วันที่ 26 มีนาคม 2561 น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา ครู และ แกนนำเคลื่อนไหว กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ในฐานะแกนนำเรียกร้องการเลือกตั้งและล่าสุดในการเดินขบวนไปยังกองบัญชาการกองทัพบกเพื่อเรียกร้องให้กองทัพหยุดสนับสนุนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ได้โพสต์ข้อความกับเหตุการณ์ในช่วงการเดินขบวนวันนั้นว่า การไม่มีวัฒนธรรมประชาธิปไตยและความเคยชินในวิธีคิดตื้นๆแบบฉาบฉวยทำให้คนไทยหรือแม้แต่นักข่าวบางส่วนถูกผู้นำเผด็จการใช้คำว่า “ความวุ่นวาย” มาขู่และตั้งเป็นเงื่อนไขสำหรับการคืนอำนาจให้ประชาชนได้

หากใช้วิธีคิดเดียวกัน ประเทศประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกาและประเทศส่วนใหญ่ในโลกคงต้องอยู่ใต้การปกครองแบบเผด็จการกันหมด เพราะมีการใช้สิทธิในการชุมนุมเกิดขึ้นทุกวัน ตัวอย่างในภาพนี้ก็เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นักเรียนและประชาชนที่สหรัฐรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องกฎหมายเพื่อจำกัดการครอบครองอาวุธปืน ทำไมประเทศที่มีสภาปกติและมีเสรีภาพสื่ออย่างสหรัฐอเมริกาจึงยังมีการชุมนุม? ก็เพราะประชาธิปไตยไม่ได้จบที่คูหาเลือกตั้งอย่างที่หลายคนชอบพูดกัน การชุมนุมเป็นช่องทางหนึ่งในการสื่อสารความต้องการ โดยเฉพาะในเรื่องที่มีความสำคัญและเร่งด่วนสำหรับกลุ่มผู้ชุมนุม และโดยเฉพาะเมื่อช่องทางการสื่อสารอื่นๆมีข้อจำกัด” น.ส.ณัฏฐา ระบุ

น.ส.ณัฏฐาระบุอีกว่า ตัดกลับมาที่เมืองไทย ภายใต้การปกครองของเผด็จการที่สภาไม่มีฝ่ายค้านและสื่อถูกคุกคามควบคุมอย่างเข้มงวด การชุมนุมซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานด้วยเหตุผลที่ได้กล่าวไว้จึงเป็นการแสดงออกเพื่อสื่อสารที่สำคัญกว่าในบริบทใดๆ จึงไม่ควรที่ประชาชนจะยอมรับฟังเงื่อนไขบนวิสัยเผด็จการ ว่าจะไม่คืนอำนาจหากยังมีการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมือง ผู้เข้าร่วมชุมนุมนั้นทราบดีถึงความเสี่ยงที่ตนต้องแบกรับภายใต้พรบ.ชุมนุมที่ร่างโดยสภาเผด็จการ ภายใต้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ถูกเรียกว่าเป็นกฎหมาย

“แต่ควรหรือที่เราจะรู้สึกเดือดร้อนกับการเดินบนผิวจราจรหนึ่งเลนถนนใหญ่ในเย็นวันเสาร์ มากไปกว่าการที่สิทธิพลเมืองถูกคุกคามโดยรัฐบาลเผด็จการด้วยความพยายามจะยืดการเลือกตั้งออกไปอีกเป็นครั้งที่ห้า ผ่านการใช้พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือด้วยการชวนให้มาลงสัตยาบันยืดเวลาร่วมกัน? ควรหรือที่เราจะเดือดร้อนกับการใช้เครื่องขยายเสียงเกินจากกำหนดเวลาที่ขอไว้ไม่ถึงชั่วโมง มากไปกว่าการที่รัฐบาลเผด็จการทำงบประมาณขาดดุลย์พุ่งสูงอย่างต่อเนื่องจนชนเพดานแบบไร้การตรวจสอบ? ควรหรือที่เราจะเดือดร้อนกับภาพของการชุมนุมมากไปกว่าความพยายามยื้ออำนาจและสร้างสิ่งแวดล้อมเดียวกับเมื่อครั้งประชามติร่างรัฐธรรมนูญโดยการใช้เงินกับโครงการไทยนิยมยั่งยืนและโดยการใช้อำนาจพิเศษของคสช.และการมีอยู่ของม.44 ในการเลือกตั้งครั้งหน้า?” แกนนำคนอยากเลือกตั้ง ระบุ

ทั้งนี้ น.ส.ณัฏฐาระบุย้ำว่า หากไม่ตั้งหลักให้ดี เราก็จะมีอนาคตที่แขวนอยู่กับความต้องการของเผด็จการต่อไปอย่างไม่มีจุดสิ้นสุด

สำหรับการชุมนุมของคนอยากเลือกตั้งในไทยนั้น เกิดขึ้นในวันเดียวกับที่ หนุ่มสาวจากโรงเรียนต่างๆ และประชาชนทั่วสหรัฐฯได้ร่วมเคลื่อนไหวชุมนุมครั้งใหญ่ในชื่อ “March for Our Lives” บริเวณหน้า แคปิตอล ฮิลล์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสภาคองเกรส ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.เพื่อเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงและความสูญเสียจากอาชญากรรมด้วยอาวุธปืน ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุกราดยิงในโรงเรียนหลายแห่งทั่วสหรัฐฯ จนมีนักเรียน ครูบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน