การทำงานในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องอยู่ในออฟฟิศอีกต่อไป เพราะเทคโนโลยีทำให้ทุกคนทำงานที่ไหน ก็ได้ แต่จะดีกว่าหรือไม่ถ้าเราได้ทำงานในสถานที่ช่วยกระตุ้นหรือพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และสร้างความรู้ที่ได้จากการทำงานร่วมกัน หรือ Silent Knowledge รวมไปถึงการประหยัดค่าเช่าสำนักงานและที่สำคัญได้ประหยัดพลังงานไฟฟ้า ซึ่งนั่นก็คือแนวคิดการใช้พื้นที่ทำงานร่วมกัน Co-Working Space เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยชาติประหยัดพลังงานตามโครงการรวมพลังหาร 2 โดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ที่กำลังได้รับความนิยมและเราจะมาพูดกันถึงในวันนี้

 

ปัจจุบัน Co-Working Space มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นแสดงให้เห็นทิศทางของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำงานแบบไม่มีอะไรมาผูกมัด เช่น เวลาเข้างาน, สถานที่ทำงาน รวมถึงเพื่อนร่วมงานคนเดิมๆ โดยผู้ให้บริการมีทั้งบริษัทของคนไทยและบริษัทจากต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจให้บริการแบบแชร์พื้นที่ในการทำงานพร้อมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ต้องใช้ในการทำงาน เช่น Habba ย่านเอกมัย, Too Fast Too Sleep ย่านหัวลำโพง, NAPLAB สามย่าน และ Launchpad ย่านสาทร เป็นต้น และส่วนของผู้ให้บริการจากต่างชาติที่เข้ามาพัฒนาพื้นที่ Co-Working Space ได้แก่ WeWork, Justco และ SPACE

อย่างไรก็ตามธุรกิจให้บริการแบบแชร์พื้นที่ในการทำงานเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยลดการใช้พลังงานเนื่องจากเมื่อทุกคนมาอยู่ด้วยกันทำงานพร้อมๆ กัน “ชวนกันแชร์ แบ่งกันใช้” ก็สามารถช่วยประหยัดพลังงานได้เพราะไม่ต้องไปเช่าออฟฟิศหรือห้องประชุมในราคาสูงๆ ยิ่ง Co-Working Space ส่วนใหญ่จะอยู่ในเมืองและสะดวกในเรื่องของการเดินทางด้วยแล้วหากลองมาคำนวณต้นทุนต่างๆ ก็จะพบว่าคุ้มค่ามากกว่าเพราะราคาค่าบริการเริ่มต้นของ Co-Working Space ประมาณ 250-350 บาท/วัน ซึ่งมีพร้อมทั้งมี Internet, Printer อาหารและเครื่องดื่มส่วนถ้าต้องการเช่าห้องประชุมราคาเริ่มต้น 500 บาท/ชม. แม้จะแพงกว่าการไปนั่งร้านกาแฟแต่ถ้าเทียบเรื่องคุณภาพกับบรรยากาศก็คุ้มและดีกว่าแน่นอนนอกจากนี้แล้วหากต้องการเช่าเพื่อทำงานเป็นกลุ่ม Co-Working Space ก็มีให้เช่าแบบนี้เช่นกันทั้งแบบรายวันและแบบรายเดือนซึ่งถ้าเทียบกับการที่ต้องไปเช่าทาวน์โฮมหรือห้องเล็กๆ ก็คุ้มกว่าในแง่มุมของการลงทุนและประหยัดค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ได้ดีกว่าเห็นๆ ด้าน “ดร.เชิดชัย ประภานวรัตน์” อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ให้สัมภาษณ์ถึงการหันมาใช้ Co-Working Space นั้นช่วยให้ออฟฟิศสามารถประหยัดค่าไฟได้ถึง 50% เลยทีเดียว โดยลองประเมินจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าต่อเดือนต่อ 1 ออฟฟิศ จากเดิมใช้ประมาณ 3,700 หน่วย เหลือประมาณ 1,850 หน่วย ในกรณีที่ต้องมีสำนักงานส่วนตัวขนาด 10 x 10 ตร.ม. ซึ่งมีอุปกรณ์ไฟฟ้าดังนี้

หลอดไฟฟ้า 17-18 W x 30 ดวง ใช้งาน 8 ชั่วโมง/วัน

ไมโครเวฟ 600 W x 1 เครื่อง ใช้งาน 0.5 ชั่วโมง/วัน

ตู้เย็น 125 W x 1 เครื่อง ใช้งาน 24 ชั่วโมง/วัน (คอมเพลสเซอร์ทำงาน 30% ของระยะเวลาใช้งาน)

เครื่องปรับอากาศ 2,000 W x 2 เครื่อง ใช้งาน 8 ชั่วโมง/วัน (คอมเพลสเซอร์ทำงาน 60% ของระยะเวลาใช้งาน)

เราเตอร์ 20 W x 1 เครื่อง ใช้งาน 8 ชั่วโมง/วัน

เครื่องถ่ายเอกสาร 1,500 W x 1 เครื่อง ใช้งาน 0.5 ชั่วโมง/วัน

โทรสาร 120 W x 1 เครื่อง ใช้งาน 0.5 ชั่วโมง/วัน

คอมพิวเตอร์ 65 W x 5 เครื่อง ใช้งาน 8 ชั่วโมง/วัน

ไอเดียการใช้ Co-Working Space แพร่หลายทั้งในภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐซึ่งมีส่วนช่วยผลักดันการทำงานในรูปแบบนี้ โดยมุ่งหวังยกระดับการทำงานให้กับคนรุ่นใหม่ เช่น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME Bank ก็เอาบางส่วนในสำนักงานย่านอารีย์มาเป็นพื้นที่ทำงานร่วมกัน ส่วนทางด้านภาคเอกชนไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Startup ชื่อดัง “U Drink I Drive” ที่ให้บริการด้านรถยนต์หรือแม้แต่ร้านอาหารชื่อดังอย่าง “Seoul ju pu deong” ที่มีหน้าร้านตั้งอยู่ J avenue ทองหล่อ 15 ก็หันมาเลือกใช้บริการ Co-Working Space เมื่อต้องประชุมงานกับพาร์ทเนอร์เพราะสะดวกและสามารถใช้เวลาในการคุยงานได้นาน

ดังนั้นเมื่อทุกภาคส่วนช่วยกันพัฒนา Co-Working Space ให้กลายเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถมาใช้งานได้จริงก็ไม่แปลกที่กลุ่มธุรกิจเกิดใหม่ทั้ง Startup ที่มีแค่ 1-2 คน หรือ SME ระดับเริ่มต้นที่มีพนักงาน 4-10 คน จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแถมประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ เพื่ออนาคตที่ดีกว่า

อย่างไรก็ตามแนวทางดังกล่าว ผู้ประกอบการควรให้ความสนใจและศึกษาถึงความคุ้มค่าและนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับองค์กรของตนหรือแม้แต่ออฟฟิศที่เปิดมาสักระยะก็ยังสามารถนำหลักคิด Co-working Space ก็จะช่วยลดพื้นที่ทำงาน, ลดการใช้พลังงานบางจุดที่ไม่จำเป็นลงได้เพียงแต่จัดให้เหมาะกับออฟฟิศตามแนวคิด ‘ชวนกันแชร์ แบ่งกันใช้’ เชื่อว่าทุกคนจะได้ประโยชน์ร่วมกันในขณะเดียวกันยังสามารถช่วยประเทศชาติลดการใช้พลังงานลงได้อย่างแน่นอน

เชิญพบสารพัดไอเดียสร้างวัฒนธรรมหาร 2 ประหยัดพลังงานได้ที่ www.รวมพลังหาร2.com, Facebook.com/eppohan2, YouTube: eppohan2, IG:eppohan2

 

#ประหยัดน้ำมัน

#เป็นเรื่องของคนทั้งชาติ

#รวมพลังหาร2

#ยิ่งใช้ร่วมกัน

#ยิ่งแชร์

#ยิ่งประหยัดชัวร์

#วัฒนธรรมประหยัด

#วัฒนธรรมหาร2

#สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน