ศิริกัญญา ชวนพรรคร่วม รบ. ช่วยโหวตคว่ำร่าง กม.ขอเงิน 1.22 แสนล้าน โปะดิจิทัลวอลเล็ต เหตุผิดพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เหน็บอีก 15 วันเปิดลงทะเบียนแต่ยังทำระบบไม่เสร็จ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 17 ก.ค.2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม

ต่อมาเวลา 09.50 น. น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายว่า ที่เราต้องมาพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯ เป็นฉบับที่ 3 ของปีนี้แล้ว เพราะที่มาที่เดียวคือโครงการเรือธงของรัฐบาลที่จะทำโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต นี่คือแหล่งวงเงินงบประมาณล่าสุดที่ใช้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่

โดยในงบประมาณปี 2568 ที่เพิ่งผ่านวาระแรก ปรากฏว่านอกจากจะกู้เพิ่ม 1.52 แสนล้านเพื่อทำโครงการนี้แล้ว ยังต้องกลับไปบริหารจัดการภายในงบประมาณปี 2568 อีก 1.32 แสนล้านบาท แต่ก็ยังไม่ทราบว่าจะบริหารจัดการอย่างไร

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า วันนี้ที่เราพิจารณากันคืองบประมาณปี 2567 ที่รัฐบาลจะมาขอกู้เพิ่มอีก 1.22 แสนล้านบาท และต้องไปหารายได้อื่นมาเพิ่มอีกกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าน่าจะมาจากเงินสดของบริษัทบริหารสินทรัพย์ไทยที่อยู่ระหว่างการพิจารณาการชำระหนี้อีก 1 หมื่นล้านบาท รวมถึงงบกลางใช้จ่ายฉุกเฉิน

จะเห็นว่า ยอดเงินลดลงเหลือเพียง 4.5 แสนล้านบาท ที่ต้องกู้เพิ่มอีก 1.22 แสนล้าน เท่ากับงบประมาณปี 2567 มีการกู้ชดเชยขาดดุล 805,000 แสนล้านบาท ถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์รองจากปี 2568 คิดเป็น 4.3% ถือเป็นปัญหาในการเพิ่มหนี้สาธารณะ เพิ่มภาระชำระดอกเบี้ยและหนี้ตามมา

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า สำหรับงบประมาณปี 2567 ที่สภาฯเพิ่งมีการอนุมัติไป 3.48 ล้านล้านบาท แต่วันนี้จะเพิ่มเป็น 3.602 ล้านล้านบาท มีการกู้เพิ่มจากเดิม 693.000 แสนล้านบาท เพิ่มเป็น 805.000 แสนล้านบาท ขณะที่เพดานของการกู้จากเดิมอยู่ที่ 790.000 แสนล้านบาท แต่กลับขยายเพดานการกู้ออกเป็น 815.056 แสนล้านบาท เหลือพื้นที่ให้กู้เพิ่มได้อีกเพียง 10,056 ล้านบาท

ต้องดูว่ารัฐบาลจะมีงบประมาณเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงหากจัดเก็บไม่เข้าเป้าได้หรือไม่ หากจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้าก็จะทำให้งบประมาณที่สภาฯ อนุมัติไปใช้ได้ไม่ครบ และเรากู้โปะไม่เพียงพอ แต่ที่รัฐบาลทำอยู่ทุกวันนี้ก็เหมือนไม่ได้สนใจ ไม่ได้แคร์ที่ประเทศต้องมาอยู่ในภาวะเสี่ยงเช่นนี้ก็เพียงเพราะจะได้ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตและกู้จนสุดเพดานเช่นนี้

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ส่วนประมาณการที่สภาฯ ได้รับนั้น จากเดิมที่มีการประมาณการไว้ว่าจีดีพีจะโต 2.7% ตอนนี้ก็เหลือที่ 2.5% แต่เมื่อไปดูในเอกสารงบประมาณการรายได้ปรากฏว่าไม่มีการประมาณการรายได้ใหม่ จะเป็นได้อย่างไรที่จะไม่มีการประมาณรายได้ใหม่ทั้งที่ระยะเวลาก็ล่วงเลยมาหลายเดือนแล้ว จากการประมาณการรายได้ครั้งล่าสุด

แต่ที่ออกมาในระยะ 8 เดือนก็ปรากฏว่าต่ำกว่าเป้า 2.6 หมื่นล้านบาท และหน่วยงานต่างๆ ก็ดูเหมือนว่าจะเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าดูท่าทีแล้วรัฐบาลไม่น่าจะจัดเก็บภาษีให้เข้าเป้าได้ โดยเฉพาะกรมสรรพสามิตที่แถลงว่าจะจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าถึง 5.8 หมื่นล้านบาท ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ที่เรายังไม่รู้ว่ารายได้เพียงพอที่จะใช้สำหรับงบประมาณปี 2567 นั้น รัฐบาลยังจะมาขอกู้สภาฯ ได้เต็มเพดานอีกหรือ จะไม่เหลือพื้นที่ไว้ให้บริหารความเสี่ยงอะไรเลยใช่หรือไม่

นอกจากนี้ การบริหารงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาทนั้น ผ่านมาแล้ว 7 เดือนงบกลางก็ยังใช้ไปไม่ถึงไหน ยังอนุมัติอยู่ที่ 1.79 หมื่นล้านบาท บางโครงการอาจจะไม่ได้เบิกจ่ายด้วยซ้ำ ไม่น่าท่านถึงบอกว่าเศรษฐกิจแย่ แต่ไม่มีมาตรการอะไรออกมาช่วยเหลือประชาชนเลย ระหว่างที่รอโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงสรุปได้ว่า รัฐบาลยังไม่รู้ว่าจะนำเงินมาใช้กับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต กี่บาท แต่ตอนนี้น่าจะเคาะแล้วว่าใช้แค่ 4.3 หมื่นล้านบาท และต้องถูกกั๊กไว้จนถึงปลายปีเพื่อใช้กับโครงการนี้

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ปัญหาคือสามารถทำได้จริงหรือไม่กับการโยกงบปี 2567 มาใช้ข้ามปีในปี 2568 ซึ่งไม่สามารถทำได้ ทั้งนี้ สำหรับเรื่องงบกลางปีหรืองบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมนั้น ตามมาตรา 21 ก็บอกไว้ชัดเจนว่าการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมนั้นต้องใช้จ่ายระหว่างปีงบประมาณ งบกลางปีแต่จะไปใช้จ่ายข้ามปีคงทำไม่ได้ ถือว่าผิดมาตรา 21 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังอย่างชัดเจน

แต่หากจะบอกว่างบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมก็เหมือนงบประมาณประจำปี ใช้ข้ามปีได้ แต่ในมาตรา 43 ของพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561 ก็บอกว่าต้องก่อหนี้ผูกพันไว้ก่อนสิ้นปี แล้วเราจะก่อหนี้ผูกพันกันอย่างไร แต่เดาว่าเดี๋ยวคงออกมาสีข้างถลอกว่าแค่ลงทะเบียนก็เป็นการก่อหนี้ผูกพันแล้ว ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะการก่อหนี้ผูกพันคือต้องมีสัญญาทั้งสองฝ่าย หากทำแค่ฝ่ายเดียวถือเป็นการให้

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า ทำไมถึงไม่แก้ไขกฎหมายให้เรียบร้อยก่อน เพราะรัฐบาลที่มีเสียงในสภามากกว่า คงไม่ขัดข้องที่จะแก้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังจึงเสนอให้ห้อยท้ายของมาตรา 21 ให้ได้รับความเห็นชอบจาก ครม. หรือนายกรัฐมนตรี ซึ่งเวลาที่เรากำลังเดินหน้าลุยไฟกันอยู่ คนที่เดือดร้อนที่สุดคือข้าราชการประจำที่ทำหน้าที่เป็นคนชงเรื่องต่างๆ โดยที่ฝ่ายการเมืองยังไม่ต้องมีความรับผิดชอบอะไรเลยเวลาที่ตัดสินใจจะทำอะไรที่เสี่ยงผิดกฎหมาย

อีกประเด็นที่ทำให้รัฐบาลเลือกใช้งบกลางเงินสำรองจ่ายจากงบประมาณปี 2567 ก็ยังสามารถที่จะเบิกเงินลงทุนสำรองจ่ายได้อีก 5 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในตอนที่มีการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วน แต่ตอนนี้ตนเห็นเพียงแค่ความจำเป็นที่ต้องรักษาหน้าของรัฐบาล แม้จะใช้งบก้อนนี้แต่ก็ต้องโอนคืน และสุดท้ายต้องตั้งเงินลงทุนสำรองจ่ายของปี 2569 มาใช้คืนอยู่ดี แบบนี้เรียกว่ายืมเงินข้ามปี แต่เมื่อไม่ใช้ก็ดีถือเป็นวาสนาประเทศที่จะไม่ได้มีการใช้เงินทุนสำรองจ่ายตรงนี้

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อมีคนมาลงทะเบียนเกินกว่างบประมาณที่ตั้งไว้จะมีความเสี่ยงผิด พ.ร.บ.เงินตราหรือไม่ หรือจะยิ่งทำให้ร้านค้าที่ต้องคืนเงินสดขาดความเชื่อมั่นว่าถ้าเป็นเลขช้าจะได้เงินคืนหรือไม่ โครงการดิจิทัลวอลเล็ตถูกตีความนับเป็นรายจ่ายลงทุน 80% จริงหรือไม่ ซึ่งประชาชนที่ใช้ก็ใช้เพื่ออุปโภค บริโภค เป็นหลัก

ดังนั้น จะตีความเป็นรายจ่ายลงทุนได้อย่างไร โดยหากไม่นับเป็นรายจ่ายลงทุนนั้น จะผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง 2561 มาตรา 20 ตามหลักกฎเกณฑ์ว่างบประมาณรายจ่ายลงทุน ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และต้องไม่น้อยกว่าวงเงินส่วนขาดดุลของงบประมาณประจำปีนั้น

“โครงการนี้จะลงทะเบียนอีก 15 วัน แต่ยังหาเจ้าภาพไม่ได้ และยังคงใช้ไว้ในงบกลางและระบบลงทะเบียนพึ่งได้ผู้ชนะการประมูล 2 เจ้า ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีระบบการชำระเงินที่ชัดเจน ดังนั้น จะทันหรือไม่ รวมถึงยังมีเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปมา และขณะนี้ก็ยังไม่มีการสร้างแรงจูงใจให้ร้านค้าเข้ามาลงทะเบียนได้ ดังนั้น ระบบที่ถูกออกแบบมาแบบนี้เอื้อกับร้านค้าที่มีสายป่านยาว แต่ร้านค้ารายเล็กอาจไม่เข้าร่วมโครงการ เพราะต้องการใช้เงินสดในการใช้จ่าย ซึ่งรัฐบาลก็ยังไม่บอกว่าจะต้องมีระบบการจ่ายภาษีอย่างไร ไม่มีความชัดเจนเลย ถ้าเขามีเงินสดไม่พอ จะมีสินเชื่อให้เพื่อจูงใจให้เข้าร่วมโครงการหรือไม่ ถือเป็นการกีดกันรายย่อยเป็นกลายๆ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ สำหรับโครงการนี้ที่ยังไม่รู้ว่าจะลงทุนจริงๆ เท่าไหร่ แต่ตีไว้ประมาณ 5 แสนล้านบาท ก็บอกได้คำเดียวว่า เป็นการลงทุนแค่การได้รักษาหน้าตามที่ได้หาเสียงไว้แล้ว แม้หน้าตาจะไม่เหมือนตอนที่หาเสียงไว้ก็ตาม และได้เพิ่มจีดีพีได้เต็มที่แค่ 1.8% หรือ 3.5 แสนล้านบาท แบบนี้คุ้มทุนหรือไม่ เพราะสิ่งที่จะเสียไปคือเพิ่มความเสี่ยงทางการคลัง ทำผิดกฏหมาย เอื้อค้าปลีกรายใหญ่ กีดกันรายย่อย เสียโอกาสที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้า และเสียโอกาสที่จะทำนโยบายอื่น

ย้ำว่าเรื่องนี้สุ่มเสี่ยงที่จะทำผิดกฏหมาย ซึ่งหากสามารถทำต่อได้ จะสร้างบรรทัดฐานที่ผิดในการบริหารจัดการงบประมาณในอนาคต และสร้างความเสียหายที่ประเมินไม่ได้ รวมถึงการของบประมาณแบบนี้ จะเพิ่มภาระผูกพันไปถึงงบประมาณในอนาคต

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า นี่เป็นกระสุนนัดใหญ่ นัดแรก นัดเดียว และนัดสุดท้ายของรัฐบาลที่จะได้มีโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ด้วยข้อจำกัดทางงบประมาณที่จะเกิดขึ้นตามมา ฉะนั้น จึงขอส่งความห่วงใยไปยังพรรคร่วมรัฐบาลว่า ท่านจะกลายมาเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการทำผิดกฎหมายครั้งนี้ ในการกระทำที่เสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายครั้งนี้หรือไม่

ถ้ายังยึดถือหลักการหรือหลักวิชาการอะไรอยู่ในหัวใจ คงรู้ได้โดยไม่ต้องสงสัย ว่าทำแบบนี้จะทำให้ประเทศเราสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในอนาคต จึงขอให้ช่วยกันคว่ำร่างฉบับนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน