ไทยสร้างไทย ไม่ค้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่แจก 1 หมื่น ดิจิทัลวอลเล็ต ต้องรอบคอบ เสี่ยงทำประเทศพัง หลังต้องกู้มหาศาล อาจกระทบเสถียรภาพการเงิน-การคลังระยะยาว

วันที่ 17 พ.ย.2566 นายรณกาจ ชินสำราญ คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย(ทสท.) เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งประชาชนจะได้ประโยชน์จากมาตรการของรัฐ แต่มีประเด็นที่กังวล นั่นคือการออก พ.ร.บ.กู้เงิน วงเงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อระดมทุนมาแจกในโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต

สุดท้ายแล้วอาจไม่มีใครได้เงินแม้แต่บาทเดียว เพราะเสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 และขัดพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 ที่ระบุว่า หากใช้เงินที่ไม่ได้เป็นไปตามงบประมาณปกติ จะทำได้กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น แต่วันนี้ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน จึงขอให้รัฐบาลพิจารณาด้วยความรอบคอบ

ตนเห็นว่าการที่รัฐบาลจะกู้เงินมาแจกโดยออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน น่าจะเป็นการซื้อเวลามากกว่า หรือไม่ เพราะจำเป็นต้องสร้างภาพให้ดูดีว่า กำลังทำตามนโยบายที่พรรคเคยหาเสียงไว้ในช่วงเลือกตั้ง แต่ผลกระทบที่ตามมา กลับไม่ได้นำมาพิจารณาอย่างรอบคอบ คนไทยทั้งประเทศต้องมาร่วมกันแบกรับหนี้ดังกล่าวในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หลายคนมองว่า โครงการนี้เดิมโปรโมทว่าจะเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินใหม่ให้แก่ประเทศ ทำให้พัฒนาสู่เศรษฐกิจดิจิทัลแบบก้าวกระโดด แต่ดูเหมือนโครงการมีสภาพเป็นเพียงการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นการอุปโภคบริโภคแบบพื้นๆ เท่านั้น ไม่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในมิติของการหารายได้

ตรงกันข้ามอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมา นอกจากเพิ่มหนี้สาธารณะ อาจเป็นปัจจัยให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นมาอีก ตอนนี้มีคนไปร้องเรียนแล้วว่าโครงการนี้อาจเข้าข่ายมุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง ไม่ได้พัฒนาประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างที่หาเสียงไว้

ประเด็นสำคัญที่มีคนตั้งข้อสงสัยกันไว้มาก ก็คือ โครงการนี้สุดท้ายแล้ว อาจรเอื้อประโยชน์แก่ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่มากกว่า ร้านค้าขนาดเล็กจะมีปัญหา เพราะในอดีต เคยเข้าร่วมโครงการในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปรากฏว่าบางรายถูกประเมินภาษีเพิ่มขึ้น จึงอาจเป็นอุปสรรคที่ร้านค้าขนาดเล็กจะเข้าร่วมโครงการ และอาจจะไปเอื้อประโยชน์แก่ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่มากกว่า เท่ากับเพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมากยิ่งขึ้น

สำหรับพรรคไทยสร้างไทย เรามองว่าปัญหาที่สำคัญของประเทศในระยะใกล้นี้ คือไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ เราเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกที่มีสัดส่วนประชากรผู้สูงวัยสูงที่สุดในโลก และโชคร้ายยิ่งกว่าคือ คนแก่ไทยส่วนใหญ่ แก่ก่อนรวย คือมีฐานะยากจน และสุขภาพไม่ดี เราจะปล่อยให้ประเทศไทยเต็มไปด้วยคนแก่ที่ยากจน และสุขภาพไม่ดีไม่ได้ เพราะหากปล่อยให้เป็นเช่นนั้น ประเทศเราคงจะพัฒนาต่อไปไม่ได้อย่างแน่นอน

นอกจากจะมีปัญหาคนในวัยทำงานลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ เรายังต้องเผชิญกับปัญหาการที่รัฐต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากไปกับการดูแลรักษาพยาบาลผู้สูงวัย การเตรียมตัวในเรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็น ภาระการใช้จ่ายด้านสวัสดิการและสาธารณสุขจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก รัฐบาลจึงควรจัดสรรงบประมาณอย่างมีคุณภาพ และให้ความสำคัญในเรื่องมาตรการรองรับสังคมผู้สูงวัย ให้เป็นนโยบายในระดับต้นๆ

ดังนั้น การดำเนินการของรัฐบาลจึงขอให้ทำอย่างรอบคอบ และรับฟังเสียงของผู้เห็นต่างเพื่อนำมาพิจารณา ปรับปรุงแก้ไขนโยบายให้การกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้เงินภาษีของประชาชนมหาศาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน