เมื่อวันที่ 10 เมษายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้แต่งเพลงใหม่ ชื่อเพลง “สู้เพื่อแผ่นดิน”

ทั้งนี้ เพลง “สู้เพื่อแผ่นดิน” เป็นเพลงในลำดับที่ 6 ของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเพลงช้า เนื้อหาบ่งบอกถึงความพยายามทำเพื่อประเทศชาติ แม้จะมีคำติฉินนินทาหรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่เป็นอุปสรรค เพราะทำทุกอย่างด้วยหัวใจซื่อตรง เพื่อให้พรุ่งนี้ดีขึ้นกว่าเดิม

เพลง “สู้เพื่อแผ่นดิน” เปิดครั้งแรกในวันที่ 10 เมษายน ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานในพิธีสรงน้ำพระพุทธรูป และพิธีรดน้ำขอพร เนื่องในวันสงกรานต์ ที่บริเวณโถงกลางตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า เพลง “สู้เพื่อแผ่นดิน” นี้มีการใช้เครื่องดนตรีไทยร่วมกับดนตรีสมัยใหม่ และมีท่วงทำนองคล้ายกับเพลงประกอบละครดัง “บุพเพสันนิวาส”

แหล่งข่าวระบุว่า เพลง “สู้เพื่อแผ่นดินนี้” เรียบเรียงคำร้องและทำนองโดย ‘เคี้ยง-วิเชียร ตันติพิมลพันธ์’ คนเดียวกับที่แต่งเพลง บุพเพสันนิวาส ออเจ้าเอย เธอหนอเธอ ละครเวที สี่แผ่นดิน เดอะ มิวสิคัล

“วิเชียร” ทำหน้าที่เรียบเรียง คำร้องและทำนอง เพลง “คืนความสุขให้ประเทศไทย’ “เพราะเธอคือประเทศไทย” “สะพาน” “ใจเพชร” ทั้งสี่เพลงนี้ผลิตโดย คสช. และขึ้นเครดิตว่าประพันธ์คำร้องโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

“วิเชียร” ไม่เพียงอยู่เบื้องหลังการประพันธ์เพลงสำคัญของ คสช. เพลงเพื่อชาติบ้านเมือง และเพลงประกอบละครเรื่องดังๆ เป็นจำนวนมากเท่านั้น เขายังอยู่เบื้องหลังการประพันธ์เพลงประกอบละครเวที ที่อำนวยการสร้าง และกำกับการแสดงโดย “ถกลเกียรติ วีรวรรณ” อีกหลายเรื่อง เช่น ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล (2550), ข้างหลังภาพ เดอะมิวสิคัล (2551), แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล (2552),หงส์เหนือมังกร เดอะมิวสิคัล (2553), สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล (2555), เลือดขัตติยา เดอะมิวสิคัล (2556), ลอดลายมังกร เดอะมิวสิคัล (2559,2560)

วอยซ์ทีวี เผยบทสัมภาษณ์ตอนหนึ่งของ วิเชียร ตันติพิมลพันธ์ โดยกล่าวถึงเบื้องหลังการแต่งเพลง คืนความสุข ว่า “ภาคภูมิใจมาก เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเข้ามาร่วมงานในเพลงนี้

ก่อนจะได้รับมอบหมายให้เรียบเรียงเพลงสำคัญของ คสช. วิเชียร คว้ารางวัลชนะเลิศ ในโครงการประกวดแต่งบทเพลงรักชาติ กลุ่มที่ 1 เพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักของทหารที่มีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน จัดโดย กองทัพบก เพลงที่เขาแต่งชื่อ “ทหารแห่งแผ่นดิน” งานนั้นทำให้เขารู้จักกับ พ.อ.กฤษฎา สาริกา ผู้บังคับการกองดุริยางค์ทหารบก วิเชียรเล่าว่า “ท่าน (พ.อ.กฤษฎา) ได้รับมอบหมายจากทางท่านผบ.ทบ. (พลเอกประยุทธ์) ว่ามีต้นฉบับเนื้อเพลงที่เขียนเสร็จแล้ว อยากจะหาคนมาช่วยปรับคำ ใส่ทำนอง จึงได้ติดต่อให้ผมเป็นคนทำหน้าที่เรียบเรียงเพลง”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน