“พริษฐ์” ขอถอนร่างแก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิก ม.272 เหตุบทเฉพาะกาล-มาตราดังกล่าวสิ้นสภาพไปแล้ว หวังอนาคต ไม่มีใครดึงคนไม่ได้มาจากประชาชนร่วมโหวตนายกฯ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 29 ส.ค. 2567 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม พิจารณาเรื่องด่วน ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่… พ.ศ…. ยกเลิกมาตรา 272 ที่นายชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล กับคณะเป็นผู้เสนอ

โดยนายพริษฐ์ วัชสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) อภิปรายว่า ขอเป็นตัวแทนของนายชัยธวัชในการชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เพราะนายชัยธวัชไม่มีโอกาสมาชี้แจงเอง โดยเราได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. 66 โดยเป็นการยกเลิกมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 60 ซึ่งเป็นมาตราที่ให้อำนาจของ สว. ที่มาจากการแต่งตั้งมาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีกับสส.ที่มาจากการเลือกตั้ง

ซึ่งเป็นความพยายาม ณ เวลานั้นในการทำให้การเลือกนายกฯ และการจัดตั้งรัฐบาลหลังจากการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.66 เป็นไปตามครรลองของประชาธิไตยแบบปกติตามระบบรัฐสภา นั่นคือใครก็ตามที่สามารถรวบรวมเสียงของสส.ที่มาจากการเลือกตั้งได้เกินกึ่งหนึ่ง ก็จะมีสิทธิ์ในการตั้งรัฐบาล แล้วมีบุคคลไปดำรงตำแหน่งนายกฯ

ถ้านับจากวันที่เราเสนอร่าง มาจนถึงวันนี้ นับเป็นเวลา 414 วัน ล่วงเลยเวลามายาวนานพอสมควร เหตุการณ์ที่ผ่านมาเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยหรือไม่ คงต้องให้ประชาชนเป็นผู้วินิจฉัย แต่ข้อเท็จจริงที่สำคัญ คือ มาตรา 272 ในเมื่ออยู่ในบทเฉพาะกาล ได้หมดอายุและสิ้นสภาพไปเรียบร้อยแล้ว

“ดังนั้น เพื่อประหยัดเวลาของที่ประชุมรัฐสภา ผมขออาศัยอำนาจตามข้อบังคับข้อที่ 37 ในการถอนร่างแก้ไขรัฐธรรรมนูญฉบับดังกล่าว ออกจากระเบียบวาระ” นายพริษฐ์ กล่าว

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า ขอตั้งข้อสังเกตพ่วงไปด้วย 2 ข้อ คือ 1.ถึงแม้ว่ามาตรา 272 จะสิ้นสภาพแล้ว ตนก็หวังว่าจะไม่มีใครในอนาคตที่จะเสนอแก้รัฐธรรมนูญใดๆ ที่ทำให้ใครก็ตามที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมีอำนาจในการมาร่วมเลือกนายกฯ ซึ่งขัดกับหลักประชาธิปไตยสากล

และ 2.ต้องยอมรับว่าถึงแม้มาตรา 272 จะสิ้นสภาพแล้ว แต่รัฐธรรมนูญ 60 ยังมีปัญหาอยู่อีกหลายจุดที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานประชาธิปไตยสากล และนำมาสู่ปัญหาทางการเมืองที่เราเห็นกันอยู่หลายเรื่องในปัจจุบัน

ซึ่งการจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องก็ต้องทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และถ้าเราย้อนไปดูนับตั้งแต่วันที่มีการแต่งตั้งรัฐบาลชุดแรกหลังจากการเลือกตั้ง และมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เรามีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาแค่ 1 ครั้งเท่านั้น

ดังนั้น ถ้าเราอยากจะเดินหน้าในการแก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหา พวกเราต้องประชุมรัฐสภาบ่อยขึ้น

ทั้งนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า เมื่อไม่มีผู้ใดขัดข้องตามที่นายพริษฐ์ขอถอน ถือว่าที่ประชุมรัฐสภาอนุญาตให้ถอนเรื่องดังกล่าวออกไปได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน