พริษฐ์ หนุน เพื่อไทย ชงแก้กฎหมายกลาโหม ดักทาง สส.รัฐบาล อย่าปัดตก ร่างก้าวไกล ชี้เนื้อหาคล้ายกัน หวั่น ยึดร่างครม.เป็นหลัก ทำสาระสำคัญไม่ได้แก้

วันที่ 7 ธ.ค. 2567 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง การแก้ไขกฎหมายกลาโหม-คำถามสำคัญคงไม่ใช่แค่ “แก้หรือไม่” แต่คือ “แก้อย่างไร” ระบุว่า 1.เป็นเรื่องดีที่ทางพรรคเพื่อไทยตัดสินใจยื่นร่างแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เข้ามาที่สภาฯ โดยคาดว่าร่างของเพื่อไทยจะถูกพิจารณาพร้อมกับร่างของก้าวไกลที่ค้างอยู่ในระเบียบวาระตั้งแต่สมัยประชุมที่แล้ว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ (ซึ่งเป็นมรดกจากคณะรัฐประหาร 2549) มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการปฏิรูปกองทัพให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย

ทางก้าวไกลจึงตัดสินใจยื่นร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภาฯ เป็นชุดแรกๆ ทันทีที่สภาฯ ชุดปัจจุบันเริ่มทำงาน ตอน ก.ค. 2566

ความจริง ร่างดังกล่าวของก้าวไกลได้เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสภาฯ ในวาระที่ 1 เมื่อ ส.ค. 2567 แต่ถูกคณะรัฐมนตรี (ครม.) “อุ้ม” ออกไปศึกษาก่อน 60 วัน จึงทำให้ร่างของเพื่อไทยน่าจะทันพิจารณาพร้อมกับร่างของก้าวไกลที่ ครม. ได้ส่งกลับมาที่สภาฯ เรียบร้อยแล้ว

2.เนื้อหาในร่างของเพื่อไทยโดยรวมแล้วเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับร่างของก้าวไกล แต่ 1 ประเด็นสำคัญที่ร่างของเพื่อไทยไม่ได้เสนอแก้ไขคือเรื่องของ “อำนาจสภากลาโหม”

ในกฎหมายปัจจุบัน มาตรา 43 ระบุว่าในการดำเนินการหลายๆ เรื่องด้านการทหาร (เช่น นโยบายการทหาร งบประมาณการทหาร ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการทหาร) รมว.กลาโหม (ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลพลเรือน) ไม่สามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้ แต่ต้องทำตามมติของสภากลาโหม (ซึ่งประกอบไปด้วยข้าราชการทหารเป็นหลัก)

ร่างของเพื่อไทยไม่มีเสนอแก้ไขในประเด็นนี้ แต่ร่างของก้าวไกลมีการปรับลดอำนาจสภากลาโหมจากสภาที่มัดมือรัฐมนตรี มาเป็นสภาที่ให้คำปรึกษารัฐมนตรี เพื่อยืนยันหลักการที่กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน และเพื่อปลดล็อกให้รัฐมนตรีมีบทบาทเป็นตัวแทนประชาชนมากกว่าเป็นโฆษกกองทัพ

3.สิ่งที่ต้องจับตามดูตอนนี้คือท่าทีของ ครม. และ สส.รัฐบาลว่าจะเป็นเช่นไร หลังจากที่โฆษกรัฐบาลได้เคยแถลงเมื่อ ต.ค. 2567 ว่า ครม. มีมติไม่รับหลักการร่างของก้าวไกล

มาถึงวันนี้ที่พรรคแกนนำรัฐบาลเสนอร่างของตนเองเข้ามาที่มีเนื้อหาสอดคล้องโดยรวมกับร่างของพรรคก้าวไกล สิ่งที่ผมหวังว่าเราจะเห็นคือการที่ (1) ครม. ทบทวนท่าทีที่เคยประกาศไม่เห็นด้วยกับร่างของก้าวไกล

(2) สส.รัฐบาล ลงมติรับหลักการทั้งร่างของเพื่อไทยและของก้าวไกล โดยนำรายละเอียดที่ยังแตกต่างกัน (เช่น เรื่องอำนาจสภากลาโหม) ไปถกและหาข้อสรุปกันในชั้นคณะกรรมาธิการ

สิ่งที่ผมหวังว่าเราจะไม่เห็นคือการที่ (1) สส.รัฐบาลลงมติเห็นชอบให้ร่างของเพื่อไทย แต่ปัดตกร่างของก้าวไกล ทั้งที่เนื้อหามีความใกล้เคียงกัน หรือ (2) ครม. เสนอร่างของตนเองเข้ามาที่มีเนื้อหาที่ “เบาบาง” และ “จาง” กว่าร่างของเพื่อไทยและก้าวไกลเป็นอย่างมาก และใช้ร่างของ ครม. เป็นร่างหลัก จนทำให้เนื้อหาสำคัญที่ร่างของเพื่อไทยและก้าวไกลเสนอให้แก้ไข กลับไม่ได้รับการตอบสนอง

ผมยืนยันว่าการแก้ พ.ร.บ.ระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เป็นกุญแจดอกสำคัญสู่การปฏิรูปกองทัพให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ซึ่งเป็นภารกิจที่ทุกพรรคควรผลักดันร่วมกัน

แต่คำถามสำคัญที่สังคมควรจับตามองในวันนี้ อาจไม่ใช่คำถามที่ว่า “จะแก้หรือไม่” แต่คือคำถามที่ว่า “จะแก้อย่างไร” และ “จะแก้ขนาดไหน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน