“กต.” เผย สถานการณ์ “แม่สอด” ยังไม่แน่นอนสูง ยัน ดูแลผู้ลี้ภัยเมียนมาบนหลักมนุษยธรรม ย้ำ ไม่อนุญาตให้ใช้ดินแดนไทย ยัน พร้อมเป็นตัวกลางเจรจา ถ้าได้รับเชิญ
เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2567 ที่ตึกสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์ กรณีผู้หนีภัยการสู้รบบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา บริเวณ อ.แม่สอด
โดยนายนิกรเดช กล่าวว่า ตอนนี้ที่ประชุมประเมินสถานการณ์ว่ายังมีความไม่แน่นอนสูง ต้องประเมินสถานการณ์กันรายชั่วโมงรายวัน โดยบ่ายนี้ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ ก็จะลงพื้นที่
ซึ่งจะเห็นภาพชัดมากขึ้นในหลายๆ เรื่อง ทั้งเรื่องสถานการณ์การสู้รบในฝั่งเมียนมา เรื่องการดูแลความเรียบร้อยของไทย เรื่องการให้ความช่วยเหลือบนหลักพื้นฐานของมนุษยธรรม ที่จะชัดเจนขึ้นคือเรื่องปริมาณคน และวิธีการช่วยเหลือ
3 หลักการที่เรายืนยันมาโดยตลอด คือ 1.การยึดมั่นในการรักษาอธิปไตยของไทย คือการดูแลคนไทยไม่ให้ได้รับผลกระทบ 2.ไม่ให้ใช้ดินแดนของไทยในการต่อต้านรัฐบาลต่างประเทศ และ 3.การยึดมั่นในหลักมนุษยธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นหัวใจในการดำเนินงานของเราอยู่แล้ว
“นายปานปรีย์ ในฐานะประธานที่ประชุมฯ ได้สั่งการให้มีการติดตามสถานการณ์ โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติจะเป็นหน่วยงานหลัก และกต.จะเป็นหน่วยงานที่ดูแลการพูดคุยกับฝ่ายต่างประเทศ และองค์การระหว่างประเทศที่ให้ความช่วยเหลือต่างๆ รวมทั้งการประสานท่าทีกับอาเซียน” นายนิกรเดช กล่าว
เมื่อถามว่าจะมีฝั่งเมียนมามาตั้งกองกำลังในฝั่งเราหรือไม่ นายนิกรเดช กล่าวว่า ไม่ได้ ตั้งกองกำลังในฝั่งเราไม่ได้ และไม่มีแนวโน้มใดๆ ที่จะมาตั้ง โดยเป็นจุดยืนที่ตนย้ำเฉยๆ ว่า เราไม่อนุญาตให้ใช้ดินแดนไทย และทางฝั่งเมียนมาก็ทราบดีถึงแนวปฏิบัตินี้ ไม่มีการใช้ดินแดนไทยแน่นอน
ที่จะไปดูบ่ายนี้คือไปดูแผนที่เราเตรียมไว้ ซึ่ง ณ ปัจจุบันเป็นไปตามแผนทุกอย่าง รับมือได้ค่อนข้างดี แค่ไปกำชับย้ำว่าฝ่ายไทยพร้อม หากมีการเข้ามาของผู้หนีภัยสงคราม หนีภัยการสู้รบมากขึ้น ซึ่งในขั้นนี้ทุกหน่วยงานยืนยันว่าพร้อม
เมื่อถามว่าจำนวนผู้อพยพเข้ากับออกนั้นเท่ากันหรือไม่ มีตกค้างหรือไม่ นายนิกรเดช กล่าวว่า ตัวเลขการมาและการกลับเป็นการหนีภัยการสู้รบ เราควบคุมตัวเลขไม่ได้ เพราะเราให้ความช่วยเหลือบนพื้นฐานหลักมนุษยธรรม คนที่หนีภัยคือคนที่ได้รับอันตราย เราจึงรับและให้ความช่วยเหลือ บน TOR บน SOP ของเรา
การกลับของเขามี 2 หลักการ คือ 1.หากเจ้าตัวประสงค์จะกลับโดยสมัครใจก็สามารถขอกลับได้ 2.เราจะต้องทำให้มั่นใจว่าเขากลับไปอย่างปลอดภัย โดยมีการสมัครใจขอกลับอยู่เนืองๆ ส่วนบางคนก็ไม่กลับ บางคนรู้สึกปลอดภัยแล้วจึงขอกลับไปดูแลบ้าน ดูแลครอบครัวของตัวเอง ฉะนั้น ตัวเลขการเข้าออกจะปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการช่วยพูดคุยเป็นคนกลางให้แต่ละกลุ่มหรือไม่ นายนิกรเดช กล่าวว่า เราพร้อมมาตลอด แต่เราจะไม่ทำโดยเริ่มจากฝ่ายไทยเอง แต่จะต้องได้รับการขอทาบทามให้เข้าไปช่วยจากฝั่งเมียนมา ให้เข้าไปช่วยคุย ซึ่งเราคุยได้กับทุกฝ่าย โดยตอนนี้ยังไม่มี เขายังคุยกันเองอยู่
เมื่อถามว่าทุกวันนี้ไทยรู้สึกอย่างไรบ้างในฐานะเพื่อนบ้านใกล้ชิด และในอนาคตเผื่อจะเป็นตัวกลางด้วย นายนิกรเดช กล่าวว่า แน่นอนว่าประเทศเพื่อนบ้านเราที่มีชายแดนติดกันกว่า 2,000 กิโลเมตร เราก็มีความกังวล เราไม่อยากให้มีการสู้รบในประเทศเขา
“เราพูดมาตลอดว่าเราต้องการให้มีสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงในประเทศเมียนมา เมื่อมองไปถึงอนาคตบทบาทของเรา หากทุกฝ่ายมองว่าไทยพร้อม ต้องการให้ไทยเข้าไปมีบทบาท เข้าไปพูดคุยกับทุกฝ่าย เราก็พร้อม แต่ต้องได้รับการร้องขอจากฝั่งเมียนมาก่อน” นายนิกรเดช กล่าว