“ทวี” รมว.ยุติธรรม ต้อนรับ ผู้อํานวยการบริหาร “UNODC” ชี้ไทยมุ่งแก้ปัญหาอาชญากรรม-กระบวนการยุติธรรม-ยาเสพติด ทั้งในประเทศและภูมิภาคเอเชีย

เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2567 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ให้การต้อนรับ นางฆอดะฮ์ วาลี (Ms. Ghada Waly) ผู้อํานวยการบริหารสํานักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (Executive Director, United Nations Office on Drugsand Crime: UNODC) และผู้อํานวยการใหญ่สํานักงานสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา (Director-General, United Nations Office at Vienna: UNOV)

โดยมี นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. พ.ต.ท.เชน กาญจนาปัจจ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ร.ต.อ.ทินวุฒิ สีละพัฒน์ ผอ.กองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ DSI ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผอ.สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย และกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เข้าร่วม ณ ห้องรับรอง 3-01 ชั้น 3 กระทรวงยุติธรรม

โดยได้มีการหารือในประเด็นที่สำคัญต่าง ๆ ได้แก่ การป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา การปราบปรามและการควบคุมยาเสพติด การส่งเสริมหลักนิติธรรม และการพัฒนาพฤตินิสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมแนวทางการปฏิบัติตามข้อกําหนดสหประชาชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการ ที่มิใช่การคุมขังสําหรับผู้กระทําผิดหญิง (United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-Custodial Measures for Women Offenders) หรือ ข้อกําหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) ซึ่งจะครบรอบ 15 ปี ในปี พ.ศ. 2568

รวมถึงการพัฒนาความร่วมมือในกรอบคณะกรรมาธิการภายใต้ UNODC ที่ไทยเป็นสมาชิกในปัจจุบัน ได้แก่ คณะกรรมาธิการยาเสพติด (Commission on Narcotic Drugs: CND) และคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (Crime Prevention and Criminal Justice: CCPCJ)

ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างกระทรวงยุติธรรม และ UNODC ที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี ผ่านความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนทางด้านวิชาการ การฝึกอบรม และความช่วยเหลือในลักษณะอื่น ๆ ตลอดจนความพร้อมที่จะผลักดันความร่วมมือระหว่างกันอย่างรอบด้านในทุกมิติ ในอนาคตเพื่อแก้ไขปัญหาที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสนใจร่วมกัน

โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวเน้นย้ำว่า ประเทศไทยมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาสำคัญ ได้แก่ ปัญหาอาชญากรรม กระบวนการยุติธรรม และการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยตั้งเป้าหมายไว้ภายในประมาณ 1 ปี และไม่เกิน 3 ปี เพื่อให้ประชาชนชาวไทยมีความพึงพอใจ โดยเร่งแก้ไขความท้าทายเกี่ยวกับยาเสพติดทั้งในประเทศและนอกประเทศ ซึ่งภูมิภาคเอเชียเป็นแหล่งผลิตยาเสพติดสังเคราะห์ (Synthetic Drugs) โดยเฉพาะพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ รวมถึงปัญหาอาชญากรรมการฉ้อโกงออนไลน์ (Online Fraud)

ด้าน นางฆอดะฮ์ฯ ได้ชื่นชมประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่น และหวังว่าประเทศไทยจะสามารถช่วยเหลือเพื่อนบ้าน ด้วยการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดี โดยมองว่าปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ด้วย 3 ปัจจัย ได้แก่ 1 ) ความต่อเนื่องของข้อมูลทางสถิติและการสำรวจ 2 ) การวิเคราะห์ข้อมูลและการลงทุนในการพัฒนาทางเลือก (Alternative Development: AD) เพื่อลดการปลูกพืชเสพติด ซึ่งประเทศไทยจะสามารถช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านได้โดยการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดี และ 3) ความร่วมมือของภูมิภาคและความร่วมมือระหว่างประเทศในพื้นที่ สามเหลี่ยมทองคำ และในโอกาสครบรอบ 15 ปี ของ Bangkok Rules ในปี พ.ศ. 2568 เสนอให้ประเทศไทยเสนอข้อมติในการประชุม Crime Congress สมัยที่ 15 ซึ่งจะจัดในเดือนเมษายน 2569 ณ นครอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน