ค่ายทหารก็ท่วม! บ้านพักทหาร ค่ายปิเหล็ง เผชิญกับน้ำท่วมสูง ด้าน มทภ.4 ลงพื้นที่ช่วยผู้ประสบภัยนราธิวาส พร้อมสั่งการกำลังพลติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง
วันที่ 1 ธ.ค.2567 พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 /ผอ.รมน.ภาค 4 ลงพื้นที่ สหกรณ์นิคมปิเหล็ง และวัดปิเหล็ง สถานที่อพยพชั่วคราวของผู้ประสบอุทกภัย ในตำบลมะรือโบออก อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส แม้วันนี้น้ำมีปริมาณลดลงกว่า 3-4 วันก่อน แต่ในศูนย์อพยพชั่วคราวนิคมปิเหล็งยังคงมีพี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 100 คน
เนื่องจากถนนภายในหมู่บ้านถูกตัดขาดมีเพียงเรือท้องแบนและเรือยางของหน่วยงานราชการเท่านั้น ที่จะคอยส่งเสบียงอาหาร น้ำดื่มให้กับผู้ที่ยังติดค้างอยู่ด้านใน ซึ่งบรรยากาศภายในศูนย์อพยพชั่วคราว ได้มีหน่วยงานต่างๆ เข้าให้การช่วยเหลือ หน่วยทหารในพื้นที่ได้จัดรถครัวสนามพร้อมกำลังพลร่วมกับผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ประกอบอาหารปรุงสุก จัดหาเครื่องดื่ม พร้อมอำนวยความสะดวกในด้านที่พักอาศัยชั่วคราวให้กับประชาชน
โดยวันนี้ แม่ทัพภาคที่ 4 นำถุงยังชีพมอบให้กับครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ และยังคงอาศัยอยู่ภายในชุมชนอีกจำนวนหนึ่งด้วย ซึ่งปัญหาที่พบ มีเด็กและ คนชรา เริ่มมีอาการป่วยไข้ และยังคงขาดข้าวของเครื่องใช้จำเป็นบางรายการ จึงได้เร่งสั่งการหน่วยทำการจัดหาสิ่งของจำเป็น พร้อมแพทย์สนามมาให้บริการกับผู้อพยพในศูนย์พักพิงดังกล่าวแล้ว
นอกจากพี่น้องประชาชนจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยในครั้งนี้ กำลังพลเจ้าหน้าที่ทหารในหน่วยต่างๆ ก็ประสบกับภัยพิบัติเช่นกัน ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) เป็นอีกหนึ่งค่ายทหารในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นที่ตั้งของกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 151 และกรมทหารพรานที่ 48 ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน กำลังพลและครอบครัวหลายร้อยครัวเรือน ต้องรับมือกับภาวะน้ำที่ไหลทะลักเข้ามา
ขณะที่เจ้าหน้าที่ต้องรับมือกับระดับน้ำที่หลากท่วมบ้านพักอาศัย และอาคารสำนักงาน แต่ถึงอย่างนั้นกำลังพลส่วนใหญ่ยังคงต้องออกไปปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ก่อนกลับมาปัดกวาดบ้านตัวเอง เพราะทุกข์ของประชาชนมาเป็นอันดับหนึ่ง รอไม่ได้
แม่ทัพภาคที่ 4 พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ พร้อมด้วยผู้บังคับบัญชาส่วนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่นิ่งดูดาย ลงพื้นที่ให้กำลังใจมอบสิ่งของเครื่องใช้จำเป็น บรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา ให้มีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติภารกิจรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้น
จนกว่าสถานการณ์ต่างๆจะคลี่คลายลง ซึ่งหลังจากนี้เมื่อน้ำลดระดับลง จำเป็นจะต้องใช้กำลังทหาร เครื่องมือ ยุทโธปกรณ์ต่างๆในการเข้าฟื้นฟู ซ่อมสร้างบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบ เสียหายต่อไป
สรุปข้อมูลสถานการณ์ประจำวันในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ภาพรวมได้รับผลกระทบ จำนวน 13 อำเภอ 77 ตำบล 591 หมู่บ้าน 94,478 ครัวเรือน 332,682 คน
บาดเจ็บ 1 ราย
นางเจ๊ะแย (สงวนนามสกุล) อายุ 75 ปี
เสียชีวิต 2 ราย คือ
ด.ญ.ซาฟีรา (สงวนนามสกุล) อายุ 12 ปี
นายริน (สงวนนามสกุล) อายุ 82 ปี
บ้านเรือน วัด มัสยิด โรงเรียน ส่วนราชการและถนนได้รับความเสียหาย รวมไปถึงพื้นที่ทางการเกษตร สวน ไร่นา สัตว์เลี้ยงทางการเกษตรเสียหายเป็นจำนวนมาก กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนราธิวาส ยังคงมีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ทั้ง 3 ลุ่มน้ำดังกล่าวอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง