10 ปี พื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระ จ.น่าน

สืบสานแนวพระราชดำริเพิ่มผืนป่า สร้างอาชีพ

พื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระ – เป็นวาระครอบรอบ 10 ที่สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรม ปิดทองหลังพระฯ เลือกจังหวัดน่านเป็นพื้นที่นำร่องพื้นที่แรกเพื่อสร้างต้นแบบการประยุกต์แนวพระราชดำริเพื่อพัฒนาพื้นที่ ในชื่อ “โครงการพื้นที่ต้นแบบบูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดน่าน” ตั้งแต่ ปี 2552 เป็นต้นมา

เริ่มต้นโครงการคัดเลือก 20 หมู่บ้านใน 3 อำเภอ ซึ่งประกอบด้วย 3 หมู่บ้าน ในลุ่มน้ำยาว ตำบลยอด อำเภอสองแคว 3 หมู่บ้าน ในลุ่มน้ำสบสาย ตำบลตาลชุม ตำบลศรีภูมิ อำเภอท่าวังผา และ 14 หมู่บ้าน ในพื้นที่ต้นน้ำน่าน ตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ พื้นที่ 250,000 ไร่ พื้นที่ทางการเกษตร 72,409 ไร่ ประชากร 8,190 คน 1,945 ครัวเรือน ด้วยหลักการทำงาน “แก้ปัญหาที่จุดเล็กและทำตามลำดับขั้นตอน”

ก่อนปี 2552 จังหวัดน่านมีความสำคัญในฐานะพื้นที่ป่าต้นน้ำที่ต่อเนื่องไปยังแม่น้ำสายหลักของระบบน้ำในประเทศไทย แต่กลับเกิดปัญหาในหลายหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ส่งผลต่อความเป็นอยู่ อาชีพ ฐานะการเงิน และสุขภาพของคนในท้องถิ่นแบบต่อเนื่องยาวนาน

เนื้อที่ประมาณ 7.17 ล้านไร่ สามารถทำการเกษตรได้ประมาณ 1.09 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 15.20 ของพื้นที่ทั้งหมด การบริโภคส่วนใหญ่ในจังหวัดเป็นการใช้จ่ายซื้อสินค้าปัจจัยในการดำเนินชีวิตากภายนอกจังหวัด คิดเป็นเงินประมาณ 1.3 ล้านบาทต่อปี

ปัญหาที่ตามมาส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจของจังหวัด รายจ่ายที่สูงกว่ารายรับของประชากรส่วนใหญ่ทำให้เกิดหนี้สินที่สูงขึ้น เฉลี่ยประมาณ 127,524 บาทต่อครัวเรือน กลายเป็นจังหวัดที่มีภาวะความยากจนสูง มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรต่ำเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศ สัดส่วนคนจน สูงถึงร้อยละ 20 ของประชากรในจังหวัด เป็นลำดับที่ 2 ของภาคเหนือ

เมื่อขาดแคลนรายได้ การประกอบอาชีพจึงมาจากการบุกรุกแผ้วถางเผาทำลายป่าเพื่อการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว เกิดการรุกรานทรัพยากร ป่าที่อุดมสมบูรณ์กลายเป็น “เขาหัวโล้น” กระทบกับความเป็นอยู่ อากาศเสียเพราะหมอกควันจากการเผาเตรียมพื้นที่การเกษตร ฤดูแล้งเกิดความแห้งแล้ง แนวลุ่มน้ำเกิดอุทกภัยรุนแรงซ้ำซากช่วงมรสุม น้ำปนเปื้อนและดินเสื่อมด้วยสารตกค้าง จากการใช้เคมีการเกษตรเข้มข้น สุขภาพเสื่อมโทรมด้วยสารพิษในเลือดสูงกว่าระดับปกติ

การน้อมนำแนวพระราชดำริ เพื่อมุ่งการแก้ไขปัญหาทั้งลุ่มน้ำ เน้นการพัฒนา 6 มิติหลักตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้แก่ น้ำ ดิน เกษตร พลังงานทดแทน ป่า และสิ่งแวดล้อม ตามสภาพภูมิสังคมและปัญหาในแต่ละพื้นที่ และหลักการทรงงาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” สร้างความเข้าใจสภาพปัญหาความต้องการแท้จริงของชุมชน มีการเก็บข้อมูลรายครัวเรือน วิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลเพื่อสร้างกระบวนร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมลงมือทำ และร่วมเป็นเจ้าของ

ประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่” ถ่ายทอดความรู้ในการบริหารจัดการแหล่งน้ำ ปรับปรุงปัจจัยการผลิตพื้นฐาน ทั้งน้ำ ดิน และเมล็ดพันธุ์เพื่อเพาะปลูกให้เพียงพอต่อความต้องการตลอดปี การจำหน่ายผลผลิต การแปรรูป พัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ก่อตั้งเป็นกองทุนที่ชุมชนบริหารจัดการเอง โดยองค์ความรู้จากโครงการพระราชดำริต่าง ๆ

จังหวัดน่านมีจุดเด่นในด้านเครือข่ายชุมชน ภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งได้ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาหลายด้าน มีการร่วมมือกับหน่วยงานภาคีต่าง ๆ องค์กร ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา นับเป็นการบูรณาการความร่วมมือกับปิดทองหลังพระฯกว่า 44 หน่วยงาน เป็นพื้นที่ที่มีข้อมูลเป็นระบบเพียงพอที่จะช่วยให้แก้ไขปัญหาเชิงระบบได้

ตลอดระยะเวลาการทำงานร่วมกันชาวบ้านในพื้นที่ต้นแบบ 3 อำเภอ จังหวัดน่านมีความพร้อมในการข้าร่วมกิจกรรมทั้งสำรวจแปลงพื้นที่ทำกิน ไม่รุกล้ำแนวเขตอุทยานฯ ลงแรงพัฒนาระบบน้ำ ปรับพื้นที่ลาดชันเป็นแนวขั้นบันได ปรับปรุงบำรุงดิน ปลูกพืชเศรษฐกิจที่ใช้พื้นที่น้อยลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว

ผลจากการดำเนินงานในระยะ 10 ปี การพัฒนาระบบน้ำเพื่อการเกษตร พื้นที่รับประโยชน์ 14,378 ไร่ เกิดรายได้จากการพัฒนาระบบน้ำและกิจกรรมที่ส่งเสริม 1,726 ครัวเรือนมีครัวเรือนทฤษฏีใหม่ 1,726 ครัวเรือน 1,379 แปลง คิดเป็นร้อยละ 89 ของครัวเรือนทั้งหมด 1,946 ครัวเรือน ปรับพื้นที่นาขั้นบันไดและปรับปรุงบำรุงดิน 4,628 ไร่ ปลูกข้าวแบบลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตใช้สารชีวภัณฑ์ 5,955 ไร่ 111 รายผลผลิตเพิ่มจาก 17 ถัง/ไร่ เป็น 35 ถัง/ไร่

เกิดการรวมกลุ่มพึ่งพาตนเอง 15 กองทุน 4 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับมาตรฐาน GAP สมาชิกรวม 1,185 ราย มีเงินทุนหมุนเวียนและทรัพย์สิน 5,259,563 รายได้เฉลี่ยเกษตรกร 1,227,472 บาท/ปี

ด้านสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ด้านการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯดำเนินงาน “โครงการปลูกป่า สร้างคน บนวิถีพอเพียง รักษาต้นน้ำบรรเทาอุทกภัยในจังหวัดน่านใน 20 หมู่บ้าน 3 อำเภอ ทำให้พื้นที่ไร่หมุนเวียนที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวอาทิ ไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลง 28,904 ไร่คิดเป็นร้อยละ 43 ของไร่หมุนเวียนก่อนดำเนินโครงการฯ

สามารถฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ลดพื้นที่บุกรุก เพิ่มพื้นที่ป่า 106,580 ไร่ จากเดิม 103,389 ไร่ ทำให้มีพื้นที่ป่าทั้งหมด 209,970 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 83.99 พื้นที่เสียหายจากไฟป่าลดลงร้อยละ 99 จากการควบคุมการเผาพื้นที่ไร่ ทำแนวกันไฟ ออกลาดตระเวนเฝ้าระวังและดับไฟป่าช่วงฤดูแล้ง ชุมชนได้รับประโยชน์จากทรัพยากรป่ามีการตั้งคณะกรรมการดูแลป่า และกฏระเบียบชุมชน ใน 3 อำเภอ

การฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำลำธาร ร่วมกับชุมชนสร้างฝายอนุรักษ์เพื่อชะลอและกักเก็บน้ำ 6,258 แห่งและร่วมกับจังหวัดน่านดำเนินงานโครงการซ่อมแซมปรับปรุงเสริมฝาย อ่างเก็บน้ำ การส่งน้ำด้วยระบบท่อฯ ระหว่างปี 2558-2561 รวม 1,056 โครงการพื้นที่รับประโยชน์ 96,588 ไร่ 32,549 ครัวเรือน จังหวัดน่าน ประกาศหมู่บ้านขยายผลปิดทองหลังพระฯ ระหว่างปี 2556-2562 จำนวน 50 หมู่บ้าน 15 อำเภอ มีงบประมาณสนับสนุนหมู่บ้านขยายผล โดยใช้แนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามพระราชดำริ (พชร.)

ผลการพัฒนาตามลำดับขั้นการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ “ทฤษฏีใหม่” แต่ละพื้นที่ อำเภอเฉลิมพระเกียรติก้าวสู่ขั้น “ชุมชนพึ่งพาตนเอง” อำเภอท่าวังผา เข้าสู่ขั้น “ชุมชนเชื่อมโยงสู่ภายนอก” อำเภอสองแควอยู่ในขั้น “ชุมชนเชื่อมโยงออกสู่ภายนอก” ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน
การแก้ไขปัญหาหลักของพื้นที่สามารถทำให้ครัวเรือนพึ่งพาตนเองได้ มีครัวเรือนที่สามารถประยุกต์แนวพระราชดำริ “เกษตรทฤษฏีใหม่” ในการดำเนินชีวิตได้ถึงร้อยละ 89 ของครัวเรือนทั้งหมด ทำให้เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 91,681 บาทในปี 2562 จากเดิมที่มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 58,061 บาทในปี 2558 เพิ่มขึ้น 1.5 เท่า

จากการดำเนินงานที่ผ่านมา เกิดองค์ความรู้เชิงบริหารจัดการที่เกิดจากการพัฒนา เกิดรูปแบบบูรณาการแผนงานและงบประมาณร่วมกับหน่วยงานราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ภายใต้ระบบการสร้างความเข้าใจ มีการศึกษาเรียนรู้ในพื้นที่จริง ชุมชนสามารถนำไปวิเคราะห์ปัญหาในพื้นที่ตนเองก่อนนำมาบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) มีหน่วยงานและชุมชนต่างๆเข้ามาศึกษาเรียนรู้เพื่อนำไปขยายผล และเกิดการขยายผลในพื้นที่ใกล้เคียง

แผนการดำเนินการที่ควรดำเนินงานระยะต่อไป มุ่งยกระดับองค์ความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิต การแปรรูปผลผลิตให้ได้มาตรฐาน และรวมกลุ่มการผลิตในหมู่บ้านที่อยู่ในขั้น “ชุมชนรวมกลุ่มพึ่งพาตนเอง” และส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงกับตลาดภายนอก สำหรับชุมชนที่พัฒนาถึงขั้น “ชุมชนเชื่อมโยงออกสู่ภายนอก”มุ่งเน้นการเชื่อมแผนงานของชุมชนให้เข้าสู่ระบบปกติของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน