เดดไลน์สุดท้าย! ชาดา ย้ำลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ ภายใน 31 พ.ค. ขู่เจ้าพ่อเงินกู้เมินเฉย เจอสอบภาษีแน่ ยัน ให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 16 พ.ค. 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย ในฐานะที่ปรึกษาของคณะกรรมการแก้ไขหนี้ทั้งระบบ พร้อมด้วย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย
พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วยผบ.ตร. นายณรงค์ ศรีระสัน ผู้แทนอธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สศช.) ร่วมแถลงเปิดแผนปฏิบัติการแก้ไขหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน
นายชาดา กล่าวว่า การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบตามที่นายกฯ ได้สั่งการและให้ความสำคัญเรื่องนี้ โดยมอบให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ดำเนินการ มีการลงทะเบียนหนี้กว่าแสนราย แต่ยังไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด เพราะคนไทยจำนวนมากของประเทศที่เป็นคนจน ทำมาหากินได้วันละ 500 บาท
ซึ่งลูกหนี้จะไม่สามารถไปกู้เงินในระบบอื่นได้ นำไปสู่การกู้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถเดินต่อไปได้ เรื่องนี้จึงมีส่วนสำคัญกับเศรษฐกิจของชาติในปัจจุบันหากหลงเข้าไปกู้จะไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ เพราะต้องใช้หนี้อย่างเดียว
กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการเรื่องนี้ทั่วประเทศแต่ยังไม่จบ จึงขอประกาศไปถึงเจ้าหนี้และลูกหนี้นอกระบบให้ออกมาแสดงตัว หากลูกหนี้ไม่มา เจ้าหนี้จะต้องมา ถ้าไม่มาไม่ให้ความร่วมมือกัน จะให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายไม่ได้ ขั้นตอนต่อไปทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อัยการ กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร จะดำเนินการขั้นต่อไป
ถ้าลูกหนี้และเจ้าหนี้ยังไม่เข้าสู่ระบบ คนที่เป็นหนี้ก็ไม่สามารถไปกู้ที่ไหนได้ จึงต้องการให้เจ้าหนี้มาเข้าสู่กรอบของกฎหมาย ถ้าไม่มาจะมีระยะเวลาในการดำเนินการที่จะต้องถูกตรวจสอบ เราจะตามเคลียร์คนที่มีอาชีพเงินกู้นอกระบบในทุกจังหวัด
แต่หากเข้ามาในระบบ รัฐจะดูแลและให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ให้ลูกหนี้สามารถใช้หนี้ในอัตราที่ไม่ทารุณโหดร้าย ส่วนเจ้าหนี้จะได้รับเงิน ยอมรับว่าเจ้าหนี้มีทั้งสายขาวและสายดำ แต่ก็อยากให้มาลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ และประชาชนก็จะสามารถกู้ได้ด้วย
“ขอให้คนที่อยู่ในวงจรหนี้นอกระบบกลับเข้ามาสู่ระบบ โดยเฉพาะเจ้าหนี้ จะให้เดดไลน์ตั้งแต่วันที่ 16-31 พ.ค.นี้ ในการมาแสดงตัวลงทะเบียน ไปแจ้งเข้าสู่ระบบด้วยตัวเองจะดีกว่าในทางออนไลน์
หากยังมีหนี้นอกระบบก็เหมือนรัฐบาลโปรยฝนลงมาแล้วหายหมด หญ้าไม่ขึ้น ความงอกเงยทางเศรษฐกิจหายหมด เพราะมีการลักดูดน้ำไป เราจะไม่ยอมให้คนไทยกู้หนี้มาใช้หนี้อีกแล้ว รัฐบาลจึงให้ความสำคัญในเรื่องนี้และจะดำเนินการอย่างเด็ดขาด เดดไลน์ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่คนทำผิดกฎหมายอยู่จะมีทางรอด” นายชาดา กล่าว
นายชาดา กล่าวว่า ขอย้ำว่าให้มั่นใจว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการที่ถูกต้องจะปลอดภัยไม่ถูกดำเนินคดีและช่วยคนไทยในทางอ้อม และใครที่โดนจับก็ต้องถูกตรวจสอบทางภาษี แต่คนที่อยู่เบื้องหลัง นั่งเป็นเจ้าพ่อเงินกู้อยู่ในประเทศไทยทุกวันนี้ต้องเดินเข้าสู่ระบบ ถ้าไม่อย่างนั้นจะเจอการตรวจสอบที่เข้มข้น และจะมาว่ากลับไม่ได้ว่าไม่ได้ให้ความเป็นธรรม
“รัฐบาลไม่ยอมให้โครงการต่างๆ ที่ทำแล้วหายไปใต้ดินทั้งหมด เพราะคนไทยทำมาหากินได้แล้วต้องไปจ่ายหนี้และจ่ายได้แค่ดอกเบี้ย หลังจากนั้นก็ไปกู้อีกรายหนึ่งเพื่อมาใช้อีกรายหนึ่ง กลายเป็นว่าชีวิตหยุดกู้ไม่ได้ และปัญหาชีวิตก็ไม่ได้รับการแก้ไข วันนี้เป็นการแก้ไข ผมเข้ามาร่วมทำงานจนรู้ปัญหาดี ในฐานะนักการเมืองก็อยากจะแก้ปัญหาครั้งนี้อย่างยั่งยืนคือต้องจบ” นายชาดา กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีมาตรการภาษีเข้ามาดำเนินการอย่างเด็ดขาดหรือไม่ นายชาดา กล่าวว่า ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงสิ้นเดือนนี้ เป็นโอกาสของเจ้าหนี้ที่จะทำมาหากินแบบถูกกฎหมาย ส่วนระบบผิดกฎหมายต้องหมดไปตามวัฏจักรของบ้านเมือง เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขหนี้นอกระบบได้อย่างยั่งยืน
ช่วงเวลาที่เหลือขอแนะนำให้เจ้าหนี้ รีบมาขึ้นทะเบียนที่จังหวัดที่อาศัยอยู่ ที่ศูนย์ดำรงธรรม สถานีตำรวจ สถานที่ปกครอง เพื่อเข้าระบบ ลูกหนี้อาจจะกลัว เจ้าหนี้จะต้องมาลงทะเบียน และอย่าคิดว่าความผิดจะมาไม่ถึง เพราะสรรพากรจะเข้าไปตรวจสอบรายได้ของเจ้าหนี้และครอบครัวของท่าน และขอให้เตรียมคำตอบไว้ให้ดี
ส่วนข้าราชการที่เป็นหนี้นอกระบบจะต้องกล้าหาญที่จะออกมา ให้ไปบอกหัวหน้าหน่วยงานหรือผู้ว่าฯโดยรายงานว่าใครเป็นลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ แต่ถ้าใครไม่แจ้งแล้วเจ้าหนี้ให้รายชื่อมาบอก จะถือว่าเป็นความผิดหรือไม่ วันนี้ต้องกล้าเพื่อให้ประชาชนเดินตาม
เมื่อถามกรณีที่เจ้าหนี้เป็นข้าราชการ จะมีผลต่อหน้าที่การงานหรือไม่ นายชาดา กล่าวว่า เราจะไม่พูดเรื่องภายหลัง แต่เจ้าหนี้ที่เป็นข้าราชการ ต้องมาเร่งลงทะเบียน หากไม่มาลงทะเบียนอาจจะโดนสองเด้ง ทั้งทางอาญาและทางวินัย
ทั้งนี้เราจะแก้ปัญหาให้ ไม่ใช่ใช้เฉพาะนิติศาสตร์ แต่จะแก้ในทางรัฐศาสตร์ เพื่อให้ประชาชนมีแหล่งเงินกู้โดยไม่ผิดกฎหมาย ขอย้ำว่าหากไม่ทำจะถูกดำเนินมาตรการทางภาษี ทางกฎหมาย และจะไม่มีใครช่วยท่านได้

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย
ด้านนายกิตติรัตน์ กล่าวว่า นายกฯ ให้ความสำคัญ ทั้งหนี้นอกระบบและหนี้ในระบบ ทั้งสองมีความเกี่ยวพันกัน เช่น การแก้ไขหนี้ในระบบ พบว่าข้าราชการจำนวนไม่น้อยมีหนี้นอกระบบด้วย ก็อยากจะเรียกร้องให้ข้าราชการเหล่านั้นเข้ามาลงทะเบียนในระบบด้วย
ในส่วนการทำงานของคณะกรรมการ แม้มีการดำเนินการลงทะเบียนไปแล้ว แต่ยังไม่เป็นไปตามเป้า และมั่นใจว่ายังมีประชาชนที่อยู่ในภาวะที่เป็นหนี้นอกระบบเหลืออยู่ ซึ่งการแถลงข่าววันนี้ไม่ใช่เป็นการขยายเวลา เพราะการลงทะเบียนยังเป็นไปตามกำหนดระยะเวลาเดิม คือให้เจ้าหนี้และลูกหนี้มาลงทะเบียนให้เรียบร้อยในวันที่ 31 พ.ค.นี้ หากไม่มาเราจะดำเนินการในแผนการปฏิบัติงานอย่างจริงจังเข้มข้น
สำหรับลูกหนี้ที่ไม่กล้ามาลงทะเบียนเพราะกลัวจะถูกคุกคาม ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะให้ความคุ้มครองอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็มีการคุ้มครองเจ้าหนี้ด้วย คือต้องได้รับเงินต้นให้ครบจำนวน แต่หากไม่มาลงทะเบียนจะถือว่าเจ้าหนี้ไม่ต้องการที่จะได้รับเงินคืน รัฐก็จะไม่สามารถคุ้มครองได้ และในการดำเนินการทุกฝ่ายพร้อมที่จะให้ความคุ้มครอง ทั้งเรื่องความปลอดภัยและสิทธิทางกฎหมาย

พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วยผบ.ตร.
ขณะที่ พล.ต.ท.ธัชชัย กล่าวว่า สำหรับมาตรการคุ้มครองลูกหนี้นอกระบบ ขอยืนยันว่าเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดไว้เป็นความสำคัญในลำดับต้น โดยมีศูนย์การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบขึ้นมาดูโดยเฉพาะ
ที่ผ่านมาระดมกวาดล้างมาต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพ.ย. 2566 จับกุมในคดีผู้ที่คิดอัตราดอกเบี้ยเกินกำหนดและยึดทรัพย์ จึงขอให้ประชาชนกลับเข้ามาสู่ในระบบที่ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นจะต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมายทั้งอาญาและยึดทรัพย์
สำหรับการคุ้มครองความปลอดภัย ขอให้ไว้ใจว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการแล้วจะได้รับการดูแลความปลอดภัยเป็นอย่างดี ขณะที่การทำงานระหว่างตำรวจและอัยการในเรื่องของการยึดทรัพย์เป็นไปด้วยดี มีการส่งฟ้องและดำเนินการเกือบ 100%

นายณรงค์ ศรีระสัน ผู้แทนอธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สศช.)
ด้าน นายณรงค์ กล่าวว่า ทางอัยการได้ชี้แจงรายละเอียดให้กับทางเจ้าหนี้และลูกหนี้ หากมีการถูกดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญา แต่หากเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยจะได้รับการคุ้มครองทั้งทางกฎหมายและความปลอดภัยทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้
แต่กรณีที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการ เมื่อลูกหนี้จ่ายต้นครบแล้ว ฝ่ายปกครอง ตำรวจ อัยการก็จะให้หยุดจ่าย และหากเจ้าหนี้มีการข่มขู่ก็จะมีความผิดเป็นคดีอาญา เช่น เจ้าหนี้ที่มีการรวมกลุ่มเกินห้าคนขึ้นไปและมีการข่มขู่คุกคามลูกหนี้ ก็อาจจะถูกดำเนินคดีข้อหาอั้งยี่ซ่องโจรได้ ขณะเดียวกันก็จะมีมาตรการทางภาษีด้วย
หากลูกหนี้เจ้าหนี้ ท่านใดที่เป็นข้าราชการ ผู้ใช้แรงงาน ที่ไม่สามารถหยุดงานได้ ทางอัยการสูงสุดได้เปิดบริการในวันเสาร์ ตั้งแต่ 08.00-16.00 น. เพื่อบริการลูกจ้างหรือข้าราชการที่ไม่สามารถหยุดงานได้ ให้สามารถใช้บริการที่อัยการสูงสุดได้ทุกที่ทั่วประเทศ