จากกรณีที่ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี 10 แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และผู้ชุมนุม รวม 57 คน หรือคดี army57 ตามกฎหมายอาญามาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น ขัดคำสั่งคสช. และขัดพ.ร.บ.ชุมนุม หลังจากกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เคลื่อนขบวนจากม.ธรรมศาสตร์ไปยังกองทัพบก เพื่อเรียกร้องให้กองทัพเลิกสนับสนุนคสช. และให้การจัดการตั้งปีนี้ ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกฯประกาศไว้ที่สหรัฐฯและประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 9 เม.ย. ที่สน.นางเลิ้ง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เดินทางเข้าร่วมให้การในฐานะพยานของ ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ หนึ่งในแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง โดยพล.ท.ภราดร ให้สัมภาษณ์ ถึงแนวคิดคำให้การ ว่า จากข้อกล่าวหาทีระบุว่า ยุงยงปลุกปั่น ในฐานะที่ตยมีประสบการณ์ด้านความมั่นคง เห็นว่านัยยะของการเคลื่อนไหวนี้ เป็นไปตามกรอบของสิทธิและเสรีภาพ จากกลุ่มที่ตระหนักในสิทธิและเสรีภาพ ไม่ได้มีการปรุงแต่งเนื้อหา จนถือเป็นการยุยงปลุกปั่น แต่เป็นข้อเท็จจริงตามที่นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวกับสาธารณะทั้งในและนอกประเทศ พวกเขาก็นำคำกล่าวเเหล่านี้ของนายกฯมาเรียกร้องให้ปฏิบัติตาม เป็นความปราถนาดี อยากให้นายกฯทำตามสัจจะวาจาที่ให้ไว้ ขณะเดียวกันก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลามจนไปกระทบความน่าเชื่อถือของประเทศชาติ

พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ถ้อยคำที่ผู้ชุมนุมกล่าว และป้ายที่แสดงออก เช่น หมดเวลาคสช. ก็เป็นการอธิบายความเพิ่มเติมว่า ถ้าท่านทำตามสัจจะวาจาที่ให้ไว้ ทุกอย่างก็จะเคลื่อนตัวไปและจบลง หมดเวลาหน้าที่ของคสช.ตามรัฐธรรมนูญแล้ว สาระสำคัญจึงอยู่ตรงนี้ ส่วนที่เป็นขบวนก็เพราะเกิดจากปัจเจกชนที่มีเนื้อหาสาระที่ตรงกันก็มารวมกันตามธรรมชาติของประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องสิทธิ จึงไม่น่าเป็นข้อกังวลอะไร การเคลื่อนก็สันติ ปราศจากอาวุธ สามารถควบคุมได้ ไม่ได้นำไปสู่การกระด้างกระเดื่อง หรือยุยงปลุกปั่น ไม่ถึงกับเป็นภัยคุุกคาม ที่จะส่งผลต่อความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย สำหรับเงื่อนไขการแสดงความเห็น ก็ยังไม่มากพอที่จะลามปามจนนำไปสู่ความไม่เรียบร้อยในอนาคต

เมื่อถามว่า โจทก์ในคดีนี้คือ พ.อ.บุรินทร์ แล้วมีอดีตสมช.มาให้การตรงกันข้าม จะมีผลกระทบหรือไม่ มีคำแนะนำอย่างไร พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ตนเป็นอดีตเลขาฯสมช. มีประสบการณ์เจอสถานการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคง มีการใช้กฎหมายความมั่นคงที่เข้มข้นกว่าในกรณีนี้ด้วยซ้ำไป ตนมองนัยยะแล้วกรณีนี้ไม่ส่งผล และครบองค์ประกอบ จึงไม่สมควรที่จะมีการกล่าวหา และไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ดำเนินการไปก็เท่านั้น สู้ทำให้เงื่อนไขเหล่านี้มันลดลงไปเองจะดีกว่า กาฟ้องไม่ได้เป็นประโยชน์กับคสช. ไม่เป็นประโยชน์ต่อการยุยงปลุกปั่นอะไร เป็นเรื่องปกติในการใช้สิทธิเสรีภาพ

“หากผมยังเป็นนเลขาฯสมช.ก็จะแนะนำแบบนี้ ปัญหาบ้านเมืองทุกวันนี้ เกิดจากการขาดศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตย ต้องเข้าถึงหลักการของสิทธิ เสรีภาพ และภราดรภาพ เพื่อทำให้ปัญหาคลี่คลาย ผมไม่ห่วงผลกระทบ เพราะเป็นข้าราชการบำนาญอยู่แล้ว แต่อยากสื่อสารให้เห็นภาพร่วมกันว่า หากเราศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยแล้ว จะไม่มีทางตัน” อดีตเลขาฯสมช.กล่าว

เมื่อถามว่า วันที่ 5 พ.ค. กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง จะมีการเคลื่อนไหวอีก พล.ท.ภราดร กล่าวว่า เชื่อว่า ตอนนี้ทุกคนเห็นข้อเท็จจริงแล้ว ทางนายกฯจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการตามที่ฝ่ายประชาธิปไตยเรียกร้อง เพราะนี่ไม่ใช่การบิดเบือนคำพูด แต่เป็นการเรียกร้องให้ปฏิบัติตามคำพูดของนายกฯเอง หากไม่ปฏิบัติตามก็จะกระทบต่อเกียรติภูมิของนายกฯเอง และลามไปถึงความไม่เชื่อถือต่อประเทศชาติ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความคืบหน้าในคดีของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งทั้ง 5 คดีมีดังนี้ 1.คดีเอ็มบีเค 39 ที่สกายวอล์ค ผู้ชุมนุมรอฟังคำสั่งจากอัยการ ในวันที่ 19 เม.ย.นี้ ส่วนแกนนำพนักงานสอบสวนกำลังสรุปสำนวนส่งอัยการ 2. คดีอาร์ดีเอ็น 50 ที่ราชดำเนิน เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา อัยการส่งฟ้องผู้ชุมนุมแล้ว โดยศาลมีคำสั่งปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข ส่วนแกนนำยังอยู่ในชั้นสอบสวน โดยวันที่ 11 เม.ย.นี้ พนักงานสอบสวน จะสรุปสำนวนส่งตัวให้อัยการ ที่สำนักงานอัยการ ถ.รัชดาภิเษก

3.คดีซีเอ็มยู 6 ที่จ.เชียงใหม่ ยังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน ยังไม่สรุปสำนวนส่งอัยการ 4.คดีพีทีวาย 7 ที่พัทยา ก็ยังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวนเช่นกันและ5.คดีอาร์มี 57 แกนนำ 4 คน รวมดิฉัน จะไปรายงานตัวที่สน.นางเลิ้ง วันที่ 9 เม.ย. เวลา 09.30 น. ขณะที่แกนนำรายอื่น เช่น จ่านิว โรม และอานนท์ จะไปรายรายงานตัววันที่ 30 เม.ย. ที่สน.นางเลิ้ง ส่วนผู้ชุมนุมที่เหลือ ก็จะไปรายงานตัวที่สน.นางเลิ้งวันที่ 18 เม.ย.นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน