ปี 2568 มีกฎหมายสำคัญที่มีผลบังคับใช้ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและสังคมไทยโดยตรง ขณะเดียวกัน มีกฎหมายอีกหลายฉบับที่อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอน และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2568 เช่นกัน
สมรสเท่าเทียม
พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2567 หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม มีผลตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค.2568 เป็นต้นไป
สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้บุคคล 2 คน ไม่ว่าจะเพศใดสามารถหมั้นและสมรสได้
โดยเปลี่ยนคำที่ใช้เรียกบุคคลที่จะหมั้นหรือการสมรสจาก “ชาย-หญิง” เป็น “บุคคล-บุคคล”
เปลี่ยนคำที่ใช้เรียกบุคคลที่หมั้นกันแล้ว จาก “ชายและหญิงคู่หมั้น” เป็น “ผู้หมั้นและผู้รับหมั้น”
เปลี่ยนคำที่ใช้เรียกบุคคลที่จดทะเบียนสมรสกันแล้ว จาก “สามี-ภรรยา” เป็น “คู่สมรส”
อายุขั้นต่ำที่สามารถหมั้น-การสมรส เพิ่มจากอายุขั้นต่ำ 17 ปี เป็น “18 ปี” (แต่เนื่องจากยังไม่บรรลุนิติภาวะ การสมรสของบุคคลที่อายุ 18 ปีขึ้นไปแต่ยังไม่ถึง 20 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองอยู่)
เปลี่ยนชื่อ ป.พ.พ. บรรพ 5 หมวด 3 จาก “ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา” เป็น “ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส”
คู่สมรสเพศเดียวกันสามารถเป็นผู้อนุบาล ผู้พิทักษ์ของอีกฝ่ายได้ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ (มาตรา 1463)
เปลี่ยนชื่อ ป.พ.พ. บรรพ 5 หมวด 4 จาก “ทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา” เป็น “ทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส”
การจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสทั้งเรื่องสินส่วนตัวและสินสมรสระหว่างคู่สมรสเพศเดียวกันยังคงใช้หลักการเดิมใน ป.พ.พ. กล่าวคือ สินสมรสที่คู่สมรสเป็นเจ้าของร่วมกันและต้องจัดการทรัพย์สินร่วมกัน การขายหรือจัดการสินสมรสต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่าย
รับรองสิทธิในการเรียกค่าทดแทน และเหตุฟ้องหย่าสำหรับคู่สมรสทุกคู่ โดยไม่คำนึงถึงเพศ
ส่วนความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างคู่สมรสมีการเพิ่มเติมส่วนของ “กระทำหรือยอมรับการกระทำของผู้อื่นเพื่อสนองความใคร่ของตนเองหรือผู้อื่น” เพิ่มเติมจากเดิมที่มีเพียงเรื่องการ “ร่วมประเวณี” เพื่อให้ครอบคลุมรูปแบบที่หลากหลายในความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างคู่สมรส
คู่สมรสเพศเดียวกันสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้เช่นเดียวกับคู่สมรสต่างเพศ (มาตรา 1598/26)
คู่สมรสเพศเดียวกันมีสิทธิในการรับมรดกของคู่สมรสอีกฝ่ายในฐานะทายาทโดยธรรม ยกเว้นแต่ผู้ตายจะทำพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น
อนุญาตให้คนไทย สามารถจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติ โดยใช้กฎหมายไทยได้ ซึ่งจะช่วยลดความซับซ้อนในกระบวนการทางกฎหมายสำหรับคู่สมรสข้ามชาติ
คู่สมรสต่างชาติสามารถขอวีซ่า และสิทธิพำนักในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น
นี่เป็นก้าวแรกเท่านั้นในการสร้างความเท่าเทียมทางกฎหมายให้แก่บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ต้องได้รับการแก้ไขให้มีความสอดคล้องกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม
เช่น สิทธิในการใช้นามสกุลของอีกฝ่ายตามพ.ร.บ.ชื่อบุคคล พ.ศ.2505, สิทธิประโยชน์ทางภาษีอื่นๆ, สิทธิที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการต่างๆ
สิทธิในการสร้างครอบครัวอื่นๆ เช่น กฎหมายว่าด้วยการตั้งครรภ์แทนหรืออุ้มบุญ เป็นต้น
สหประชาชาติชื่นชมไทยเป็นชาติแรกในอาเซียน ใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม
เพิ่มหลักประกันลูกจ้าง
กฎหมาย 3 ฉบับของกระทรวงแรงงาน มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค.2568
เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและเป็นหลักประกันในการทำงานให้กับลูกจ้างกรณีต้องออกจากงานหรือเสียชีวิต จึงต้องมีการเก็บเงินสะสมและเงินสมทบเพื่อเป็นทุนสงเคราะห์ลูกจ้างต่อไป ได้แก่
1.ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดระยะเวลาเริ่มดำเนินการจัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบเพื่อเป็นทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง พ.ศ. ….
เป็นการกำหนดให้เริ่มจัดเก็บเงินสะสมและเงินสมทบเพื่อเป็นทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2568 เป็นต้นไป
2.ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราการจ่ายเงินสะสม และเงินสมทบที่จะต้องส่งให้แก่กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง พ.ศ. ….
เป็นการกำหนดอัตราเงินสะสมจากลูกจ้างและเงินสมทบจากนายจ้างที่แต่ละฝ่ายจะต้องนำส่งเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง แบ่งเป็น 2 ช่วง ดังนี้
ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2568-30 ก.ย.2573 (ระยะเริ่มต้น 5 ปีแรก) ลูกจ้างและนายจ้าง (แต่ละฝ่าย) ต้องนำส่งเข้ากองทุนในอัตรา 0.25% ของค่าจ้าง
ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2573 เป็นต้นไป ลูกจ้างและนายจ้าง (แต่ละฝ่าย) ต้องนำส่งเข้ากองทุนในอัตรา 0.5% ของค่าจ้าง
ทั้งนี้ การกำหนดอัตราการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบอาจปรับเปลี่ยนได้ตามสภาพเศรษฐกิจ
3.ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับนายจ้างจัดให้มีการสงเคราะห์แก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงานหรือตาย พ.ศ. ….
เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับนายจ้างที่ต้องจัดให้มีการสงเคราะห์แก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงานหรือตาย เพื่อให้ได้รับการยกเว้นให้ลูกจ้าง ไม่จำต้องเป็นสมาชิกกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง กล่าวคือ หากนายจ้างมิให้จัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและมิได้จัดให้มีกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง นายจ้างต้องจัดให้มีการสงเคราะห์ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์ในร่างกฎกระทรวงนี้
เช่น ต้องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินสงเคราะห์แก่ลูกจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร โดยอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราเงินสะสมและเงินสมทบ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บเงิน และระยะเวลาในการจ่ายเงิน
กำหนดให้นายจ้างหักค่าจ้างลูกจ้าง เพื่อเป็นเงินสะสมและให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบตามอัตราที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน โดยต้องไม่ต่ำกว่าอัตราที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกำหนด (ไม่ต่ำกว่า 2% ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง)
รวมถึงกำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่นำเงินสะสมและเงินสมทบกับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น ซึ่งเมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออก หรือลูกจ้างเกษียณอายุ หรือตกลงเลิกสัญญา ให้นายจ้างมีหน้าที่คืนเงินสะสมและเงินสมทบพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้าง
ร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วม
นอกจากนี้ยังมีร่างกฎหมายสำคัญที่อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอน และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2568
ร่างพ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. … ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการเมื่อ 3 ธ.ค.2567
มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยีของระบบตั๋วร่วม เพื่อเป็นมาตรฐานกลาง สำหรับการให้บริการระบบตั๋วร่วมในอนาคต ในการชำระค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการในการขนส่งสาธารณะทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งรูปแบบทางถนน รูปแบบทางราง หรือรูปแบบทางน้ำ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และรมว.คมนาคม กล่าวว่า หลังจากครม.เห็นชอบ จะเสนอต่อไปยังสภาผู้แทนราษฎร และหากผ่านความเห็นชอบจากสภา คาดว่าร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วม จะเสร็จประมาณเดือน มิ.ย.2568 ซึ่งจะสามารถนำเงินกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วมไปชดเชยให้ผู้ประกอบการรถไฟฟ้า เพื่อให้ลดราคา 20 บาทตลอดสายได้
หากกระบวนการทุกอย่างเสร็จสิ้น คาดว่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะใช้ได้ช่วงเดือน ก.ย.2568
หวยเกษียณ
ครม.เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2567 มีมติเห็นชอบหลักการร่างพ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ (ฉบับที่…) ซึ่งเป็นการแก้ไขเพื่อให้กองทุนการออมแห่งชาติดำเนินการในโครงการ “สลากออมทรัพย์เพื่อเงินออมยามเกษียณ (หวยเกษียณ)”
เพื่อให้ประชาชนจะสามารถเก็บออมเงินผ่านหวยเกษียณได้
หวยเกษียณ เป็นกลไกที่ออกมาเพื่อสนับสนุนการออมของประเทศ โดยใช้วิถีชีวิตคนไทยที่ชอบลุ้นโชค ผนวกกับภาวะการขาดการออมของคนไทย จึงออกเป็นกลไกการออมที่ใช้แรงจูงใจผ่านการซื้อหวยเกษียณ ดังนี้
1.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ออกสลากขูดแบบดิจิทัล ใบละ 50 บาท เพื่อขายให้กับสมาชิก กอช. ผู้ประกันตน มาตรา 40 และแรงงานนอกระบบ (กลุ่มเป้าหมายจะเพิ่มเติมภายหลัง) ซื้อได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน
2.ซื้อสลากได้ทุกวัน แต่ออกรางวัลทุกวันศุกร์เวลา 17.00 น. ผู้ถูกรางวัลจะได้เงินรางวัลทันทีผ่านพร้อมเพย์ (PromptPay) โดยที่เงินค่าซื้อสลากถูกเก็บเป็นเงินออม แม้ว่าจะถูกรางวัลหรือไม่ก็ตาม
3.รางวัลของ “ทุกวันศุกร์” กำหนดดังนี้
รางวัลที่ 1 จำนวน 1,000,000 บาท จำนวน 5 รางวัล
รางวัลที่ 2 จำนวน 1,000 บาท จำนวน 10,000 รางวัล
4.“เงินค่าซื้อสลากทั้งหมดจะเป็นเงินออมของผู้ซื้อสลาก” (เงินออมทรัพย์) ซึ่งจะนำเงินส่งเข้าบัญชีเงินออมรายบุคคลกับ กอช.
โดย กอช.จะเป็นผู้บริหารจัดการเงินจำนวนดังกล่าว และเมื่อผู้ซื้อสลากอายุครบ 60 ปี จะสามารถถอนเงินทั้งหมดทุกบาททุกสตางค์ที่ซื้อสลากมาทั้งชีวิตออกมาได้
5.ครม.ยังห็นชอบการให้ผู้ที่อายุเกิน 60 ปี ซื้อหวยเกษียณได้อีกด้วย โดยต้องออมไว้ 10 ปี หลังจากวันที่ซื้อวันแรก เช่น ถ้าซื้อตอนอายุ 66 ปี จะสามารถถอนเงินทุกบาทที่ซื้อไปได้ตอนอายุ 76 ปี
คาดว่าจะขายงวดแรกได้ในไตรมาสแรกปี 2568