รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร บริหารประเทศมาเกือบครบ 4 เดือน ท่ามกลางสารพัดปัญหารุมเร้า
ล่วงเข้าศักราชใหม่ ยังมีเรื่องไหนต้องสะสาง หรือมีประเด็นใหม่ที่ท้าทาย
มีข้อวิเคราะห์จาก รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัย ธรรมาธิราชถึงสถานการณ์และภารกิจด่วนของรัฐบาลในปี 2568
มองการเมืองปี 2568 อย่างไร
สถานการณ์การเมืองปี 2568 จะเป็นการเมืองที่มีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก เพราะในปี 2567 เรามีนายกรัฐมนตรี 2 คน สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงรัฐบาล และเชิงนโยบายต่างๆ ด้วย
สิ่งเหล่านี้จะส่งผลไปสู่การเมืองปี 2568 ที่จะมีความผันผวนมาก อยู่พอสมควร
ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจที่วันนี้เป็นความท้าทายสำคัญของรัฐบาล เศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดีก็ส่งผลต่อเสถียรภาพ ของรัฐบาลด้วย
ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำ คือขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจเรื่องต่างๆ ในรัฐบาลแพทองธาร 1 ซึ่งในสายตาประชาชนมองว่านี่คือ รัฐบาลเศรษฐา ภาค 2
และจากการแถลงผลงาน 90 วัน หลายอย่างเป็นสิ่งที่รับปากพี่น้องประชาชนไว้ว่าจะทำต่อในปี 2568 หลายอย่างอาจทำมาแล้ว เช่น นโยบายเงินหมื่น
ดังนั้น เศรษฐกิจในปี 2568 ต้องจับตาจะเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับรัฐบาลหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องปากท้อง ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชนอย่างมาก
เสถียรภาพรัฐบาลน่าห่วงหรือไม่
ประเด็นอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการร้องเรียนรัฐบาล เสถียรภาพในพรรคร่วมรัฐบาลคิดว่าเป็นประเด็นรอง เพราะสุดท้ายรัฐบาลจะไปได้หรือไม่ได้น่าจะมาจากแรงสนับสนุนของสังคม และพี่น้องประชาชนมากกว่า
เชื่อว่าเรื่องของนักร้องต่างๆ จะไม่ส่งผลอะไร ต่อรัฐบาลมากนัก ล่าสุดกรณีศาลรัฐธรรมนูญไม่รับ คำร้อง 2 ครั้ง ครั้งแรกคือประเด็นที่จะนำไปสู่การ ยุบพรรคเพื่อไทย ส่วนครั้งที่สองคือศาลไม่รับคำร้อง กรณีชั้น 14 ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายก รัฐมนตรี
แม้ป.ป.ช.จะรับคำร้องของคณะกรรมการสิทธิ มนุษยชนแห่งชาติเอาไว้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่รับ คำร้อง ประเด็นตรงนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลมากเท่ากับประเด็นเศรษฐกิจ
ขณะที่ความสัมพันธ์ภายในพรรคร่วมรัฐบาลจะเห็นได้ว่าอาจมีความเห็นที่แตกต่างกัน มีการวิพากษ์วิจารณ์กันไปมาหลายๆ เรื่อง แต่ถ้าเป้าหมายของพรรคการเมืองยังไปด้วยกันได้ โอกาสจะเกิดความแตกแยกภายในรัฐบาลคงไม่เห็นภาพในทางนั้น
แต่อาจมีลักษณะของการใช้เกมการเมืองต่อรอง เรื่องต่างๆ เช่น การพิจารณาผ่านกฎหมาย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
อาจเป็นประเด็นทำให้เกิดวิวาทะกันไปมาบ้าง แต่ถ้าทุกพรรคมีเป้าหมายตรงกันเรื่องการเตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้งในปี 2570 หรืออาจเกิดขึ้นเร็วกว่านั้นก็เชื่อว่ารัฐบาลจะยังไปด้วยกันต่อได้ เพราะยังมีผลประโยชน์ที่ร่วมกันอยู่
ส่วนตัวจึงเชื่อว่าประเด็นเหล่านี้จะไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวลมากนักในปี 2568 เท่ากับประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ
เทียบปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม
หากประเมินโดยแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม ในปี 2568 เชื่อว่าด้านการเมืองจะเป็นเรื่องของการขับเคลื่อนนโยบายที่มีความประนีประนอมของทุกฝ่าย
แต่จากภาวะรัฐบาลผสมจะมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ภายในแต่ละพรรค หรือที่เรียกว่าก๊วนการเมือง นำไปสู่การต่อรองของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่การดำเนินนโยบายต่างๆ จะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือตัดสินใจได้ด้วยเพียงพรรค แกนนำเท่านั้น แต่ต้องอาศัยการพูดคุยในพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด
ดังนั้น นโยบายหลายเรื่องเราอาจยังไม่ได้เห็น ภาพที่ชัดเจนในปี 2568 ไม่ว่าจะเป็นการแก้รัฐธรรมนูญ การนิรโทษกรรม หรือแม้แต่ประเด็นทางการเมือง อื่นๆ
ส่วนด้านเศรษฐกิจในปี 2568 ต้องดูว่าโครงสร้างเศรษฐกิจต่างๆ จะได้รับการผลักดันในการปรับเปลี่ยนรูปโฉมหรือไม่ วันนี้เศรษฐกิจประเทศไทยมีภาวะผันผวนจากภาวะเศรษฐกิจโลก และมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ หลายส่วน
ดังนั้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยอุตสาหกรรมแบบเดิมหรือวิธีคิดแบบเดิมอาจไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้
เช่นเดียวกับการขับเคลื่อนเกษตรกรรมด้วยแนวคิดแบบเดิม ก็ไม่อาจทำให้เดินหน้าได้เหมือนกัน ต้องมุ่งไปสู่นวัตกรรมและสมาร์ตคันทรี เพื่อเป็นสะพานเชื่อมโลกใบเก่าที่ประเทศไทยเราอยู่ไปสู่โลกใบใหม่
ในด้านสังคมอาจไม่เห็นนโยบายทางด้านนี้มากนัก ปัญหายาเสพติด ความเหลื่อมล้ำจึงยังเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข
ทั้งหมดเป็นประเด็นด้านโครงสร้างซึ่งแน่นอนไม่ได้ดำเนินการได้ง่ายๆ ซึ่งขณะนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นหลักแล้วในสังคม
รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านก็อาจต้องมีการดำเนินนโยบายด้วยความละเอียดรอบคอบมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา
ทั้งหมดนี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ๆ ที่รัฐบาลจะต้องเผชิญในปี 2568
นายทักษิณ ชินวัตร ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงของรัฐบาลหรือไม่
นายทักษิณเป็นทั้งปัจจัยเชิงบวกและเป็นปัจจัย เสี่ยงในเวลาเดียวกัน ในส่วนของปัจจัยเสี่ยงแน่นอนนายทักษิณเป็นเป้าที่ถูกโจมตีทางการเมืองมาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว แม้กระทั่งช่วงที่อยู่ในต่างประเทศ ยิ่งเมื่อกลับมาก็ยิ่งถูกจับตา
ตั้งแต่วันที่กลับมาสามารถจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทย ได้สำเร็จ รวมถึงการเลือกนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี สะท้อนถึงบทบาทและอิทธิพลทางการเมืองของนายทักษิณที่มีสูงมาก จึงเป็นปกติที่จะตกเป็นเป้าทางการเมือง
แต่กรณีนายทักษิณอยู่ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจก็เกิดการตั้งคำถามมาตลอด เมื่อออกจากโรงพยาบาลก็ยังเกิดคำถามเรื่องบทบาททางการเมืองอีก จึงบอกว่านายทักษิณเป็นความเสี่ยงตลอดเวลาอยู่แล้ว ทั้งในส่วนของพรรคเพื่อไทย และตัวนายกฯ
และที่บอกนายทักษิณก็ยังเป็นปัจจัยเชิงบวก เพราะวันนี้หากไม่มีนายทักษิณการขับเคลื่อนพรรค เพื่อไทยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และการจัดตั้งรัฐบาลก็ไม่ง่ายเหมือนกัน
รวมถึงผลทางการเมืองต่อการแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งเป็นเกมที่พรรคเพื่อไทยเดินคู่ขนานตลอดอยู่แล้ว ตั้งแต่มีครอบครัวเพื่อไทยกับพรรคเพื่อไทย
เป็นการขับเคลื่อนทั้งลักษณะที่เป็นทางการและ ไม่เป็นทางการ ให้นายทักษิณแสดงความเห็นในลักษณะการแสดงออกส่วนบุคคล ทำให้การเคลียร์ เรื่องต่างๆ ง่ายขึ้น รวมถึงประเด็นทางกฎหมายอาจ เกิดขึ้นได้ง่ายเช่นกัน
ล่าสุดที่นายทักษิณขึ้นพูดในงานสัมมนาพรรคเพื่อไทยเรื่องความร่วมมือของพรรคร่วมรัฐบาล หรือการลง พื้นที่ช่วยหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งเป็นการเมืองแบบเวทีคู่ขนาน
การลงไปช่วยหาเสียงในสนามเลือกตั้งนายกอบจ. ไม่ใช่เป้าหมายหลัก แต่เป็นการลงไปเรียกคะแนนนิยมของนายทักษิณเองและพรรคเพื่อไทย
รวมถึงไปกระชับอำนาจของพรรคเพื่อไทยในพื้นที่ รวมไปถึงบารมีทางการเมืองในการเมืองระดับชาติที่สามารถพูดคุยได้กับทุกฝ่าย ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลและการเดินหน้าของรัฐบาลสามารถเดินต่อไปได้
ปี 2568 จะมีม็อบลงถนนหรือไม่
ปี 2568 มีโอกาสจะได้เห็นม็อบแต่คงไม่ง่ายที่จะเป็นม็อบขนาดใหญ่ เพราะจะเกิดม็อบขนาดใหญ่ได้ประเด็นสำคัญต้องเกิดวิกฤต
ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตทางการเมืองหรือวิกฤตทางเศรษฐกิจ และนำไปสู่ปัญหาเรื่องเสถียรภาพ ความเชื่อมั่นของรัฐบาล
ขณะเดียวกันม็อบจะปักหลักพัก ค้างได้ต้องมีทุน ถ้าไม่มีทุนสนับสนุนก็คงจะเดินต่อยาก ย้อนดูช่วง 20 ปี ที่ผ่านมาการมีม็อบใหญ่ใหญ่ท้ายที่สุดจะจบลงด้วยการรัฐประหาร แต่ถ้าทหารไม่ออกมารับลูก ไม่มีการปูพรมแดงให้การยึดอำนาจเกิดขึ้น โอกาสจะมีม็อบแล้วทำให้รัฐบาลหมดอายุนั้นน้อยมาก
หากไม่มีประเด็นเหล่านี้ที่เป็นปัจจัยเชื่อมต่อกันความสำเร็จของม็อบก็ เกิดขึ้นได้ยาก ผนวกกับวันนี้ม็อบปรับเปลี่ยนรูปแบบไปไม่น้อย คนในสังคมจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่าการมีม็อบ ไม่ใช่ทางออก หรือม็อบไม่จำเป็นต้องลงถนน
ทุกวันนี้มีการพัฒนาการเมืองบนอินเตอร์เน็ต เปรียบเทียบกับการ ชุมนุมของกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ปี 2563-2564 มาแล้วก็ไป ไม่ได้เป็นม็อบปักหลัก
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของเขาอาจมากกว่าการชุมนุมในช่วงของ กลุ่มพันธมิตรฯ, นปช., กปปส.ด้วยซ้ำไป ม็อบจึงไม่จำเป็นต้องลงถนน
และม็อบที่ไม่ได้ปักหลักพักค้างอาจเกิดขึ้นในปี 2568 ได้กับประเด็นเรื่องชาตินิยม เช่น เรื่องเอ็มโอยู 44 อาจกลับมาเรียกแขก แต่จะจำกัดวงเฉพาะคนกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้ขยายตัวเป็นม็อบใหญ่
ดังนั้น ปี 2568 เรื่องม็อบจึงไม่ใช่ประเด็นที่เป็นอันตรายต่อรัฐบาล หรือทำให้รัฐบาลสั่นคลอน หรืออยู่ไม่ได้
ประเด็นที่อันตรายสำหรับรัฐบาลคือเรื่องเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี พี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอาจไปผนวกกับม็อบต่างๆ ได้
แม้อาจไม่เห็นด้วยกับอุดมการณ์ของแกนนำ หรือประเด็นที่มีการหยิบยกขึ้นเคลื่อนไหว แต่มีเป้าหมายร่วมกันเพื่อล้มรัฐบาล เรื่องเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับปี 2568
อีกเรื่องที่สำคัญเช่นกันคือปัญหาภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกทำให้รัฐบาล ต้องรับมือโดยเสริมกลไกป้องกันปัญหา หาทางลดความเสียหายจากภัยพิบัติ
หรือการส่งเสริมให้ท้องถิ่นช่วยกันดูแล แก้ปัญหา เบื้องต้นโดยการสนับสนุนจากรัฐบาล เพราะปัญหาภัยพิบัติจะเกิดซ้ำๆ เพิ่มมากขึ้นและทวีความรุนแรงขึ้น
สิ่งที่อยากฝากผู้นำประเทศ
ปี 2568 สิ่งที่อยากฝากถึงนายกฯ คือต้องบินเดี่ยวให้มากขึ้น หมายถึงต้องเสริมภาวะความเป็นผู้นำ การกล้าตัดสินใจ การแสดงความคิดเห็น การยืนด้วยขาของตัวเองเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นกับประชาชน
การแถลงผลงาน 90 วันของนายกฯ ก็บอกว่าท่านได้เรียนรู้หลายอย่างเรื่องระบบราชการและฝ่ายการเมือง ซึ่งเป็นโอกาสดี ในปี 2568 ก็ต้องบินเดี่ยวได้แล้ว
แม้จะมีคณะที่ปรึกษา คณะทำงานดีอย่างไร แน่นอนว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งสำคัญที่ขอย้ำนายกฯ ต้อง บินเดี่ยวด้วย เปรียบกับการเรียนขับเครื่องบิน มีครู การบินดีเป็นแต้มต่ออยู่แล้ว แต่ท้ายที่สุดจะได้เป็นนักบินก็ต้องมีไฟลต์ที่บินเดี่ยวได้
การสร้างความเชื่อมั่นก็เช่นกัน หากนักบิน บินเดี่ยวได้ มีใบอนุญาตผู้โดยสารก็จะเกิดความเชื่อมั่นส่วนตัวคิดว่านายกฯ ทำได้ดีขึ้นและเชื่อว่าปี 2568 จะทำได้