“โรคตาแดง” นับเป็นอีกหนึ่งโรคยอดฮิตที่พบได้บ่อยในช่วงหน้าฝน เป็นภัยสุขภาพใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม ตั้งแต่เล็กจนโตหลายคนคงเคยได้ยิน ได้เห็น หรือเคยเจ็บป่วยจากโรคนี้มาบ้างแล้ว และในแต่ละปีมักจะพบผู้ป่วยด้วยโรคนี้เป็นจำนวนมาก ถึงแม้จะเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง แต่หากละเลยไม่ป้องกันหรือดูแลรักษาสุขภาพให้ดี เมื่อมีอาการของโรคตาแดงแล้ว อาจติดเชื้อแทรกซ้อนที่รุนแรงทำให้ตาพิการได้

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า “โรคตาแดง”หรือโรคเยื่อบุตาอักเสบเป็นโรคระบาดทางตาที่มักมีการระบาดเป็นช่วงๆ และมักพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน โรคนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น จากการติดเชื้อแบคทีเรีย ภูมิแพ้ เกสรดอกไม้ ฝุ่น ควัน หรือถูกสารเคมี แต่ที่พบได้บ่อยและติดต่อกันได้ง่ายและรวดเร็วคือโรคเยื่อบุตาอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มอาดิโนไวรัส โดยเชื้อจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนน้ำตา ขี้ตาของผู้ป่วย โรคนี้สามารถติดต่อได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่จะพบได้บ่อยในเด็กเล็กและนักเรียนชั้นประถมศึกษา การติดต่อของโรคแบ่งได้ 3 ลักษณะได้แก่ 1.จากมือที่ไปสัมผัสน้ำตา ขี้ตาของผู้ป่วยที่อาจติดอยู่ตามสิ่งของ พื้นผิวต่างๆขณะที่ยังไม่แห้ง เช่น ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ราวรถเมล์ ฯลฯ รวมทั้งใช้ของส่วนตัวของผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แล้วมือนั้นมาสัมผัสเข้าที่ตา 2. จากแมลงหวี่ แมลงวัน ที่ตอมสิ่งสกปรกหรือตอมตาของผู้เป็นตาแดงแล้วไปตอมตาคนอื่นต่อ และ 3. จากเด็กที่ลงเล่นในน้ำท่วมขังซึ่งน้ำจะมีการปนเปื้อนเชื้อโรคตาแดงได้สูง

อาการแสดงของโรคตาแดงโดยทั่วไป ประมาณ 1-2 วันหลังได้รับเชื้อเข้าสู่ตาแล้ว ผู้ที่ได้รับเชื้อจะมีอาการตาแดงอย่างเฉียบพลัน เคืองตามาก เคืองแสง เจ็บตา น้ำตาไหล ตาบวม มักไม่มีขี้ตาหรือมีขี้ตาเป็นเมือกใสๆ เล็กน้อย ถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมาจึงจะมีขี้ตามาก บางคนมีต่อมน้ำเหลืองหน้าใบหูโตและเจ็บ ผู้ที่เป็นตาแดงมักเป็นกับตาข้างหนึ่งก่อน ต่อมาอีก 2-3 วัน อาจลุกลามเป็นกับตาอีกข้างหนึ่งได้ จะเป็นมากในช่วง 4-7 วันแรก และจะหายได้เองภายใน 7-14 วัน โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ จะใช้การรักษาตามอาการหรือหยอดตาเพื่อลดอาการระคายเคือง เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายรุนแรงแต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มป่วย อาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนทำให้ตาพิการได้

ในผู้ป่วยที่มีอาการของโรคตาแดงเกิดขึ้นแล้ว จะมีโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้อื่นนานถึง 2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ควรหยุดเรียนหรือหยุดงาน รักษาตัวอยู่ที่บ้านอย่างน้อย 3 วัน งดลงสระว่ายน้ำจนกว่าจะหาย กระดาษหรือสำลีที่ใช้เช็ดขี้ตา เช็ดหน้าแล้ว ควรทิ้งในถังขยะที่มิดชิด ควรใส่แว่นตากันแดดเพื่อลดการระคายเคืองจากแสง ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ควรหยุดใช้จนกว่าตาจะหายอักเสบ ลดการใช้สายตาในช่วงที่มีอาการตาแดงอย่างรุนแรง ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องปิดตาไว้ตลอด ยกเว้นมีกระจกตาอักเสบ เคืองตามากจึงปิดตาเป็นครั้งคราว ถ้าไม่ดีขึ้นใน 1 สัปดาห์และมีอาการแทรกซ้อนจนทำให้กระจกตาเป็นแผล ตามัว และบางรายที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่อง ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจทำให้โรคตาแดงลุกลามมากขึ้นจนทำให้มีการติดเชื้อในกระแสเลือดได้

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การป้องกันโรคตาแดงหัวใจสำคัญคือความสะอาด โดยขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการคลุกคลี และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วยที่มีอาการตาแดง ล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่ ก่อนเอามือสัมผัสหรือขยี้ตา ถ้ามีฝุ่นละอองหรือน้ำสกปรกเข้าตาควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที รักษาความสะอาดของร่างกาย สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และงดการใช้ผ้าเช็ดหน้าร่วมกับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคตาแดง เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก สระว่ายน้ำ ห้างสรรพสินค้า เรือนจำ หรือ สถานีขนส่งมวลชน

“กรมควบคุมโรคได้ดำเนินมาตรการในการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคตาแดง มีการติดตามสถานการณ์ของโรคอย่างใกล้ชิด โดยประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดและภาคีเครือข่าย มีการส่งทีมสอบสวนโรคลงพื้นที่ในกรณีที่สงสัยว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค เพื่อควบคุมโรคแต่เนิ่นๆพร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์และการป้องกันโรคตาแดง หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวปิดท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน