รม.ชุดใหม่ภายใต้การนำของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับการโปรดเกล้าฯและเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณเมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา

ส่วนใหญ่เป็นรัฐมนตรีหน้าเดิมจากครม. ชุดเก่า โดยมี 12 คนที่เข้ามารับตำแหน่งใหม่

ที่ได้รับการพูดถึงมากคือการมีรัฐมนตรีผู้หญิงมากที่สุดในประวัติศาสตร์

การปรับเปลี่ยนเช่นนี้จะส่งผลอย่างไรต่อการบริหาร รวมถึงประเด็นรัฐมนตรีเลี่ยงการตรวจสอบเรื่องจริยธรรม แล้วส่งไม้ต่อให้ทายาททางการเมือง

 

โอฬาร ถิ่นบางเตียว

คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

ครม.ชุดใหม่ถูกจัดตั้งขึ้นภายใต้การจัดสรรผลประโยชน์แบบธุรกิจการเมืองปกติตามสัดส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล

จุดเด่นของครม.ชุดนี้คือมีสัดส่วนของผู้หญิง ที่น่าสนใจ เริ่มมีผู้หญิงมาเป็นผู้นำทางการเมือง เป็นรัฐมนตรีมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ถึงแม้จะมาจากสายสัมพันธ์ในครอบครัว แต่อย่างน้อยก็ทำให้ภาพรวมของครม.มีจุดเด่น

และทำให้สังคมไทยยอมรับบทบาทของผู้หญิงกว้างขึ้น ซึ่งเป็นข้อดีของการพัฒนาระบบประชาธิปไตย

ที่เด่นอีกอย่างคือสัดส่วนอายุ เริ่มเห็นรัฐมนตรีหน้าใหม่อายุไม่มากเกิดขึ้น ติดแค่ในทางการเมืองก็ยังอยู่ภายใต้การครอบงำของเครือญาติ กลุ่มผู้เล่นที่อยู่เบื้องหลังซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้

หากดูจากภาพลักษณ์ตัดความเป็นเครือข่ายออกไป น้ำหนักของครม.ชุดนี้ส่วนตัวมองว่าดีกว่าของนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ถ้าให้เป็นตัวเลขก็ 7 คะแนนเต็ม 10 แต่เราก็ยังคาดหวังที่ผลงาน

ส่วนเสียงครหาครม.สืบสันดานถ้ามองในความสัมพันธ์เป็นลักษณะตัวแทน อุปโลกน์เป็นนอมินี

ทายาททางการเมืองมีได้แต่ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เพราะทายาทการเมืองส่วนใหญ่ในครม.นี้ไม่ได้เตรียมความพร้อมเอาไว้ แตกต่างกับต่างประเทศที่มีการเตรียมความพร้อม ไปเรียน หรือได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองมาก่อนพอสมควร

แต่ครม.ชุดนี้มาจากข้อจำกัดบางอย่างของผู้เป็นพ่อ เป็นพี่ หรือเป็นลูกมีปัญหามาตรฐานทางจริยธรรมที่มีขอบเขตกว้างขวางมาก จึงต้องนำลูกหลานขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีกะทันหัน จึงนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์

ข้อเสียคือทำให้อิสระในการทำงานถูกครอบงำโดยคนเบื้องหลัง ต่างกับทายาททางการเมืองในประเทศตะวันตก ผู้่อยู่เบื้องหลังจะมีบทบาทน้อย

ส่วนที่คิดว่าผิดฝาผิดตัวคือรมช.สาธารณสุข นำคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาเป็น แทนที่จะหาคนที่มีความรู้ ความสามารถเข้าใจดูแลปัญหาด้านสาธารณสุข ที่เป็นปัญหาหลักของประเทศ

หรือกระทรวงศึกษาธิการ แม้คนเป็นรัฐมนตรีจะเข้ามาทำงานในภาพรวมแต่คนที่จะมารับตำแหน่งบริหารต้องสร้างความเชื่อมั่นให้สังคมได้ เมื่อใช้คนที่ไม่มีความถนัดหรือเชี่ยวชาญด้านนั้นจริงๆ มาเป็นรัฐมนตรี ทำให้การจะสร้างผลงานดีๆ เป็นที่ประจักษ์กลายเป็นงานรูทีน

เป็นการบริหารภายใต้ข้อเสนอของข้าราชการในกระทรวงมากกว่าจะเป็นคนดำริริเริ่มจากตัวผู้นำ การจัดสรรโควตาเช่นนี้ทำให้ไม่มีโอกาสหาคนที่มีความสามารถ มีความรู้ แต่เป็นการตอบแทนทางการเมือง

รวมถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็เห็นชัดว่าเป็นการแบ่งโควตาของก๊วนทางการเมืองที่ทรงอิทธิพล ไม่ได้ตั้งครม.บนฐานที่ต้องได้คนที่มีความรู้ ความสามารถ คนที่สังคม คาดหวังได้

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบาง ควรทุ่มงบประมาณรวมถึงบุคลากรแต่ถูกจัดอยู่ในกระทรวงเกรดซี ถูกลดบทบาททั้งที่หน้างานทำงานหนักมาก และเกี่ยวข้องกับประชาชนฐานรากโดยตรง

ส่วนรมว.กลาโหมที่มาจากพลเรือนถือเป็นการเข้าสู่โหมดปฏิรูป ขณะที่กองทัพอยู่ในภาวะวิกฤตศรัทธาจากประชาชน ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว จึงเป็นโอกาสดีที่นายทักษิณ ชินวัตร จะใช้โอกาสนี้เข้าไปควบคุมกองทัพผ่านนายภูมิธรรม เวชยชัย แม้จะปฏิเสธอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายแต่ก็มีผลพลอยได้จากภาพลักษณ์นี้ด้วย

 

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง

ครม.ของรัฐบาลแพทองธาร โดยภาพรวมไม่ต่างอะไรกับครม.ชุดเก่าเลย รัฐมนตรีก็ต้องทำตามนโยบายที่แถลงหรือสานต่อของเดิม บางเรื่องลูกเข้ามาทำงานแทนพ่อแล้วนโยบายจะต่างกันตรงไหน

บางเรื่องเจ้ากระทรวง หรือหัวหน้าพรรคดำเนินการอยู่ เช่น นโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทยกรณีกัญชาก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง เมื่อดูนโยบายโดยภาพรวมก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงเพราะต้องเป็นไปตามนโยบายของพรรคต่างๆ

แม้จะมีพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาร่วมรัฐบาลแต่นโยบายพรรคก็เขียนไว้กว้างๆ เช่น รักษาประชาธิปไตย เขียนไปเพื่อเปิดทางเข้าร่วมรัฐบาล ฉะนั้นภาพรวมถ้าดูจากโฉมหน้ารัฐบาลใหม่ 80-90% ยังดำเนินมาตรการเดิมๆ ต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดที่แล้ว

ด้านเศรษฐกิจที่เป็นเรื่องใหญ่วันนี้ของรัฐบาลให้รัฐบาลชุดเก่ามาเป็นก็จะไม่เปลี่ยนแปลงเลย สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อเข้ามาเพื่อให้เศรษฐกิจดีขึ้นคือ กระตุ้นงบประมาณเพราะปีที่แล้วเศรษฐกิจขยายตัวแย่คือ 1.9%

ดังนั้นครึ่งปีหลังรัฐบาลต้องกระตุ้นด้วยงบประมาณ เมื่องบประมาณเสร็จและรัฐบาลชุดนี้มาทำหน้าที่ก็ต้องรีบเบิกงบ นโยบายเก่ากับนโยบายใหม่เหมือนกันคือกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว

ทิศทางของรัฐบาลชุดนี้คงไม่ต่างจากรัฐบาลชุดเดิม ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้คิดว่าขยายตัวไม่ถึง 2.4-2.5% ตามที่รัฐมนตรีบางคนบอกถึง 3% แต่ปีหน้าคิดว่าเกิน 3% เพราะตัวโครงการเงินดิจิทัล แม้กระตุ้นได้ช้าลงบ้างเพราะแยกจ่าย

ส่วนรัฐมนตรีกระทรวงการคลังยังเป็นชุดเดิมก็เห็นได้ชัดที่การพัฒนาตลาดหุ้น ดิจิทัลยังดำเนินต่อ แต่สิ่งที่กระทรวงการคลังต้องดูแล ซึ่งสำคัญมากเพราะที่เรากระตุ้น เศรษฐกิจทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบกว่า 2 ทศวรรษ ต้องดูแลอย่าให้การขาดดุลบานปลาย

รมว.พาณิชย์เป็นนายพิชัย นริพทะพันธ์ ถือว่าโอเค มีประสบการณ์เคยเป็นรัฐมนตรีมาก่อน กระทรวงนี้เกี่ยวข้องกับการค้า การลงทุน เป็นเรื่องที่แต่ละคนพอทำได้ภาคราชการก็มีความพร้อม

ในส่วนกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ซึ่งเป็นกระทรวง ทำเงินเข้าประเทศ การปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงนี้เหมาะสมหรือไม่อย่าไปสนใจ นโยบายเก่าก็ร่างดีอยู่แล้ว การท่องเที่ยวเมืองรองก็ต้องทำให้เต็มที่ ต้องร่วมมือกับเอกชนด้วย ดังนั้นไม่ต้องดูหน้าตาคนมาเป็นรัฐมนตรีขอแค่ว่าอย่าอยู่ หลังเขา

ส่วนกระทรวงเกษตรฯที่เปลี่ยนยกชุดแต่ยังเป็นคนของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรมว.เกษตรฯ เขาต้องรักษาฐานเสียงคือเกษตรกรถึงพยายามรักษากระทรวงนี้ไว้ ดังนั้นอย่างไรก็ต้องพยายามทำเรื่องราคาพืชผล พัฒนาคุณภาพ

และถือว่าการแต่งตั้งรัฐมนตรีที่ผิดฝาผิดตัวน้อยมาก เพราะมีการประนีประนอมกันได้จึงไม่ต้องกลัวรัฐบาลชุดนี้จะอยู่ด้วยกันไปอีกจนถึงเลือกตั้งครั้งหน้า โอกาสที่จะยุบสภาถ้าไม่เกิดอุบัติเหตจริงๆมีน้อยมาก

และการเขียนนโยบายออกมาเป็นนามธรรมเพื่อ จะได้ร่วมกับพรรคไหนก็ได้ ยกเว้นพรรคประชาชน จึงมีลักษณะประเภทพรรครัฐบาลกับรอเป็นรัฐบาลแค่นั้น

 

อุษา เลิศศรีสันทัด

ผอ.สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ บ้านพักฉุกเฉิน ดอนเมือง

เบื้องต้นเรายังไม่ได้เห็นผลงานของครม.นี้ อาจต้องรอดูการทำงานก่อน

ส่วนกรณีส่งต่อเก้าอี้กันของลูก พ่อ น้อง จนถูกมองเป็นครม.สืบสันดานนั้นจุดนี้ไม่ดีตรงที่เราจะ ได้คนที่ไม่มีแบ๊กกราวนด์ด้านงานการเมืองมาก่อน เลยสะท้อนให้เห็นว่าพรรคที่มาเป็นรัฐบาลไม่มี ระบบไม่มีประสิทธิภาพ แทนที่จะให้คนที่เคยมีประสบการณ์กลายเป็นให้ตำแหน่งโดยการสืบทอดทางสายเลือด

ระบบการเมืองบ้านเราจึงถูกมองไม่คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง จะลบเสียงครหานี้ ได้ผู้ที่เข้ามาต้องทำงานหนักขึ้น ทำการบ้านให้ มากขึ้น

ส่วนการมีรัฐมนตรีผู้หญิงเข้ามาทำงานจำนวน มากที่สุดในประวัติศาสตร์นั้นก็ยังไม่เห็นผลงาน คงต้องให้เวลาในการทำงาน

เบื้องต้นอาจได้ในแง่สถิติโลกว่าประเทศเรามีครม.หญิงมีเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้น แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นนโยบายหรือการชูธงเรื่องผู้หญิงอย่างชัดเจน

การทำงานเกี่ยวกับผู้หญิงไม่ได้มีเพียงเรื่อง ความรุนแรงทางเพศ แต่ยังมีเรื่องอื่นๆอีกมาก เช่น ในรัฐธรรมนูญมาตรา 71 พูดถึงการจัดสรรงบประมาณแต่ก็ยังไม่เห็นการจัดสรรงบประมาณที่พุ่งเป้าให้ผู้หญิงได้เข้าถึงการบริการของรัฐอย่างแท้จริง

เรื่องแรกที่อยากจะฝากถึงรัฐบาลคือประเทศไทย ยังไม่มีสวัสดิการที่ให้การดูแลผู้หญิงอย่างจริงจัง ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มรูปแบบ ผู้หญิง จำนวนมากต้องออกจากงานมาดูแลผู้สูงอายุ การกลับเข้าสู่ระบบงานก็ยากเพราะยังมีการเลือกปฏิบัติ ระบุเพศ และอายุ

การส่งเสริมให้ผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมในการถือครองที่ดินและทรัพย์สิน เข้าถึงสิทธิสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ เข้าถึงเทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ต เป็นปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญให้บรรลุเป้าหมายความเท่าเทียมทางเพศ อยากให้รัฐบาลใหม่และรัฐมนตรีหญิงทุกคนคำนึงถึงเรื่องดังกล่าว

นายกฯคนใหม่เป็นผู้หญิงจึงอยากให้เข้ามาดูเรื่องการบรูณาการความเสมอภาคทางเพศ และฝากรัฐมนตรีหญิงทุกคนต้องทำการบ้านเรื่องสิทธิผู้หญิง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน