สภาถกร่างพ.ร.บ.ตอบแทนผู้เสียหายฯ ครอบคลุมจำเลย หรือ แพะ ที่ศาลตัดสินยกฟ้อง ขยายเวลาขอค่าเยียวยา 2 ปี ลดขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อน ก่อแก้วยกเครสตัวเอง ทำเสียโอกาส สุดท้ายไม่ได้โหวต ภราดรสั่งปิดประชุมก่อน
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 29 ม.ค.2568 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตอบแทนผู้เสียหายและค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ….เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.)
โดยนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม รายงานหลักการและเหตุผล ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย ค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาพ.ศ. 2544 แก้ไขเพิ่มเติม เมื่อพ.ศ. 2559 สำหรับการให้ความช่วยเหลือตามกฏหมาย โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ
1.ผู้เสียหายในคดีอาญาหรือเหยื่ออาชญากรรม บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตร่างกายหรือจิตใจ เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่นโดยตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดดังกล่าว และ 2.จำเลยในคดีอาญาหรือที่เรียกว่า “แพะ” ทุกคนที่ถูกพนักงานอัยการฟ้องต่อศาลว่าได้กระทำความผิดอาญาและถูกจำคุกในระหว่างพิจารณาคดี ต่อมาได้มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด
นางมนพร กล่าวต่อว่า ด้วยหลักการของร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีการเพิ่มบทนิยามคำว่า “ผู้ต้องหา” และแก้ไขคำว่า “ค่าตอบแทน” และ”พนักงานอัยการ” และกำหนดสิทธิ์การได้รับค่าทดแทน ค่าใช้จ่ายของผู้ต้องหาในคดีอาญา หลักเกณฑ์การจ่ายค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่ผู้ต้องหาในคดีอาญา กำหนดให้จ่ายค่าตอบแทน ค่าทดแทน ค่าใช้จ่ายที่ได้รับจากกฎหมายที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี พร้อมเพิ่มหมวดการจ่ายค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่ผู้ต้องหาในคดีอาญา
สำหรับเหตุผลเนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา5 บัญญัติว่าบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิ์ หรือเสรีภาพ จากการกระทำความผิดอาญาของบุคคลอื่น ย่อมมีสิทธิ์ที่จะได้รับการเยียวยา หรือช่วยเหลือจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ อีกทั้งพ.ร.บ.เดิมมีการบังคับใช้มาเป็นเวลานาน แต่ไม่ครอบคลุมการช่วยเหลือผู้ต้องหาที่ไม่ได้กระทำความผิด รวมถึงจำเลย หรือ แพะ ที่ศาลตัดสินยกประโยชน์แห่งความสงสัย มีการช่วยเหลือเยียวยาค่อนข้างน้อย
จึงควรขยายการเยียวยาให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในทุกเหตุผลที่ศาลตัดสินยกฟ้อง และที่ผ่านมาประชาชนมีการทำคำขอการเยียวยาเกินระยะเวลา1 ปี และขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อน
ดังนั้น จำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงจำนวน 16 มาตรา โดยสาระสำคัญคือการขยายการช่วยเหลือจำเลยในชั้นสอบสวน ซึ่งกฎหมายฉบับเดิมช่วยเหลือแค่ชั้นพิจารณาคดี และขยายการช่วยเหลือจำเลยที่ศาลตัดสินยกฟ้องให้ได้รับการช่วยเหลือมากขึ้น อีกทั้งขยายระยะเวลาการยื่นคำขอจาก1 ปี เป็น 2 ปี เพิ่มการช่วยเหลือผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนที่อัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง และไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด รวมถึงการให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และลดขั้นตอนการช่วยเหลือเยียวยาให้สั้นลง
จากนั้นสมาชิกได้แสดงความเห็น โดยส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุน อาทิ นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายเห็นด้วยที่เพิ่มกรณีผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกยัดข้อหาหรือแพะ ที่ตำรวจ หรืออัยการ ยกคดี ให้มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยตอบแทนเพิ่มเข้ามา และเห็นด้วยที่ให้ขยายเวลาการยื่นขอรับค่าตอบแทนจาก 1 เป็น 2 ปี เพราะบางครั้งผู้เสียหายทำไม่ทันหรือไม่รู้เงื่อนไขเวลาของราชการ
นายก่อแก้ว กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ค่าชดเชยเยียวยาที่กำหนดไว้ เช่น ค่าทดแทนการคุมขัง ค่ารักษาพยาบาลฟื้นฟูสมรรถภาพ ค่าใช้จ่ายดำเนินคดี ตนมองว่าเป็นการเขียนครอบคลุมกรณีทั่วไปทั้งหมด ต้องยอมรับว่าคนเป็นแพะทุกวันนี้มีหลายอาชีพ และสถานะ ความเสียหายแต่ละคนจึงไม่เท่ากัน หากใช้อัตราเดียวกัน อาจทำให้หลายคนไม่ได้รับความเป็นธรรม
“กรณีของผมถูกขัง 8 เดือนครึ่ง เมื่อศาลให้ประกันตัว พอไปขอเงินชดเชยจากการสูญเสียรายได้ และโอกาส ทางกรมคุ้มครองสิทธิ์ให้มาแค่ 8.5 หมื่นบาท หรือเดือนละ 1 หมื่นบาท ตอนผมทำธุรกิจเงินเดือนปีละกว่า 2 ล้านบาท ในยุคนั้นเฉลี่ยแล้วเดือนละเกือบ 2 แสนบาท แต่ผมได้เงินชดเชยแค่เดือนละ 1 หมื่นบาท ไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ อย่างนี้ไม่แฟร์ จึงขอให้กรมคุ้มครองสิทธิ์ช่วยทำตัวเลขที่เหมาะสมต่อข้อเท็จจริง และกลุ่มบุคคลอาชีพต่างๆ ที่เป็นแพะให้ได้รับการชดเชยที่ยุติธรรมและเป็นธรรมด้วย” นายก่อแก้วกล่าว
ขณะที่นายธีระชัย พันธุมาศ สส. กทม. พรรคประชาชน อภิปรายว่า เห็นด้วยว่าหลักการร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ดีกว่าเดิมแต่ไม่ดีที่สุด เช่นกรณีให้คณะกรรมการกลั่นกรองใช้ดุลยพินิจต่อจากศาลอีกครั้ง ทั้งที่ศาลได้พิจารณาโดยละเอียดแล้ว ที่สำคัญการเยียวยาผู้ต้องหาที่เกิดจากการผิดพลาดบกพร่องของรัฐ รัฐควรต้องรับผิดชอบ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของเขาโดยความผิดพลาด การให้คณะกรรมการการมีอำนาจใช้ดุลยพินิจเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากใช้อย่างไม่เที่ยงธรรม หรือหวังประหยัดงบประมาณ ก็จะสร้างความลำบาก
ต่อมาเวลา 17.25 น.หลังสมาชิกอภิปราย และพ.ต.อ.ทวี สอดส่ง รมว.ยุติธรรม ชี้แจงเสร็จสิ้น นายภารดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาฯคนที่สอง ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ได้ให้สมาชิกลงมติว่าจะรับหลักการร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้หรือไม่ แต่กลับกล่าวว่า ทราบว่าทั้งสองฝ่ายตกลงกันแล้วว่าให้ไปลงมติครั้งหน้า และขอปิดประชุม