ศิริกัญญา สงสัยร้านสะดวกซื้อ เข้าข่ายร้านขนาดเล็กหรือไม่ หลัง นายกฯ แถลงดิจิทัลวอลเล็ต บอกอยากเห็นแผนทั้งหมด แนะรัฐบาลส่งกฤษฎีกา-แก้กฎหมายธกส.ก่อนนำเงินมาแจก

เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2567 ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ภายหลังนายกรัฐมนตรีแถลงนโยบาย ดิจิทัลวอลเล็ตว่า ตอนนี้เข้าใจว่าข้าราชการสำนักงบประมาณไม่มีวันหยุดสงกรานต์ โดยในส่วนงบประมาณปี 67 มีเวลาได้เตรียมตัว เตรียมการณ์ แต่ไม่ได้เตรียมอะไรไว้เลย สุดท้ายน่าจะต้องโอนและเพิ่มงบไปที่กองทุนประชารัฐเพื่อสวัสดิการ และแจกจ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ทั้งนี้ ยังมีปัญหาว่าปกติบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะจ่ายผ่านบัตรประชาชน แต่รอบนี้จะให้ใช้เป็น OPEN LOOP คือเอาไปใช้ที่ไหนก็ได้ ตามปกติต้องไปกดเงินผ่านบัตรประชาชนที่ตู้เอทีเอ็มเท่านั้น และยังต้องใช้ผ่านร้านค้าที่มีเครื่องรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้น ยังเป็นปัญหาที่ระบบเพื่อให้ใช้เงินได้

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ตนอยากฝากไปยังรัฐบาลว่าเมื่อยืนยันว่าไตรมาส 4 จะไม่เลื่อนแน่นอน ตนอยากจะเห็นแผนงานทั้งหมด ไม่ใช่แค่เรื่องหาแหล่งที่มาให้ครบจำนวน ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2568 จะทำเมื่อไหร่ และสภาฯรออยู่ว่าจะอนุมัติหรือไม่อย่างไร

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการพัฒนาระบบ ซึ่งมีการยืนยันแล้วว่าไม่ได้เป็นแอพพิเคชั่น เป๋าตัง แต่ทำแอพใหม่โดยให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กับ สำนักงานรัฐบาลดิจิทัล เป็นคนจัดทำนั้น จะเสร็จเมื่อไหร่ เพราะกระบวนการทำระบบ จำเป็นต้องมีการทดสอบระบบก่อนใช้งานได้จริง เพราะหากใช้จริงแล้ว เกิดข้อผิดพลาดขึ้นเยอะ จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนเช่นกัน

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ส่วนรายละเอียดของการใช้จ่ายที่มีการแก้ไขไปในทางที่ดีที่ระบุว่าให้ใช้รอบแรกสำหรับร้านค้ารายเล็กเท่านั้น แต่ร้านค้ารายเล็กเรายังได้ยินไม่ชัดเจนว่า ร้านสะดวกซื้อ เป็นร้านค้าขนาดเล็กหรือไม่ เพราะร้านขนาดเล็กคือร้านขนาดเล็กลงมาแล้ว รวมร้านสะดวกซื้อหรือไม่ เพราะกลไกที่ค่อนข้างยุ่งยากในการแลกเป็นเงินสด คือต้องใช้ 2 รอบแล้วจึงแลกเป็นเงินสดได้

ร้านที่แลกได้ก็แลกได้เฉพาะที่อยู่ในฐานภาษีเท่านั้น อาจทำให้ร้านค้ารายเล็กรายย่อยตัวจริงไม่อยากเข้าร่วมโครงการหรือเข้าร่วมโครงการน้อยลงหรือไม่ เพราะแลกมาแล้วก็ยังแลกเป็นเงินสดไม่ได้ ต้องไปใช้จ่ายต่อ แต่เงินก็ต้องหมุนไปรายวัน จะมีความลำบากสำหรับร้านค้ารายเล็ก

หากสุดท้ายร้ายค้ารายเล็กเข้าร่วมโครงการได้น้อย วัตถุประสงค์ของโครงการจะทำให้เศรษฐกิจที่หมุนเวียนอยู่ในระดับฐานรากได้มากขึ้นก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ แต่ทั้งนี้วันนี้ยังไม่ค่อยได้รายละเอียดอะไรเพิ่มเติม คงต้องรอนัดถัดไปเพื่อได้ข้อมูลเพิ่มเติม แต่ถือว่ารับฟังความเห็นจากประชาชน ฝ่ายค้าน และสื่อมวลชนในการที่จะปรับในเรื่องของร้านค้าขนาดเล็กเข้าร่วมโครงการ

เมื่อถามว่าดิจิทัล วอลเล็ตจะกระตุ้นจีดีพี และเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า จากที่รัฐบาลคาดการณ์เอาไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1.2-1.8 และคาดการณ์ของปี 68 แบบฐานปกติน่าจะโตประมาณ 3.3 ก็เท่ากับเศรษฐกิจปี 68 หากมีดิจิทัล วอลเล็ต น่าจะโตได้ 3.5-4.1 ซี่งอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลว่าจะเป็นไปได้อย่างที่คาดการณ์หรือไม่ แต่เรื่องที่เรากังวลมากกว่า คือ รัฐบาลสัญญาไว้ว่า 4 ปี จีดีพีต้องโตเฉลี่ย 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ปีที่อัดทุ่มเงินงบประมาณมากที่สุดยังโตได้แค่ 5.1 อย่างเต็มที่ แล้วปีอื่นๆที่เหลือ ที่ไม่เหลือเงินไปทำอย่างอื่นแล้วจะเกิดอะไรขึ้น

เรื่องที่ผลจะตามมาคือหนี้สาธารณะ ตอนนี้เฉพาะที่ขยายวงเงินของปี 68 หนี้สาธารณะขึ้นไปอยู่ที่ 67 เปอร์เซ็นต์ เรียบร้อยแล้ว และภาระดอกเบี้ยที่จ่ายในแต่ละปีขึ้นเป็น 11 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้ เท่ากับจะเก็บภาษีมาเท่าไหร่ก็เอาไปจ่ายเป็นดอกเบี้ยหมดไปแล้ว ยังไม่นับว่าปี67 ก็ต้องกู้เพิ่มอีก

“จึงเป็นคอขวดที่สำคัญที่รัฐบาลต้องก้มหน้ารับไป และยิ่งใช้เร็วก็ยิ่งดี ยิ่งไปกินเงินงบในส่วนอื่นๆ ไปอีกระยะหนึ่ง รัฐบาลชุดต่อไปที่จะต้องมาแบกรับภาระหนี้ต่ออยู่แบบคอหอยแล้ว อีกนิดเดียวจะชนเพดานที่ 70 เปอร์เซ็นต์แล้ว นี่ขนาดเป็นกู้สาธารณะเพียงแค่งบปี 67 และงบปี 68 ยังไม่นับรวมกู้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ซึ่งไม่ได้อยู่ในหนี้สาธารณะก็จริง แต่สุดท้ายยังต้องใช้เงินงบประมาณใช้คืนหนี้อยู่ดี ฉะนั้นนอกเหนือจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ยังมีเรื่องภาระที่แฝงมาด้วย หลังจากทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต” น.ส.ศิริกัญญากล่าว

เมื่อถามว่ารัฐมีอำนาจใช้เงินของธกส. และเป็นไปตามวินัยการคลังหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เรื่องธกส.ยังมีประเด็นในข้อกฎหมาย เพราะตามวัตถุประสงค์ของธกส. ที่ระบุไว้ตามกฎหมาย สามารถทำได้ในการช่วยให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย แต่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ข้อใดที่จะไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต

ตอนนี้ยังเป็นประเด็นกันอยู่ว่า จะต้องส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเหมือนกับกรณีของธนาคารออมสินหรือไม่ แต่มันมีความเทาๆที่จะตีความให้เข้าข้างรัฐบาลก็ทำได้ แต่การละเลยที่จะให้กฤษฎีกาช่วยตีความก่อน ก็น่ากังวล ที่สำคัญจะทำอย่างไรให้มีเงินมาใช้จ่ายให้เต็มที่ เพราะธกส.ยังติดเกณฑ์ของกรอบวินัยการเงินการคลัง รัฐบาลพูดย้ำหลายรอบว่าไม่มีการขยายแน่นอน ต้องมารอดูว่าโครงการไหนจะไปก่อน เพราะพักหนี้เกษตรกรจะทำต่อจนครบ 3 ปีหรือไม่ หรือ โครงการไร่ละ 1 พันจะยังคงเดินหน้าไปต่อได้หรือไม่ อันนี้ก็เป็นข้อกังวลสำหรับการใช้เงินของธกส.

เมื่อถามว่าฝ่ายค้านจะดำเนินการอย่างไรนอกจากรอให้รัฐบาลถามกฤษฎีกา น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะถามกฤษฎีกาอยู่หรือไม่ เราจะช่วยกระทุ้งอีกแรงว่าตรงดูให้ดีๆ หรือต้องแก้ไขพ.ร.บ.ธกส.ให้เรียบร้อยก่อน

ถ้ารัฐบาลจะออกพ.ร.บ.งบประมาณปี 68 แก้นิดหน่อยเพื่อให้สบายใจ และให้ ธกส.ไม่ต้องกังวลที่จะเอาเงินมาให้ดิจิทัลวอลเล็ตใช้ด้วย แค่นี้ก็บิดมากพอแล้วที่ให้เป็นโครงการดิจิทัลวอลเล็ตสำหรับเกษตรกรโดยเฉพาะ เพื่อที่จะจ่ายให้เฉพาะเกษตรกร ต้องไปหามา 17 ล้านคนก็ว่าเหนื่อย ตัวระเบียบและกฎหมายต่างๆก็ควรจะทำให้เรียบร้อยเช่นเดียวกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน