตั้งพรรคเพื่อทำงานทางการเมือง แต่เชื่อว่าเกินครึ่งต้องการทำตัวให้เป็นข่าว เป็นสีสันสนุกสนาน และคงเหลือไม่ถึงครึ่งที่จะจดทะเบียนตั้งพรรคได้จริง เนื่องจากต้องมีสมาชิกพรรคอย่างน้อย 500 คน มีเงินทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย และตอนนี้เริ่มมีบางพรรคแสดงตัวเป็นอะไหล่การเมืองให้กับบางฝ่าย

นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า ส่วนที่มีบางกลุ่มประกาศพร้อมสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ คนนอกนั้น ตนมองว่าเป็นการอิงตามกระแส หรือความนิยมต่อพล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากตัวหัวหน้าพรรคนั้นๆ อาจถูกมองว่ายังไม่เหมาะสมกับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ได้ จึงขายไม่ได้ ทำให้ต้องไปอิงกระแสของพล.อ.ประยุทธ์

“นิพิฏฐ์”ห่วงคนรุ่นใหม่เข้าสภายาก

เมื่อถามถึงนายปิยบุตร และนายธราธร จะร่วมกันตั้งพรรคเพื่อเป็นทางเลือกให้กับคนรุ่นใหม่ นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่มี คนรุ่นใหม่มารับใช้บ้านเมือง ตนสนับสนุน ไม่ว่าเขาจะอิงการเมืองกลุ่มใดก็ตาม แต่ครั้งนี้น่าเห็นใจพวกเขามาก เพราะการเลือกตั้งใหม่นี้ในบัตรเลือกตั้งจะไม่มีช่องให้กาบัตรเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีแต่ช่องกาบัตรส.ส.ระบบเขตเท่านั้น แล้วจึงเอาคะแนนไปคิดคำนวณหาจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อต่อไป ดังนั้น พรรคใหม่ต้องส่งผู้สมัครส.ส.ให้ครบทุกเขตหรือหลายเขตพื้นที่มากที่สุดเท่าที่ทำได้ รวมถึงต้องใช้ระบบไพรมารี่โหวตส่งผู้สมัคร ส.ส.ด้วย สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องยากสำหรับพรรคใหม่ รวมถึงทำให้คนรุ่นใหม่มีช่องทางเข้ามาได้ยาก และเสียเปรียบคนจากพรรคเก่าที่มีความคุ้นเคยกับประชาชนในพื้นที่นั้นๆ มากกว่า

มั่นใจอดีตส.ส.ใต้ไม่ทิ้งปชป.

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงกลุ่ม กปปส.เตรียมขอจดทะเบียนตั้งพรรคมวลมหาประชาชนฯ ว่า เรื่องนี้จะส่งผลกระทบกับพรรคประชาธิปัตย์แน่นอน และยิ่งทำให้คู่ต่อสู้มีความได้เปรียบเรามากขึ้น เพราะเป็นการแตกกันระหว่างพรรคประชา ธิปัตย์และ กปปส. แต่การตั้งพรรคของ กปปส.ไม่กระทบต่อฐานเสียงของพรรคโดยเฉพาะในภาคใต้มากนัก เท่าที่ทราบคงมีอดีตส.ส.ในภาคใต้ 3 คนที่จะย้ายไปพรรคใหม่นี้ แต่อดีตส.ส.ที่เคยเป็นแกนนำ กปปส.ยังอยู่กับพรรคเหมือนเดิม

นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า ตนได้ประกาศถึงอดีตส.ส.ภาคใต้ทั้งหมดของพรรค ให้มาแจ้งยืนยันอย่างไม่เป็นทางการภายในวันที่ 9 มี.ค.นี้ ว่าจะยังอยู่กับพรรคต่อไปหรือจะย้ายไปพรรคใหม่ เพื่อให้พรรคมีข้อมูลไว้เบื้องต้น และถ้ารอให้มาแสดงตนยืนยันในวันที่ 1 เม.ย.นี้ตอนนั้นมีบางคนที่ต้องการย้ายพรรค อาจทำให้เราไม่สามารถหาตัวคนมาลงแทนได้ทันกำหนด ทั้งนี้ ยังไม่มีอดีตส.ส.คนใดมาบอกตนว่าจะขอย้ายไปอยู่กับพรรคอื่น จึงเชื่อว่าอดีตส.ส.ภาคใต้ทั้งหมดยังอยู่กับพรรค ยกเว้นนายธานี เทือกสุบรรณ อดีตส.ส. สุราษฎร์ธานี น้องชายของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ ที่แสดงท่าทีแล้วว่าจะออกจากพรรคตามนายสุเทพ โดยนายธานีเป็นผู้ประสานงานในภาคใต้ของกลุ่มกับ กปปส.ด้วย

“น้องเทือก”เร่งรวบรวมสมาชิก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการเตรียมจัดตั้งพรรคมวลมหาประชาชนฯ ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นั้น ในสายของนายธานี เทือกสุบรรณ น้องชายนายสุเทพ มีสมาชิกและแกนนำร่วมก่อตั้งพรรค ประมาณ 42 คน ส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่จ.สุราษฎร์ธานี อาทิ นายบรรเจิด เหล่าปิยะสกุล อดีตเลขานุการส่วนตัวของนายสุเทพ นายวราภรณ์ คงอุดหนุน นายยุทธวีร์ ทองคำ นายสตางค์ วงศ์รอด นายสมพร วัชรภูษิต นายวีระ อวยศิลป์ นายศิลายุทธ์ คงอุดหนุน นายพงศ์รัตน์ ปิ่นแก้ว พล.ต.อ.ก่อเกียรติ วงศ์วรชาติ พล.ต.ต.พิกัด ตันติพงศ์ พล.ต.ต.ภูวดล กระแสอินทร์ เป็นต้น

เด็กปชป.ยกคณะพบ”ตู่”ครม.สัญจร

น.ส.รังสิมา รอดรัศมี อดีตส.ส.สมุทร สงคราม พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. เตรียมลงพื้นที่ประชุมครม.อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่จ.เพชร บุรี ในวันที่ 6 มี.ค. โดยเชิญผู้นำท้องถิ่นของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 เข้าพูดคุยหารือว่า ในวันดังกล่าว พวกตนกลุ่มส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ จะไปพูดคุยกับนายกฯ โดยมีอดีตส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี ของพรรคไปร่วมด้วย เมื่อนายกฯ มาถึงบ้าน เราในฐานะเจ้าของพื้นที่ต้องออกไปต้อนรับ

น.ส.รังสิมากล่าวว่า ยืนยันว่าจะไม่มีการพูดเรื่องการเมือง เพราะตนกลัวจะถูกนายกฯ ตำหนิ แต่ถ้านายกฯ จะให้พูด เราก็พูด ซึ่งในการพูดคุย จะเสนอนายกฯ แก้ปัญหาในพื้นที่ ในเรื่องสายไฟฟ้า บดบังทัศนียภาพและเรื่องทุจริต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน