สส.ก้าวไกล ข้องใจรัฐบาล เตรียมแก้กม.ต่างชาติเช่าที่ 99 ปี-ถือครองคอนโดฯ หวั่นคนไทยลำบาก ‘ชาดา’ ยอมรับนายกฯ สั่งให้เร่งแก้กม. อยู่ระหว่างการศึกษา ไม่ขายชาติแน่
เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่ 2 เป็นประธานการประชุม พิจารณาวาระกระทู้ถามสดด้วยวาจา ของนายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ถามนายกฯ กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. เกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ และเรื่องอื่นๆ ว่า จากมติครม.ให้มหาดไทยไปแก้กฎหมายระบุชัดเจนเลยว่าต้องแก้ทรัพย์อิงสิทธิ จาก 30 ปี เป็น 99 ปี ต้องไปแก้ พ.ร.บ.อาคารชุด จากต่างด้าวถือ จาก 49 เป็น 75 เปอร์เซ็นต์
แปลว่า ครม.มีธงอยู่แล้วใช่หรือไม่ว่าจะแก้กฎหมายนี้ เพราะนี่ไม่ใช่การศึกษา เพราะครม.ต้องทราบว่าสิ่งที่ทำอยู่ดีหรือไม่ดี เหมาะสมหรือไม่ เอาความเสี่ยงของประเทศไปแลก เพื่อจะช่วยบางโครงการขายได้มากขึ้นหรือไม่ และทำไมต้องให้ต่างด้าวเช่า 99 ปี และใครเป็นต้นคิดเอาเรื่องนี้เข้าครม. และมติครม.ไม่ได้ให้ศึกษา แต่ให้พิจารณาทบทวนแก้ไขกฎหมาย
นายศุภณัฐ กล่าวว่า การที่นายกฯไม่เป็นประธานประชุมครม. แต่ให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ เป็นประธานประชุมครม.แทน เพราะอะไร หรือนายกฯ กลัวโดนครหาว่า เอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มทุนในธุรกิจเดิมที่ท่านเคยเป็นอดีตผู้บริหารหรือไม่
นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย ชี้แจงแทนนายกฯว่า ตนไม่ได้อยู่ในวันที่ครม.มีมติในเรื่องนี้ แต่เมื่อกลับมา ก็ได้รับนโยบายจากรมว.มหาดไทย ให้ไปศึกษาผลได้ผลเสีย ผลกระทบ ซึ่งกรณีทรัพย์อิงสิทธิ์ที่จะเป็น 99 ปี เป็นการจัดการของเจ้าของที่ที่ไม่อยากจะขาย เป็นการให้เข้าไปปรับปรุง กรณีกฎหมายนี้ ตนคิดว่าไม่ใช่เรื่องการเช่าเหมือนเกาะฮ่องกง
ต้องยอมรับว่ากฎหมายที่จะให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จะตายตัวไม่ได้ ต้องปรับปรุงและแก้ไขได้ ตามภาวะเศรษฐกิจที่บางครั้งต้องการเงินทุนจากต่างชาติ และการจะให้ต่างชาติมาลงทุน ก็ต้องดูว่าต่างชาติไม่ได้มาครอบครองและยึดไปหมดในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และคนไทยเราก็กลัวกับกฎหมายแบบนี้ กลัวว่าคนต่างชาติจะเข้ามาครอบงำประเทศไทยจะมาเป็นเจ้าของที่ดินจำนวนมาก แต่ในภาวะที่เราต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ต้องยอมรับว่า ต้องปรับปรุงข้อกฎหมาย ต้องศึกษาผลดี ผลเสียให้รอบด้าน
“ยืนยันว่านายกฯให้ศึกษา ไม่ได้ให้ทำเลย ผมคุยกับกรมที่ดินว่าการดำเนินการเรื่องนี้ ต้องทำให้ชัดเจนในเหตุผล ข้อดีอย่างไรถึงให้เพิ่มเป็น 75% ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันและศึกษาการครองครองประเภทไหน แบบไหนมากกว่า ทั้งนี้นายกฯ สั่งให้เร่งดำเนินการ ซึ่งผมเข้าใจเรื่องความเป็นห่วงที่ต่างชาติจะครอบครองสิทธิ 75% แต่ที่ผ่านมาเคยมีมาแล้ว แต่ครอบครองได้ 5 ปี แต่ขณะนี้ยกเลิกแล้ว
ยืนยันว่ายังไม่ได้ดำเนินการและทำอะไรเลย และคิดว่าที่นายกฯให้นายภูมิธรรม เป็นประธานประชุมครม. คงไม่เกี่ยวกับการที่ท่านทำธุรกิจด้านนี้แล้วกลัว แต่ความเป็นจริงต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว เพราะรู้กันอยู่แล้วท่านเคยทำธุรกิจตรงนี้มา ไม่ว่าจะออกหรือเสนอโดยใคร ย่อมหนีไม่พ้น แต่วันนั้นนายกฯ ติดภารกิจ และวันนั้นผมก็ไม่อยู่” นายชาดา กล่าว
นายชาดา กล่าวด้วยว่า นายกฯ สั่งให้แก้ไข แต่ต้องศึกษาผลดีผลเสีย อีกทั้งต้องส่งให้สภาฯ พิจารณาลงมติ ทั้งนี้ การศึกษาไม่ใช่ยกที่ดินให้ใคร หากเป็นเช่นนั้นตนไม่ยอม และไม่มีใครสั่งตนได้ ทั้งนี้มีการเสนอแก้ไขกฎหมายที่ดิน ส่วนของนิติบุคคล ตามที่พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทยเสนอ ซึ่งตนให้ศึกษาทั้งหมด
อย่างไรก็ตามผลการศึกษาต้องดูว่าสมควรทำหรือไม่ หากเป็นผลเสียจำนวนมาก นายกฯ คงไม่ฝืน แต่ตอนนี้เป็นคำสั่งให้แก้กฎหมาย เพื่อศึกษาวิเคราะห์ เรื่องนี้ต้องชี้แจงประชาชน นายกฯ มาบริหารบ้านเมือง แผ่นดินเป็นของคนไทย จะทำอะไรต้องถามประชาชน แต่คนที่เป็นผู้บริหารต้องมีไอเดีย แนวคิดเพื่อให้เศรษฐกิจนำพาประเทศไปในทางที่ถูกที่ควร ดังนั้นไม่ต้องห่วง และต้องแยก มีวิธีคิดระหว่างเศรษฐกิจ ความมั่นคงชาติ และผลประโยชน์ของแผ่นดิน
นายศุภณัฐ ถามต่อว่า หลังรัฐบาลเข้ามาทำงาน 3 เดือนนายกฯ ให้ออกมาตรการ ช่วยกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 7 มาตรการโดยบอกว่าจะทำให้ มียอดการขายคอนโดมหาศาลและจะมีการลงทุน ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น หลายแสนล้าน ถ้าดีจริงแล้วเหตุใดต้องมาปรับแก้กฎหมายให้สิทธิต่างชาติเช่นนี้อีก พร้อมระบุการกระตุ้นเศรษฐกิจทำได้ แต่ต้องไม่ทำให้ประเทศเสียหายและไม่ต้องทำให้ประเทศได้รับความเสี่ยง และอยากทราบว่า 7 มาตรการที่รัฐบาลออกมานั้น ผ่านมา 1 ปีแล้ว คนไทยได้รับผลดีอย่างไร
นายชาดา ชี้แจงโดยยืนยันอีกครั้งว่า ทั้งหมดอยู่ระหว่างการศึกษา และ 7 มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ รัฐบาลก็ดำเนินการอยู่ การแก้ไขปัญหาต่างๆ คงไม่ได้ทำเพียงแนวทางเดียว แต่ในการบริหารประเทศจะต้องมีโครงการต่างๆออกมา ไม่ใช่ “ร้องเพลงเดียวตลอด”
เชื่อว่านายกฯ ก็ต้องคิดและหาทางหลังจากได้รับทราบปัญหาต่างๆก็พยายามหาแนวทางแก้ไข แต่การจะทำในเรื่องนี้ขอย้ำว่ากรมที่ดินก็ต้องทำอย่างละเอียด ชี้แจงกับประชาชนได้ โดยกฎหมายก่อนจะออกมาก็ต้องมีการทำประชาพิจารณ์และยังมีรายละเอียดอื่นๆทั้งเรื่องค่าธรรมเนียมต่างๆ ด้วย